วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ข้าวโพดคั่ว POPCORN สิ่งมหัศจรรย์จากเทพเจ้า

ข้าวโพดคั่ว POPCORN สิ่งมหัศจรรย์จากเทพเจ้า

ข้าวโพดคั่ว หรือ Popcorn หรือ ตอกคง ในภาษาไทยถิ่นใต้ ถือเป็นสแน็กยอดนิยมของคนทั่วโลก ผลิตจากเมล็ดข้าวโพดที่มีตำนานอันยาวนานของชาวอินเดียนแดงในทวีปอเมริกามากกว่า 5,600 ปี

ตามหลักฐานสำคัญของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสค้นพบข้าวโพดคั่วในซากเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เมืองอินคาในอเมริกาใต้ มีการค้นพบฝักป๊อปคอร์นที่เก่าแก่ที่สุดในถ้ำค้างคาว (Bat Cave) บริเวณเวสต์เซ็นทรัล มลรัฐนิวเม็กซิโก ในปี ค.ศ. 1948 ขนาดตั้งแต่เล็กกว่าเหรียญเพนนีไปจนถึงขนาดสองนิ้ว โดยฝักเก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง 4,000 ปี

นักโบราณคดีเชื่อว่า ชาวอินเดียนแดง หรือชนพื้นเมืองอเมริกันเป็นชนกลุ่มแรกที่กินข้าวโพดคั่วและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น โดยชาวอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือจะนำข้าวโพดที่คั่วจนพองขาวแล้วมารับประทาน นำมาร้อยเป็นสายด้วยหญ้าทำเป็นเครื่องประดับสำหรับหัวหน้าเผ่าหรือนักรบ นำมาถวายเคารพ “ทลาล็อค (Tlaloc)” เทพแห่งฝนและความอุดมสมบูรณ์ของชาวแอซเท็กและเทพเจ้าข้าวโพด บางครั้งมีการใช้พวงข้าวโพดคั่วประดับเทวรูปด้วย

เมื่อนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษสมัยแรกๆ มีการจัดงานขอบคุณพระเจ้าครั้งแรก ชาวอินเดียนแดงนามว่า เควเดอควีนา ได้นำข้าวโพดคั่วใส่ถุงหนังกวางขนาดใหญ่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิม ซึ่งนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของป๊อปคอร์น ซึ่งกลายหนึ่งเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบอเมริกา

ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์ ชาวอินคาใช้หม้อดินปั้นพิเศษสำหรับคั่วข้าวโพดจากการขุดพบภาชนะในซากปรักหักพังสมัยโบราณของอเมริกาใต้ โดยฝังหม้อในทรายที่ร้อนจัด โรยเมล็ดข้าวโพดลงไปแล้วปิดฝา หรือใช้หม้ออีกใบมาครอบ รอความร้อนจากทรายทำให้ข้าวโพดแตก กลายเป็นข้าวโพดคั่ว

ข้าวโพดและป๊อปคอร์นค่อยๆ ปรากฏแพร่หลายไปทั่วสหรัฐอเมริกาในฐานะพืชเกษตรกรรมทั่วไปจนเป็นพืชเกษตรกรรมในตลาด เมื่อปี ค.ศ. 1890 และได้รับความนิยมต่อเนื่อง มีการผลิตในเชิงการค้า ผลิตเครื่องทำข้าวโพดคั่วขนาดมหึมา ใช้เตาน้ำมันเบนซิน กลายเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นตาในงานแห่และงานเทศกาล

ปี ค.ศ.1885 ชาร์ลส์ เครเตอส์ (Charles Cretors) ผู้ก่อตั้งบริษัท C. Cretors and Company ได้ผลิตเครื่องคั่วข้าวโพดเครื่องแรกในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

ปี ค.ศ. 1893 พัฒนาเปิดตัวเครื่องทำป๊อปคอร์นแบบเคลื่อนที่เครื่องแรกของโลก เรียกชื่อว่า “เครเกอร์แจ็ค (Cracker Jack)” พร้อมเพิ่มส่วนผสมน้ำอ้อยและถั่วลิสง สร้างความเอร็ดอร่อยมากยิ่งขึ้นในงาน World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

ปลายทศวรรษ 1890 เหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างลงทุนซื้อรถป๊อปคอร์นเร่ขายตามถนน งานรื่นเริง สวนสาธารณะ และงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ธุรกิจภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มเติบโตและได้รับความนิยม โดยเฉพาะช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ มีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการมากมายทำให้ข้าวโพดคั่วกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงแบบใหม่

ต่อมา เจ้าของโรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการขายป๊อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ เพราะรบกวนลูกค้าขณะดูหนัง ซึ่งยุคนั้นเป็นหนังเงียบ ไม่มีเสียงพากย์ มีเพียงเสียงดนตรีคลอ จนต้องออกไปเช่าพื้นที่ขายหน้าโรง

ปี ค.ศ. 1925 มีผู้คิดค้นและเผยโฉมเครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้านำออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ลักษณะเป็นเครื่องแก้วมันวาวและเครื่องไฟฟ้าสีโครเมียม ทำให้ข้าวโพดคั่วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีกและเข้าไปอยู่ในพื้นที่โรงหนังให้ลูกค้าซื้อก่อนเข้าชมภาพยนตร์

ขณะที่มีเรื่องเล่าว่า แม่หม้ายคนหนึ่งชื่อ Julia Braden อาศัยอยู่ใน Kansas City พยายามโน้มน้าวโรงละคร Linwood ให้เธอขายป๊อปคอร์นหน้าล็อบบี้และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี Julia กลายเป็นเจ้าของร้านป๊อปคอร์นในโรงหนัง 4 โรง และกอบโกยรายได้มากมาย

จากกระแสความนิยมและรายได้ที่งดงาม ในที่สุดเจ้าของโรงภาพยนตร์ตัดสินใจติดตั้งเครื่องทำป๊อปคอร์นไว้ในโรงภาพยนตร์และขายเอง นอกจากนั้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ธุรกิจป๊อปคอร์นสามารถทำกำไรสวนกระแสธุรกิจอื่นๆ ที่ขาดทุนและปิดกิจการ เพราะป๊อปคอร์นราคาถุงละ 5-10 เซนต์ คือ สแน็กชั้นเลิศมากกว่าอาหารรับประทานเล่นอื่นๆ อร่อย หวานมัน กรุบกรอบ

มีบันทึกสถิติในปี ค.ศ. 1922 สหรัฐอเมริกาเพาะปลูกข้าวโพดสำหรับใช้ทำข้าวโพดคั่ว 15,000 เอเคอร์ และเมื่อมีเครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้า ข้าวโพดคั่วนำรายได้มาสู่ผู้ปลูกมากมาย จนได้รับสมญานามว่า “ทิวทองแห่งท้องทุ่ง” (prairie gold) เกษตรกรต่างขยายการปลูกข้าวโพด เช่น ในรัฐอินเดียนา ไอโอวา อิลลินอยส์ โอไฮโอ และเคนทักกี ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นผู้นำการผลิตข้าวโพดคั่วของโลก

ป๊อปคอร์นไม่ได้นิยมรับประทานเฉพาะในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปรับประทานกันหน้าจอโทรทัศน์ เริ่มมีสปอตโฆษณาข้าวโพดคั่วในรายการต่างๆ และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าข้าวโพดคั่วในห่อฟอยล์ให้ลูกค้าสามารถคั่วกินได้เอง รวมถึงป๊อปคอร์นที่คั่วได้ด้วยไมโครเวฟ

ชาวอเมริกันกำหนดให้วันที่ 19 มกราคม เป็น Popcorn Day ซึ่งสะท้อนความนิยมและมนต์ขลังที่ไม่เสื่อมคลายจนถึงทุกวันนี้.