วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > Cover Story > วิชัย มาลีนนท์ หนึ่งในตำนานโทรทัศน์ไทย

วิชัย มาลีนนท์ หนึ่งในตำนานโทรทัศน์ไทย

ข่าวการถึงแก่กรรมของ วิชัย มาลีนนท์ ในวัย 99 ปี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะนำมาซึ่งความรู้สึกแห่งความสูญเสียโศกเศร้าให้กับบุคคลในครอบครัวและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้ง “มาลีนนท์” และกลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ (BEC) หรือไทยทีวีสีช่อง 3 แล้ว

หากแต่ในอีกมิติหนึ่งเรื่องราวและประวัติความเป็นมาเป็นไปของ วิชัย มาลีนนท์ ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดและก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่กลายมาเป็นอาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน กลับอุดมด้วยสีสันและสะท้อนจังหวะก้าวที่พร้อมเป็นบทเรียนให้กับธุรกิจสังคมไทยได้ย้อนพินิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เนื่องเพราะรอยทางแห่งการสร้างอาณาจักรธุรกิจโทรทัศน์ช่อง 3 ของวิชัย และ มาลีนนท์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ดำเนินไปท่ามกลางช่วงเวลาหนักหน่วง ที่มีทั้งล้มลุกคลุกคลาน ถึงขั้นที่เกือบล้มละลายก่อนที่จะขยับขึ้นก้าวสู่เป็นสถานีโทรทัศน์ชั้นนำและฉลองการก่อตั้งปีที่ 48 ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ประวัติชีวิตบนเส้นทางธุรกิจของวิชัย อุดมด้วยสีสันและเรื่องราวกล่าวขานมากมาย นับตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยธุรกิจการให้บริการรถโดยสารระหว่างเมืองใน 2 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรี และกรุงเทพฯ สู่ชลบุรี มาจนถึงการขยายธุรกิจไปสู่โรงแรมด้วยการดัดแปลงห้องแถวย่านหัวลำโพงให้เป็นโรงแรมที่พักในนาม “โรงแรมตงฮั้ว” พร้อมกับการขยายไปสู่ธุรกิจขายของชำในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ธุรกิจที่เฟื่องฟูและได้รับความนิยมในกระแสสูงอยู่ที่ธุรกิจการส่งเงินจากคนจีนโพ้นทะเลกลับสู่แผ่นดินใหญ่หรือโพยก๊วน ซึ่งวิชัยก็เป็นส่วนหนึ่งของนักธุรกิจยุคบุกเบิกที่หวังจะสร้างความมั่งคั่งจากธุรกรรมนี้ หากแต่ด้วยปัญหาความไม่แน่นอนของค่าเงิน ทำให้วิชัยดำเนินธุรกิจนี้ได้เพียง 2 ปี พร้อมกับภาวะขาดทุน

วิชัย หันมาให้ความสนใจธุรกิจน้ำมันเป็นลำดับต่อมา ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบริษัทเชลล์ ซึ่งมีสัญลักษณ์รูป “หอย” เป็นเครื่องหมายการค้า ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นตัวแทนหรือเอเย่นต์จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือล็อตเตอรี่ รายใหม่ของประเทศ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

เพราะนอกจากจะเป็นธุรกิจที่สร้างฐานะและสะสมความมั่งคั่งให้กับวิชัยในวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปีแล้ว ธุรกิจดังกล่าวยังอาจนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสัมพันธ์กับกลุ่มผู้กุมอำนาจในยุคสมัยต่อมา

วิชัยเริ่มขยายไปสู่ธุรกิจซื้อขายที่ดินและบ้านจัดสรร ภายใต้โครงการ “หมู่บ้านทิพวัล” ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเวลาต่อมา ทั้งในมิติของสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน มีโรงเรียน 2 แห่งอยู่ในหมู่บ้าน รวมถึงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักให้กับทหารทั้ง 3 เหล่าทัพอีกด้วย

ธุรกิจที่หลากหลายและขยายตัวอย่างต่อเนื่องของวิชัย มาลีนนท์ ดำเนินไปควบคู่กับสายสัมพันธ์กับผู้คนที่กว้างขวางขึ้นทั้งกับกลุ่มธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ แห่งกลุ่มเอเชียทรัสต์ ที่กลายมาเป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดในเวลาต่อมา ยังไม่นับรวมความสัมพันธ์กับจิตต์ แพร่พานิช เจ้าของกิจการสำนักพิมพ์แพร่พิทยาที่มีส่วนร่วมในช่วงปฐมบทแห่งตำนานช่อง 3

การกำเนิดขึ้นของช่อง 3 ก็คงไม่แตกต่างจากการเกิดขึ้นของธุรกิจหลากหลายในประเทศไทย ที่นอกจากจะต้องมีเจ้าของโครงการ มีนายทุนที่พร้อมจะสนับสนุนแผนธุรกิจแล้ว ดูเหมือนว่าสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและการเอื้ออำนวยความสะดวกในการประกอบการก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อย

วิชัยเริ่มต้นทีวีช่อง 3 ด้วยการซื้อความคิดของ มนูญศิริ ขัตติยะอารี ที่เป็นคนคิดต้นร่างโครงการช่อง 3 ก่อนที่จะนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในปี 2510 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 1 หมื่นหุ้น โดยมีมนูญศิรินั่งเป็นผู้จัดการทั่วไป

ในระยะเริ่มต้นของช่อง 3 กลุ่มธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ยังไม่ได้เข้ามาร่วมด้วย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่จึงมีวิชัย มาลีนนท์ ถืออยู่ 40% จิตต์ แพร่พานิช เจ้าของร้านแพร่พิทยาที่วังบูรพา ถืออยู่ 45% ส่วนนายมนูญศิริ ขัตติยะอารี เจ้าของโครงการถืออยู่ 2.5%

แต่ด้วยเหตุที่การจะได้มาซึ่งสิทธิและสัมปทานจำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมือง ซึ่งดูจะเป็นสัจธรรมและข้อเท็จจริงที่ยากจะเลี่ยงของสังคมธุรกิจในยุคสมัยที่เผด็จการทหารครองเมือง ประจวบเหมาะกับการที่กลุ่มของจอห์นนี่ มา (พัลลภ ธารวณิชกุล) และวิจิตรานนท์ มีเพื่อนสนิทที่เข้านอกออกในกับกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจรได้ดีอยู่สองคน

ทั้งพลโท ม.ร.ว.ลาภ หัสดินทร อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และพลโทประชุม ประสิทธิ์สรจักร์ ที่กลายเป็นตัวจักรในการวิ่งเต้นให้ได้ใบอนุญาตมา

ซึ่งนั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมกันในช่อง 3 ระหว่างตระกูลมาลีนนท์กับกลุ่มเอเชียทรัสต์ในเวลาต่อมา ส่วนทางกลุ่มจิตต์ แพร่พานิช ก็ถูกซื้อออกไปเมื่อมีการเพิ่มทุนจากหนึ่งล้านบาทเป็น 12 ล้านบาทเพียง 1 ปี หลังจากตั้งบริษัท

บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งสัญญาณโทรทัศน์ กับบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2511 โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 บนที่ดิน 6 ไร่ ที่ตำบลหลักสอง เขตหนองแขม บริเวณริมถนนเพชรเกษม เมื่อต้นปี 2512 และเริ่มดำเนินการแพร่ภาพเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2513 โดย จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิด

ช่อง 3 ในยุคบุกเบิกมีวิชัย มาลีนนท์ ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเป็นผู้บริหาร โดยมีคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล เป็นประธานกรรมการ โดยในการดำเนินงานช่วง 4-5 ปีแรกนั้นเป็นภาวการณ์ที่ต้องอดทน เพราะการลงทุนตั้งสถานีโทรทัศน์นั้นต้องใช้เงินทุนระยะแรกสูง ซึ่งก็ถูกตั้งไว้เป็นรายจ่ายคงค้างที่ต้องทยอยจ่ายไป ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นสินน้ำใจสำหรับผู้เกี่ยวข้องในการที่จะได้ใบอนุญาตมาด้วย

การดำเนินงานของช่อง 3 ในช่วงแรกจึงไม่มีผลกำไรเพื่อจ่ายคืนให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงต้นปี 2514 วิชัยได้กล่าวกับที่ประชุมว่า “เนื่องจากการดำเนินกิจการที่ผ่านมาต้องต่อสู้กับปัญหานานาชนิดไม่รู้จักหมดสิ้น และทำให้บริษัทยังขาดทุนอยู่ การที่ผมได้ชักชวนเพื่อนซึ่งรักใคร่นับถือกันมาเข้าชื่อซื้อหุ้นและต้องขาดทุนแบบนี้ผมไม่สบายใจมาก ผมอยากจะขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และถ้าท่านผู้ถือหุ้นเห็นว่าใครเหมาะสมก็โปรดเสนอชื่อมาทำงานแทนด้วย ผมจะได้ขอพักผ่อนบ้าง”

ถ้อยแถลงของวิชัยในวันนั้นได้รับการคัดค้าน โดยทุกคนให้กำลังใจและสนับสนุนให้วิชัยทำงานต่อไป ซึ่งการบริหารช่อง 3 ในช่วงนั้นทางเอเชียทรัสต์ปล่อยให้กลุ่มมาลีนนท์บริหารตลอดอย่างเต็มที่ โดยมี นิรันดร์ วิจิตรานนท์ เข้ามาเป็นกรรมการรองผู้จัดการ เพื่อเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของเอเชียทรัสต์เท่านั้น ความสนิทสนมของสองกลุ่มนี้จึงมีมาแต่ดั้งเดิม และเป็นความใกล้ชิดที่ต่างฝ่ายต่างก็เกรงใจกันอย่างมาก

ช่อง 3 เริ่มจะมีกำไร และฟื้นทุนได้นับตั้งแต่ปี 2517 หรือหลังจากเริ่มมาได้ 5 ปี แต่ยุคสมัยของการทำงานกันแบบสบายๆ ง่ายๆ คงผ่านพ้นไปแล้ว และวิบากกรรมครั้งใหม่ของวิชัยก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในปี 2528 เมื่อธนาคารสยามในยุคของเกษม จาติกวณิช และวารี หะวานนท์ ยื่นฟ้องเรียกหนี้ช่อง 3 คืน รวมมูลค่ากว่า 453 ล้านบาท

หนี้ของช่อง 3 ดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นกับเอเชียทรัสต์ ซึ่งเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในช่อง 3 มาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้วิชัย มาลีนนท์ และช่อง 3 ต้องออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อเข้าร่วมในกระบวนการกอบกู้เอเชียทรัสต์อย่างเต็มที่

ในครั้งนั้น “ผู้จัดการ” ได้บันทึกไว้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีความหมายต่อวิชัย มาลีนนท์ มากกว่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะไม่มีใครมารับฟังการลาออกเหมือนในอดีตแล้ว ทางเลือกทางรอดที่วิชัยมีก็ไม่มากและล้วนเป็นทางเลือกที่ต้องใช้น้ำอดน้ำทนบวกกับความมานะพยายามใหม่ เหมือนยุคแรกของการบุกเบิกช่อง 3 อีกครั้ง

วิชัย มาลีนนท์ เมื่อปี 2528 มีอายุ 66 ปี นับเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะดีมากถึงขั้นระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทยที่ค่อนข้าง low profile ซึ่งแม้ในขณะนั้นช่อง 3 ยังคงเหลือสัญญาอีกประมาณ 6 ปี แต่การต่อสัญญาครั้งใหม่ในห้วงยามนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่าหุ้นส่วนใหญ่จากกลุ่มของธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ ไม่มีเอเชียทรัสต์มาเป็นฐานหรือหลังพิงให้กับมาลีนนท์ ในการเข้าประมูลแล้ว

วิถีของวิชัย มาลีนนท์ ในการข้ามพ้นวิกฤตในปี 2528 สะท้อนความคิดที่ว่า “คนเก่งไม่ใช่คนที่ไม่เคยล้ม หากแต่เป็นคนที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่” โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิชัย และ “มาลีนนท์” ก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวมาได้ ก็เพราะทุกคนทำงานได้ และทุกคนทำงานเป็น

การล่มสลายของ “ธนาคารเอเชียทรัสต์” เมื่อครั้งอดีต เป็นบทเรียนทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เป็น “ป้อมค่ายสุดท้าย” ที่ทำให้คนในตระกูลมาลีนนท์ต้องร่วมแรงรวมใจบุกเบิกฟันฝ่าต่อไป สอดรับกับข้อเตือนใจของผู้มีประสบการณ์ชีวิตที่ได้กล่าวไว้ว่า “การที่จะสร้างสิ่งใดขึ้นมามักสร้างได้ไม่ยาก หากแต่การที่รักษาสิ่งที่สร้างขึ้นมาให้อยู่รอดตลอดไปย่อมไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย”

เมื่อมรสุมแห่งวิกฤตในปี 2528 พัดผ่านเลยไป ดูเหมือนว่าฟากฟ้าใหม่ของช่อง 3 และ”มาลีนนท์” ก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น ในยุคที่ทายาทของวิชัย ไม่ว่าจะเป็น “ประสาร ประวิทย์ ประชา” ร่วมกันกอบกู้และผลักดันช่อง 3 ไปสู่ทศวรรษใหม่ โดยมี วิชัย มาลีนนท์ เฝ้าติดตามอย่างเอาใจใส่

แม้ว่าลูกๆ ของวิชัยจะได้รับและจบการศึกษามาจากต่างประเทศ แต่วิชัยยังมีวิธีสอนลูกๆ ตามสไตล์ชาวจีนยุคเก่า ที่เชื่อว่าก่อนจะขึ้นมาบริหารงานได้ ก็ควรต้องมีพื้นฐานความรู้ในธุรกิจนั้นอย่างถ่องแท้ก่อน และนั่นทำให้ลูกๆ ของวิชัยเริ่มงานในช่อง 3 ด้วยการฝึกงานเพื่อเรียนรู้พื้นฐานธุรกิจตามแผนกต่างๆ ประหนึ่งพนักงานฝึกงานทั่วไป

ความกลมเกลียวของพี่น้องทั้งสาม โดยมีผู้เป็นพ่อเป็นผู้กำกับดูแล นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารโดยระบบครอบครัวมาลีนนท์เป็นไปอย่างราบรื่น โดย “ประสาร” พี่คนโตรับผิดชอบดูแลงานหลังบ้าน (Back Office) เช่น งานธุรการ บุคคล ประชาสัมพันธ์ และข่าว

ขณะที่ “ประวิทย์” และ “ประชา” ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรายการและการผลิตรายการคู่กัน “ประวิทย์” จะเน้นหนักในเรื่องของการตลาด และการขายโฆษณา ส่วน “ประชา” จะดูแลเรื่องของการผลิตรายการ ซึ่งด้วยบุคลิกแบบขาลุย กล้าได้กล้าเสีย “ประชา” เป็นฝ่าย “บู๊” ออกหน้าติดต่อกับภายนอก ส่วน ประวิทย์ เป็นฝ่าย “บุ๋น” ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการที่คอย “คิด” และให้ประชาไปทำอีกที

หากนับยุคสมัยของ “วิชัย” เป็นยุคของผู้บุกเบิกช่อง 3 แล้ว ยุคของ “ประสาร-ประวิทย์-ประชา” ลูกชายทั้งสามของเขา ก็ต้องถือเป็นยุคของการกอบกู้กิจการจากวิกฤตและวางรากฐานที่มั่นคงเป็นปึกแผ่นให้กับธุรกิจ โดยทั้ง 3 ต่างได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา นำวิธีคิดใหม่ๆ มาลองผิดลองถูก จนกระทั่งสถานการณ์ของช่อง 3 เริ่มพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับ

แต่ในช่วงท้ายแห่งชีวิตของวิชัย มาลีนนท์ สถานการณ์ของธุรกิจโทรทัศน์ไทยได้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ไปจากจุดเริ่มต้นเมื่อครั้งวิชัยบุกเบิกช่อง 3 ไปมากแล้ว เป็นอนิจจลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง และการบริหารช่อง 3 ในปัจจุบันก็ถูกส่งผ่านมายัง ประชุม มาลีนนท์ บุตรชายคนเล็กของวิชัยให้เป็นผู้ดูแลแล้ว

ภายใต้สงครามสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา การนำพาช่อง 3 ให้ข้ามฝ่ากระแสธารของการเปลี่ยนแปลงที่อุดมไปด้วยผู้ประกอบการทั้งรายเก่ารายใหม่ร่วมโรมรันพันตูแย่งชิงส่วนแบ่งทั้งในมิติของจำนวนผู้ชม และรายได้จากโฆษณานี้ย่อมไม่ใช่ภารกิจที่สะดวกง่ายดายเหมือนเช่นเมื่อครั้งที่ช่อง 3 ต้องแข่งขันขับเคี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ไม่กี่ช่องเช่นในอดีตอีกแล้ว

บาทก้าวและบทเรียนแห่งชีวิตที่ วิชัย มาลีนนท์ ได้ฝากไว้ตลอดอายุ 99 ปีที่ผ่านมา ย่อมไม่ได้มีนัยความหมายเพียงเพื่อให้ผู้คนในสังคมได้ศึกษาติดตามเท่านั้น หากแต่สำหรับผู้คนในช่อง 3 หรือ BEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ มาลีนนท์ ซึ่งเป็นลูกหลานของวิชัย รอยทางที่ฝากไว้น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในอนาคต

ใส่ความเห็น