วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > 3 ทศวรรษ “จระเข้ คอร์ปอเรชั่น” แบรนด์วัสดุก่อสร้างของคนไทย

3 ทศวรรษ “จระเข้ คอร์ปอเรชั่น” แบรนด์วัสดุก่อสร้างของคนไทย

จากกลุ่มคนไทยในแวดวงธุรกิจกระเบื้องเซรามิกเพียงไม่กี่คนที่ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เซอรา ซี-เคียว จำกัด เมื่อปี 2535 ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1.7 ล้านบาท เพื่อบุกเบิกการผลิตกาวซีเมนต์และกาวยาแนว ผ่านมา 3 ทศวรรษ บริษัทเล็กๆ ในวันนั้นได้พัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นผู้นำธุรกิจวัสดุก่อสร้างกลุ่มสินค้ากาวซีเมนต์ยาแนวและเคมีก่อสร้างในชื่อบริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แบรนด์วัสดุก่อสร้างของคนไทยที่บุกไปสร้างชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศและมียอดขายหลักพันล้านบาทต่อปี

จุดเริ่มต้นของบริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต้องย้อนกลับไปราวๆ 30 ปีก่อน เมื่อ กองกูณฑ์ อรรถสารประสิทธิ์, ศุภพงษ์ เพชรสุทธิ์, ชัยกร มีสมมนต์, พงศธร แสงรุจี และสถาพร กิจประยูร กลุ่มคนไทยที่อยู่ในแวดวงธุรกิจกระเบื้องเซรามิกที่เห็นความสำคัญของการปูกระเบื้องและมองว่าการปูกระเบื้องของเมืองไทยในสมัยนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับได้มีโอกาสรู้จักกับเทคโนโลยีในการติดตั้งกระเบื้องจากต่างประเทศ จึงมีความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานของไทยให้ดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

นั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจร่วมทุนกันก่อตั้ง บริษัท เซอรา ซี-เคียว จำกัด (Cera C-Cure Co., Ltd.) ขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535 เพื่อบุกเบิกการผลิตกาวซีเมนต์และกาวยาแนวโดยใช้เทคโนโลยีจากอเมริกา ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1.7 ล้านบาท โดยเรียนเชิญคุณหญิงเจริญศรี อรรถสารประสิทธิ์ มารดาของกองกูณฑ์ให้เกียรติเป็นผู้ลงนามก่อตั้ง และเป็นผู้ถือหุ้นคนแรกของบริษัท พร้อมกับสร้างโรงงานแห่งแรกขึ้นที่ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี นำเข้าเครื่องจักรคุณภาพสูงมาใช้ในการผลิตกาวซีเมนต์และกาวยาแนว ภายใต้ชื่อแบรนด์ “จระเข้”

“จระเข้เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว มีลักษณะเด่นคือแข็งแรง ว่องไว สามารถใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกันก็มีนิสัยรักครอบครัว บริษัทจึงนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์เพราะเป็นตัวแทนของความเข้มแข็ง เหนียวแน่นและทนทาน ซึ่งสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และองค์กร ที่มุ่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค” ศุภพงษ์ เพชรสุทธิ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงที่มาของชื่อแบรนด์จระเข้

ปี 2536 กาวซีเมนต์จระเข้เขียวถุงแรกได้ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกของครอบครัวจระเข้ที่ออกสู่ตลาด และด้วยพัฒนาการของกระเบื้องเซรามิกที่มีขนาดและความนิยมที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้กาวซีเมนต์จระเข้แดงและเงินเปิดตัวตามมา เพื่อเป็นการแบ่งเกรดคุณภาพและการใช้งานของกาวซีเมนต์ ซึ่งจระเข้ถือเป็นผู้นำรายแรกของวงการที่แบ่งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยสีของบรรจุภัณฑ์

“กาวซีเมนต์มีหลายประเภท เมื่อก่อนบ้านเรากาวซีเมนต์ชนิดเดียวปูได้หมด พื้น ผนัง ห้องน้ำ สระน้ำ ใช้แบบเดียวกันหมด แต่สินค้าประเภทเดียวมันไม่สามารถใช้ปูกระเบื้องได้ทั้งหมดและไม่ได้มาตรฐาน จระเข้จึงพัฒนาสินค้าให้หลากหลายเริ่มจากจระเข้เขียว แดง เงิน ทอง แบ่งประเภท แยกสินค้าให้เหมาะกับการใช้งาน เราเป็นคนเซตมาตรฐานเรื่องกาวซีเมนต์ขึ้นมา ให้ความรู้ทั้งตัวลูกค้า ช่าง สถาปนิก และผู้รับเหมา เพื่อให้การติดตั้งตัวกระเบื้องมีมาตรฐานที่สุด” ศุภพงษ์กล่าว

ในช่วงเริ่มต้นกาวซีเมนต์และกาวยาแนวยังไม่เป็นที่รู้จัก กองกูณฑ์และศุภพงษ์ใช้วิธีขับรถเดินทางสำรวจบุกตลาดแนะนำสินค้าและเยี่ยมเยียนลูกค้าด้วยตนเองกว่า 600 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการและหาสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ช่วยกันเก็บข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนในการผลิตและขายสินค้าในครั้งต่อๆ ไป

โดยช่วงปีใหม่ต่อเนื่องถึงเทศกาลตรุษจีน กองกูณฑ์เป็นตัวแทนของบริษัทในการเขียน ส.ค.ส. อวยพรถึงลูกค้าด้วยลายมือตัวเองทุกฉบับกว่า 500 ฉบับ ด้วยข้อความถึงลูกค้าแต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน ลูกค้าหลายคนยังคงเก็บรักษา ส.ค.ส. นั้นไว้ ถือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับร้านค้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการเติบโตของบริษัท

หลังจากกาวซีเมนต์จระเข้เขียวถุงแรกออกวางจำหน่ายในปี 2536 เซอรา ซี-เคียว ยังคงพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย ปี 2540 กาวซีเมนต์และกาวยาแนวชาละวัน อีกหนึ่งสินค้าของจระเข้ออกวางจำหน่าย เพื่อบุกตลาดต่างจังหวัด เจาะกลุ่มงานปูกระเบื้องในราคาประหยัด

ปี 2546 “จระเข้ พรีเมี่ยม พลัส” กาวยาแนวป้องกันราดำรายแรกของโลกด้วยเทคโนโลยีไมโครแบนเปิดตัวออกสู่ตลาด เพราะมองว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อนทำให้เกิดราดำขึ้นตามกระเบื้องได้ง่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังเป็นการพลิกโฉมวงการยาแนวและยกระดับสู่มาตรฐานใหม่เลยทีเดียว

ในขณะที่ปี 2554 เซอรา ซี-เคียว ปฏิวัติวงการสีซีเมนต์อีกครั้งด้วยการเปิดตัว “จระเข้ คัลเลอร์ซีเมนต์” สีซีเมนต์รายแรกที่ผสานอนุภาคสีลงในเนื้อซีเมนต์ ทำให้ยึดเกาะได้ลึกและทนทาน อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จนกระทั่งปี 2560 จึงเปลี่ยนชื่อจากบริษัท เซอรา ซี-เคียว จำกัด มาเป็น บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมสร้างศูนย์การกระจายสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร ที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี และต่อยอดขยายพอร์ตสินค้าให้ครอบคลุมงานก่อสร้างในแขนงต่างๆ มากขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์ปูกระเบื้อง, ผลิตภัณฑ์เคมีก่อสร้าง, ผลิตภัณฑ์สีจระเข้, ผลิตภัณฑ์งานสาธารณูปโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์กันซึมและงานซ่อมแซมต่างๆ

เดินหน้าสู่ทศวรรษที่ 4 ด้วยนวัตกรรมสินค้าก่อสร้างและผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาแบรนด์จระเข้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่องโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นร้านค้ารายย่อย โมเดิร์นเทรด หรือช่องทางออนไลน์ ทำให้แบรนด์จระเข้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมียอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มสินค้ากาวซีเมนต์และกาวยาแนว สร้างรายได้เฉลี่ยถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับก้าวต่อไปและทิศทางการดำเนินธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ผู้ร่วมก่อตั้งอย่างศุภพงษ์เน้นย้ำว่า จระเข้ยังคงมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าก่อสร้าง เพื่อให้จระเข้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขให้กับผู้ใช้ อีกทั้งยังเดินหน้าตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดกาวซีเมนต์และกาวยาแนวปูกระเบื้อง พร้อมพัฒนานวัตกรรมเคมีก่อสร้างที่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมซ่อมแซมและตกแต่งแบบครบวงจร ตั้งแต่บ้าน อาคาร ไปจนถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าเรือธงของแบรนด์จระเข้

“ดีเอ็นเอของครอบครัวจระเข้คือ ‘นวัตกรรมเพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัว’ ซึ่งเราจะใช้สิ่งนี้เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ โดย core business ของจระเข้ยังคงเป็นกาวซีเมนต์และกาวยาแนว ที่มียอดขายเกือบ 80% ของทั้งหมด ก้าวต่อไปบริษัทจะขยายธุรกิจไปในส่วนของเคมีก่อสร้างและสีจระเข้ ‘SEE Jorakay’ สินค้าน้องใหม่ที่เพิ่งรีแบรนด์ไปเมื่องานสถาปนิกสยามที่ผ่านมา โดยจุดขายคือความเป็นสีธรรมชาติที่ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและรักษ์โลก”

“นอกจากนี้ จระเข้ยังขยายสินค้าออกไปสู่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานอย่าง ประปา การก่อสร้างท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และสะพาน เป็นสินค้าที่ช่วยยืดอายุตัวโครงสร้าง เช่น ปูนรับกำลังอัดสูงสำหรับวางบนรางรถไฟความเร็วสูง วัสดุกันซึมท่อประปา ซึ่งเราเริ่มขายสินค้ากลุ่มนี้ให้กับโครงการต่างๆ ของรัฐบาลแล้วหลายโครงการ รวมถึงให้ความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายด้วย”

บุกตลาดเวียดนามต้องคิดอย่างคนเวียดนาม

ปัจจุบันจระเข้มีช่องทางจำหน่ายทั้งผ่านทางร้านค้า โมเดิร์นเทรดกว่า 300 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทำให้ง่ายต่อการหาซื้อ และที่สำคัญสินค้าแบรนด์จระเข้ไม่ได้มีวางจำหน่ายแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายตลาดไปยังต่างประเทศกว่า 17 ประเทศ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV

เมียนมา กัมพูชา และลาว ถือเป็นตลาดต่างประเทศที่สินค้าของจระเข้สามารถเจาะตลาดและสร้างยอดขายได้เป็นจำนวนมาก แต่ตลาดที่จระเข้หมายมั่นปั้นมือและจะบุกอย่างจริงจังในปีหน้าคือ “เวียดนาม” เพราะเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสการเติบโตสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่ท้าทายสูงเช่นกัน

โดยก่อนหน้านี้จระเข้ได้เข้าไปทำตลาดที่เวียดนามมา 4-5 ปีแล้ว แต่ยังไม่ติดตลาด ซึ่งศุภพงษ์มองว่าเป็นเพราะใช้สิ่งที่เคยทำในเมืองไทยไปใช้ในเวียดนามซึ่งไม่พอดีกับตลาด ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์

“ตลาดเวียดนามแบ่งกันอย่างชัดเจนและปัจจัยด้านราคายังคงเป็นเรื่องหลัก ณ วันนี้ ถ้าเราจะไปบุกตลาดเวียดนาม เราต้องคิดแบบคนเวียดนาม อย่างแรกเลยเวียดนามไม่มีโมเดิร์นเทรดใหญ่ๆ ช่องทางจำหน่ายไม่เหมือนไทย ต้องศึกษาระบบการกระจายสินค้าของเขาใหม่ ดูว่าสื่ออะไรที่คนเวียดนามใช้ แมตชิ่งสินค้าให้เข้ากับเขาทั้งราคาและคุณภาพ ที่สำคัญเราเริ่มใช้คนท้องถิ่นมากขึ้น เพราะเวลาไปคุยกับร้านค้าต่างๆ ในเวียดนาม ภาษาคือสิ่งจำเป็น โดยปีหน้าจระเข้จะบุกตลาดเวียดนามมากขึ้น”

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 10% และภายในประเทศ 90% แต่ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จระเข้จะมุ่งขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ขึ้นเป็น 20% อีกทั้งยังตั้งเป้ารายได้รวมของบริษัทจากเฉลี่ย 3,000 ล้านบาทต่อปี ขยับขึ้นสู่ 4,000 – 5,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี พร้อมผลักดันให้แบรนด์จระเข้ขึ้นแท่นเป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้าที่ผลิตจากซีเมนต์ที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรม

ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว สำหรับ “จระเข้ คอร์ปอเรชั่น” แบรนด์วัสดุก่อสร้างของกลุ่มคนไทย ที่เริ่มจากบริษัทเล็กๆ สู่การพัฒนาจนกลายเป็นผู้นำในธุรกิจวัสดุก่อสร้างกลุ่มสินค้ากาวซีเมนต์ยาแนวและเคมีก่อสร้าง ที่ต้องบอกว่าไม่ได้หวังโตแค่ในประเทศ แต่ยังขยายขอบเขตออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย.

Photo by Maifindpix