วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “วัวแดง” แตกนมผง เกมการเมือง ปมผลประโยชน์?

“วัวแดง” แตกนมผง เกมการเมือง ปมผลประโยชน์?

ปมปัญหาแบรนด์ “วัวแดง” กลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (สร.อ.ส.ค.) รวมตัวยื่นคัดค้านการอนุญาตนำเครื่องหมายการค้า “ไทย-เดนมาร์ค” ให้เอกชนใช้ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารก ถูกขยายกลายเป็นเกมการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและฐานตลาดมูลค่าหลายหมื่นล้าน

การเปิดฉากฟ้องสังคมเริ่มต้นเมื่อ น.ส.ณัฐภร แก้วประทุม ประธาน สร.อ.ส.ค. ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร คัดค้านการเปิดทางเอกชนใช้แบรนด์ “ไทย-เดนมาร์ค” เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565

สาระสำคัญระบุถึงองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมผงตามคำสั่ง อ.ส.ค. ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เพื่อพิจารณาการอนุญาตให้บริษัทเอกชนต่างชาติใช้เครื่องหมายการค้า “ไทย-เดนมาร์ค” และ อ.ส.ค. ได้เสนอบอร์ดรับทราบเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่สอดรับกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อ.ส.ค.

เหตุผลสำคัญ คือ เครื่องหมายการค้าตรา “ไทย-เดนมาร์ค” เป็นสินทรัพย์ของ อ.ส ค. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย อาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทนมผงเอกชนข้ามชาติ จนกระทบต่อตลาดนมในภาพรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

ขณะเดียวกันการพิจารณาไม่อยู่ในอำนาจของ อ.ส.ค. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อ.ค.ส. ซึ่งควรเป็นหน่วยงานดูแลปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย พัฒนาศักยภาพและยกระดับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน รวมทั้งอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก บิดเบือนเจตนารมณ์ของความร่วมมือทางวิชาการด้านการส่งเสริมกิจการโคนมของทั้ง 2 ประเทศ

ด้านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้อนให้ไปสอบถามนายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ถึงจุดเกิดเหตุและกระแสข่าวเรื่องนี้ แต่ในฐานะกำกับดูแลยังไม่เคยเห็นเรื่องนี้

“ทุกอย่างมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ มีคณะกรรมการกำกับดูแล ไม่สามารถทำคนเดียว ยืนยันไม่มีใครเอาไทย-เดนมาร์คไปขาย อย่าพูดเอาสนุกแล้วไปเกี่ยวโยงกับการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเกษตรกรที่ต้องดูแลอีกมาก” รมช. เกษตรฯ กล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังกรรมาธิการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง ล่าสุด คณะกรรมาธิการฯ มีมติเห็นควรชะลอโครงการดังกล่าว เนื่องจากการให้บริษัทเอกชนมาดำเนินการ โดยใช้แบรนด์ไทย-เดนมาร์ค อาจเข้าข่าย พ.ร.บ. ร่วมทุน ประกอบกับมีเอกชนเพียงรายเดียวทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน

นอกจากนั้น การอนุญาตให้บริษัทเอกชนผลิตนมสูตร 2 (นมผง) สำหรับทารกจนถึงเด็ก 6 ขวบ อาจเกิดปัญหาในอนาคต กรณีรัฐบาลจะจัดหานมโรงเรียน อาจต้องซื้อกับบริษัทเอกชนด้วย โดยกรรมาธิการจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ทั้งนี้ หากย้อนความเป็นมาของ อ.ส.ค. กำเนิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี 2503 และทรงสนพระทัยการเลี้ยงโคนมของประเทศเดนมาร์ก เพื่อนำโมเดลมาดำเนินการในประเทศไทย

ต่อมารัฐบาลไทยลงนามความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการกับรัฐบาลเดนมาร์กเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2504

16 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย–เดนมาร์กอย่างเป็นทางการ และรัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็นวันโคนมแห่งชาติ

กระทั่งรัฐบาลไทยรับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมไทย-เดนมาร์กมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2514 ชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 160 ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

มีการตั้งตราสัญลักษณ์ประจำองค์การวัวแดงและไทย-เดนมาร์ค เมื่อปี 2519 โดย “วัวสีแดง” คือ สีของแม่โคลูกโค หมายถึงความเป็นสิริมงคลตามอิทธิพลของสีที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โชคลาภ ความดีงาม ความเจริญ

คอกโค หมายถึงคอกโคนมประวัติศาสตร์คอกแรกของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค และวงกลมล้อมรอบบอกถึงการดำรงคงอยู่อย่างไม่สิ้นสุด

ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา แบรนด์ “วัวแดง” มีวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2554 ตัดชื่อ “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” เหลือเพียง “วัวแดง” และ “ไทย-เดนมาร์ค”

ต้องยอมรับว่า “วัวแดง” อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนานและอยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจดูแลเกษตรกรโคนม โดยเฉพาะการบริหารจัดการตลาดนมในภาพรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค. รักษาระดับราคาและการแข่งขันในตลาด ซึ่งช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อ.ส.ค. พยายามกระตุ้นยอดการบริโภคนมของคนไทย เพราะยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ หรือเฉลี่ยเพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปี แม้มีโครงการนมโรงเรียน เทียบค่าเฉลี่ยคนทั่วโลกอยู่ที่ 113 ลิตรต่อคนต่อปี และค่าเฉลี่ยทวีปเอเชียอยู่ที่ 66 ลิตรต่อคนต่อปี

นั่นหมายความว่า ตลาดนมพร้อมดื่มที่มีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก แต่ยอดขายของนมไทย-เดนมาร์คเกือบทั้งหมดมาจากนมโคสด ซึ่งมีมาร์จินกำไรน้อย ทำให้ อ.ส.ค. ต้องเร่งรุกตลาดนมพรีเมียมหรือนมเติมสารอาหารชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและดันราคาสูงขึ้นได้ รวมถึงขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ กลุ่มเด็กวัยรุ่น วัยทำงาน และกลุ่มอื่นๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งเจ้าตลาด “โฟร์โมสต์” คู่แข่งรายใหญ่ ทั้งเมจิ ดัชมิลล์ หนองโพ และรายใหม่ๆ ที่กระโดดเข้ามาในตลาด

การเปิดตัวนมโยเกิร์ตพร้อมดื่มยูเอชทีผสมคอลลาเจน เพื่อบุกตลาดนมเปรี้ยวมูลค่ามากกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท เปิดตัวนมยูเอชทีรสจืด “โอเมก้าพลัส” สูตรต้นแบบจากทีมวิจัยและพัฒนา ซึ่งพบว่า อัตราส่วนของกรดไขมันโอเมก้าช่วยลดอาการติดเชื้อ การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการส่งนมสเตอริไลซ์ รสจืดในรูปแบบ Family Pack ขนาดบรรจุ 1 ลิตร เพื่อตอบโจทย์กลุ่มครอบครัว ร้านคาเฟ่ ร้านชา ร้านอาหาร และคาเฟ่นม MilkLand ของ อ.ส.ค. เอง

ดังนั้น แม้แผนการให้เอกชนใช้แบรนด์ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามหารายได้ใหม่ๆ แต่การเป็นรัฐวิสาหกิจและผูกโยงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายหากรวบรัดหรือ “ซุ่มๆ” ยิ่งทำให้ปมปัญหาบานปลายมากขึ้น.