ทันทีที่ “บางจาก” ประกาศดีลเทกโอเวอร์ “เอสโซ่” เกิดแรงสั่นสะเทือนในตลาดค้าปลีกน้ำมันที่มี “โออาร์” ของกลุ่ม ปตท. เป็นเบอร์ 1 เพราะเหมือนส่งสัญญาณเปิดศึกไล่บี้ช่วงชิงส่วนแบ่งครั้งใหญ่ ต่อมามีการปล่อยฮินต์ประเด็นโออาร์เร่งแผนซื้อหุ้น “เซ็นกรุ๊ป” ธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่ นั่นกลายเป็นสงครามเทกโอเวอร์ช่วงชิงตลาดอย่างดุเดือด
กระแสข่าวระบุว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กำลังเจรจาเข้าซื้อหุ้นบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN สัดส่วน 25% หรือจำนวน 75 ล้านหุ้น จากผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท เอจีบี ซิบลิ้งส์ โฮลดิ้ง จำกัด แต่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องราคา มูลค่าทรัพย์สิน และเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งหากคิดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดจะอยู่ที่ 5,010 ล้านบาท
ทั้งนี้ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป มีแบรนด์ร้านอาหารรวม 11 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอาหารญี่ปุ่น Zen, ร้านอาหารสไตล์โตเกียวคาเฟ่ On the table, ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น อากะ (AKA), ร้านอาหารนีโอไต้หวัน ดินส์ (Din’s) รูปแบบจีนดั้งเดิมผสมผสานแรงบันดาลใจจากประเทศญี่ปุ่นดินส์, ร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน ZEN BOX, ร้านอาหารประเภทเนื้อพรีเมียม TETSU, ร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม ซิวคาร์นิวอล (CYU CARNIVAL)
ร้านอาหารไทยจานด่วน “เขียง” ร้านอาหารอีสาน ตำมั่ว Tummour ร้านลาวญวน by Tummour และร้านอาหารอีสานระดับพรีเมียม Tummour-The original Thai food
แม้นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โออาร์ ออกมาชี้แจงว่า บริษัทยังไม่ตัดสินใจดำเนินการใดๆ แต่มีการพิจารณาแสวงหาและเจรจาการลงทุนในธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และก่อนหน้านี้มีผู้บริหารโออาร์ออกมายอมรับว่า บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรกลุ่ม Lifestyles ประมาณ 4 ราย รวมถึง เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่า จะเข้าร่วมลงทุนทั้งหมด หรือซื้อกิจการ (M&A) โดยมองถึงโอกาสการขยายธุรกิจ Lifestyles เนื่องจากเซ็นฯ อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่บริษัทสนใจ และต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ขณะเดียวกัน หากดูแผนลงทุน 5 ปีของโออาร์ เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 งบลงทุนรวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปี 2566 ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท จะเน้นการลงทุนในธุรกิจ Lifestyles หรือกลุ่มนอนออยล์ สัดส่วนมากสุด 45%
ตามด้วยธุรกิจ Mobility สัดส่วน 22% ธุรกิจ Global Market สัดส่วน 16% และธุรกิจ Innovation สัดส่วน 17% โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสถานีบริการน้ำมันในปีนี้อีก 100 แห่ง จากปัจจุบัน 2,155 แห่ง ร้านคาเฟ่ อเมซอน อีก 400 สาขา จากปัจจุบัน 3,875 สาขา และตั้งเป้าเป็นผู้นำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station PluZ) โดยปีนี้จะเพิ่มอีก 500 หัวชาร์จ จากเดิม 300 หัวชาร์จ และเพิ่มเป็น 7,000 หัวชาร์จ ภายในปี 2573 เป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐาน EV ในประเทศไทย
ฝ่ายบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชัดเจนแล้วถึงการเข้าทำธุรกรรมซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (ExxonMobil) โดยลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับ ExxonMobil เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2566 และคาดว่าจะซื้อขายและชำระเงินค่าหุ้นแก่ผู้ขายได้ภายในครึ่งหลังของปี 2566
ดีลนี้เป็นการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 65.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของเอสโซ่จาก ExxonMobil ซึ่งหากอ้างอิงตามงบการเงินสอบทานในไตรมาส 3/2565 ของเอสโซ่ จะได้ราคาเบื้องต้น 8.84 บาทต่อ 1 หุ้น หรือรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก คอร์ปอเรชั่น ยืนยันว่า การทำธุรกรรมครั้งนี้จะพลิกโฉมสู่บริบทใหม่ เพราะจะได้โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศอีกกว่า 700 แห่ง จะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทย มีสถานีบริการเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 แห่ง ขยับขึ้นเป็นบริษัทน้ำมันที่มีสถานีบริการมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ขายน้ำมันผ่านสถานีบริการขยับขึ้นเป็น 30% เข้าใกล้เบอร์ 1 อย่างโออาร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 42%
ที่สำคัญ บริษัทปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปลายปี 2565 กำหนดเป้าหมายการเติบโตถึงปี 2573 (ค.ศ. 2030) ของธุรกิจทั้ง 5 กลุ่ม แบบ Aggressive มากขึ้น ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่
เช่น กลุ่มธุรกิจการตลาด เร่งตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อเป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน แต่ต้องเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่างอาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger โดยขยายเครือข่ายสถานีบริการ 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573
ขณะที่ตั้งเป้าหมายภาพรวมกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2558-2563 (ค.ศ. 2015-2020) ซึ่งหลังปิดดีลซื้อหุ้นเอสโซ่ บางจากฯ จะประหยัดค่าใช้จ่ายหลังมีการ Synergy ร่วมกันราว 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี และเป้าหมาย EBITDA ที่ 1 แสนล้านบาท บริษัทคำนวณรับรู้กำไรจากเอสโซ่เข้ามาเรียบร้อยแล้ว
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 กลุ่มบริษัทบางจากในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ได้ขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ สถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) นอกเหนือจากธุรกิจรากฐานอย่างกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการตลาด และดำเนินธุรกิจในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
ล่าสุด ปรับตัวตนและเปลี่ยนโลโกเป็น ‘ใบไม้ใบใหม่’ แทนรูปใบไม้ใบเดิม ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เพื่อสื่อสารถึงการพลิกโฉมใหม่ทุกด้าน
ดังนั้น การเริ่มต้นเปิดสงครามตั้งแต่ต้นปี 2566 ด้วยเกมเทกโอเวอร์ธุรกิจน้ำมันในประเทศไทยของเอสโซ่บวกกับยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างพุ่งพรวด นั่นหมายถึงการเตรียมเปิดเกมรุกอีกหลายรอบ ซึ่งยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 อย่างโออาร์ของกลุ่ม ปตท. คงไม่อยู่นิ่งเฉยปล่อยคู่แข่งรุกคืบกินแชร์ไปได้ง่ายๆ แน่.