วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > 2559 จุดเปลี่ยนค้าปลีกไทย จุดจบไฮเปอร์มาร์เก็ต?

2559 จุดเปลี่ยนค้าปลีกไทย จุดจบไฮเปอร์มาร์เก็ต?

 
ความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจไทยในช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องสู่ศักราชใหม่ปี 2559 นอกจากจะปกคลุมด้วยเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเชื่อว่าอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในระยะถัดจากนี้ไม่น้อยแล้ว
 
ธุรกิจค้าปลีกไทยก็คงเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจติดตามและกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้ความเป็นไปของธุรกิจที่เคยเชื่อกันว่าเป็นจักรกลสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวยิ่งขึ้นนี้ถึงคราเสื่อมมนตร์เลยทีเดียว
 
เพราะหากประเมินจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2556 ซึ่งธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 13.4 รองจากภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 38.1 และมีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 3 รองจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม หรือมีจำนวนแรงงานกว่า 4 ล้านราย จากการจ้างงานของคนไทยอยู่ที่ 38 ล้านคนแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไทยและธุรกิจค้าปลีกของไทยในช่วงเวลานับจากนี้อาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลงหรือพ้นจากยุครุ่งเรืองไปแล้ว
 
แม้ว่าก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์และคาดการณ์จำนวนไม่น้อยจะเชื่อว่าสถานการณ์โดยรอบจะเอื้อให้ธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถเติบโตต่อเนื่องและขยายตัวในอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7-8 ต่อปี หากแต่สถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นอยู่จริงเบื้องหน้ากลับพบว่า ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมในปี 2558 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ 3.2 จากเดิมที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 5 ตลอดช่วงเวลาจากปี 2553-2557 
 
เหตุปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเดินทางมาถึงจุดที่ตีบตันในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่อยู่ในระดับกลางและล่างซึ่งถือเป็นฐานผู้บริโภคหลักของธุรกิจนี้
 
สำนักวิจัยและคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยต่างประเมินทิศทางของธุรกิจค้าปลีกไทยในช่วงปี 2559 ว่าจะเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อยและอาจชะลอตัวต่ำกว่าปีก่อนหน้าด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นประหนึ่งสัญญาณเตือนภัย ที่ดูจะมีความจริงจังและมีน้ำหนักมากกว่าการโหมประโคมข่าวผลงานไร้ราคาที่พยายามอวดอ้างกันเสียอีก
 
ฐานลูกค้าระดับ กลาง-ล่าง ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการอุ้มชูธุรกิจค้าปลีกไทยให้จำเริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกำลังถูกข้อเท็จจริงจากสภาพเศรษฐกิจกัดกร่อนและทำลายให้อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในภาวะที่ด้อยหรือไม่มีกำลังซื้อ จากผลของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ประชากรในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำทำให้รายได้ลดลงอีกด้วย
 
ธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มซูเปอร์สโตร์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต กำลังได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้อย่างไม่อาจเลี่ยง และบางส่วนได้สะท้อนออกมาเป็นข้อเท็จจริงว่าด้วยยอดการจำหน่ายที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยมีอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายเพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี (2556-2558) จากที่เคยขยายตัวในระดับร้อยละ 9.2 ในช่วงปี 2553-2555
 
การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการซูเปอร์สโตร์แต่ละราย ประกอบกับความสามารถในการจับจ่ายที่ลดลงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอาจเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของซูเปอร์สโตร์เหล่านี้ในระดับหนึ่ง หากแต่ข้อเท็จจริงที่มากกว่านั้นก็คือธุรกิจค้าปลีกได้พัฒนารูปแบบหลากหลายยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการแต่ละรายมีทางเลือกในการจัดวางตำแหน่งและสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น 
 
ไม่ว่าจะดำเนินไปในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งล้วนแต่มีความได้เปรียบเรื่องขนาดและความสามารถในการเบียดแทรกเข้าสู่ชุมชนได้ง่ายขึ้น ยังไม่นับรวมมิติของเงินลงทุนและพื้นที่ต่อสาขาที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีก
 
แต่สำหรับซูเปอร์สโตร์และไฮเปอร์มาร์เก็ต ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งอยู่ที่การลงทุนเพื่อพัฒนาสาขาแห่งใหม่ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายอีกแล้ว
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยถึงกับระบุในเอกสารงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ปี 2559 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับไฮเปอร์มาร์เก็ตต้องรับมือคู่แข่งเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะลูกค้าหลักที่มีรายได้ปานกลางถึงล่าง และประเมินว่าธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2 ต่ำกว่าค้าปลีกสมัยใหม่ เซกเมนต์อื่นๆ ขณะที่ภาพรวมค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัวร้อยละ 3-4 ใกล้เคียงปี 2558 หรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น
 
ขณะเดียวกันการมาถึงของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่แทรกตัวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกด้วยการจัดสรรพื้นที่แบบ mix used และการสร้าง community mall กลายเป็นคู่แข่งข้าม segment ที่สั่นคลอนไม่เฉพาะต่อความเป็นไปของซูเปอร์สโตร์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต เท่านั้น หากยังกำลังเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการเร่งให้เกิดการปรับดุลยกำลังและภูมิทัศน์ในสมรภูมิค้าปลีกไทยไม่น้อยเลยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ในปี 2559 จำนวนพื้นที่ค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ตารางเมตร และปี 2560 จะเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ตร.ม. เนื่องจากมีทั้งความต้องการพื้นที่ค้าปลีกของแบรนด์ต่างชาติและโครงการมิกซ์ยูสเริ่มเปิดตัว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัย การเกิดชุมชนใหม่ รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมชุดใหญ่ของรัฐบาล
 
การประเมินที่ว่านี้ดูสอดรับกับบทวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจที่ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกที่เน้นกลุ่มลูกค้าพรีเมียมระดับกลาง-บน จะยังคงสามารถรักษาระดับการเติบโตต่อเนื่องไปได้อีก แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงนี้ ดูเหมือนกลุ่มลูกค้าอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะในเชิงธุรกิจมากนัก หากแต่เป็นกรณีที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงและแสวงหาผู้เช่าที่จะเป็น magnet เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ที่เปิดกว้างนี้ด้วย
 
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามอีกส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกไทย หลังการเปิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC ก็คือความคาดหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะก้าวเข้ามาเป็นกลไกในการหนุนนำพลวัตทางธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไปได้ 
 
ไม่นับรวมความพยายามของคณะกรรมการธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่พยายามผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการค้าปลีกและค้าส่งของภูมิภาคอาเซียน หรือการจัดวางให้ไทยเป็นปลายทางของการชอปปิ้งในภูมิภาคอาเซียน (Shopping Destination for ASEAN) โดยเตรียมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และวางเป้าหมายให้มูลค่าตลาดค้าปลีกค้าส่งขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ทุกปี ซึ่งดูจะเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและรอคอยการพิสูจน์อย่างยิ่ง
 
ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกไทยในห้วงเวลานับจากนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการเติบโตของผู้ประกอบการแต่ละรายแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังผูกโยงอยู่กับข้อเท็จจริงว่าด้วยกำลังซื้อของสังคมไทยทุกระดับว่าอยู่ในสภาพการณ์อย่างไร
 
หรือถึงที่สุดแล้ว ธุรกิจค้าปลีกไทยกำลังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีไว้สำหรับรองรับกลุ่มคนบางกลุ่ม ในขณะที่คนจำนวนมากกำลังต้องไปพึ่งพาสินค้าจากตลาดนัดและร้านสวัสดิการธงฟ้า ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่ากำลังผงกหัวขึ้น หลังจากการแถลงผลงานในรอบปี
 
ศักราชใหม่แห่งปีวอกที่กำลังจะมาถึงคงให้คำตอบได้ว่าจะเป็น ลิงที่เริงร่าอย่างมีความสุข หรือยุ่งเหยิงประหนึ่งลิงแก้แห ที่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งและผูกมัดตัวเองจนไม่สามารถออกจากพันธนาการนี้ไปได้