วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ดีเดย์ “เปิดประเทศ” โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทย

ดีเดย์ “เปิดประเทศ” โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทย

มาตรการคลายล็อก อันนำไปสู่การเปิดประเทศ คงเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่าเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญกำลังพร้อมที่จะขับเคลื่อนอีกครั้ง หลังจากจอดนิ่งสนิทมาอย่างยาวนาน

ซึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นเสมือนฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจไทยอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในสภาวการณ์ปกติรายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นกว่า 20% ของจีดีพี อีกทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสูงถึง 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด

แน่นอนว่าเมื่อทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจึงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหยุดชะงัก

แม้ว่านโยบายการเปิดประเทศจะเป็นเสมือนโอกาสในห้วงสุดท้ายของศักราชนี้ ที่จะสร้างเม็ดเงินเพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปให้กลับคืนมา ทว่า ประชาชนภายในประเทศเองยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อย

โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลอนามัยโพลเปิดเมือง เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 และพบว่าประชาชนร้อยละ 92.4 พื้นที่ท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด ยังกังวลกับการเปิดประเทศ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกคนเข้มตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อลดเสี่ยงการแพร่กระจายของโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การติดและแพร่เชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น การเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 17 จังหวัดจึงเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นในระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง แต่จากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพล พบว่า ประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวใน 17 จังหวัด ร้อยละ 92.4 มีความกังวลกับการเปิดเมืองเปิดประเทศ โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือ การระบาดระลอกใหม่ 75.80% ประชาชนการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง 49.70% สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด 45.10% กลัวตนเองและครอบครัวจะติดเชื้อ 41.00% มาตรการการคัดครองนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศอาจไม่ดีพอ 39.60% กังวลว่าจะเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.10% จำนวนเตียงไม่พอเพียง 31.70% อื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ,ประสิทธิภาพวัคซีน 2.10%

ซึ่งมาตรการที่ประชาชนคิดว่าควรเพิ่มเพื่อทำให้เชื่อมั่นว่าเปิดเมือง เปิดประเทศแล้วจะปลอดภัยมากที่สุดคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนทั่วประเทศครบ 2 เข็ม ครอบคลุมทุกจังหวัด 70% ขึ้นไป ร้อยละ 72.53 รองลงมาคือ การคุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายตามแนวชายแดนร้อยละ 60.58

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจสถานประกอบการ/กิจการที่ประชาชนกังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ หลังจากเปิดเมือง เปิดประเทศมากที่สุด สถานบันเทิง ผับ บาร์ 89.20% ขนส่งสาธารณะ 43.10% สถานที่ท่องเที่ยว 39.80% สถานศึกษา 39.20% ตลาด 37.40% ห้างสรรพสินค้า 34.10% ร้านอาหาร 28.80% โรงแรม รีสอร์ต 24.00% ร้านสะดวกซื้อ 17.90% ศาสนสถาน 16.40% ไม่กังวลว่าจะมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น 5.50% สถานประกอบการอื่นๆ ที่กังวล 3.10% เช่น สถานที่ทำงาน ร้านนวด ฟิตเนส สนามกีฬา

จากผลสำรวจของกรมอนามัยที่เปิดเผยออกมานั้น ไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยแสดงความวิตกกังวลเมื่อภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศ นั่นเพราะการติดเชื้อหลายระลอกที่ผ่านมาเป็นเครื่องตอกย้ำชั้นดีถึงมาตรการป้องกันทั้งเฉพาะบุคคล และมาตรการจากภาครัฐ ที่เมื่อถึงเวลาหนึ่งมาตรการเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉย และไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง

สถานการณ์ในปัจจุบันคงจะชี้ให้เห็นแล้วว่า หากต้องการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และไม่สะดุดไปกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่จนกระทั่งล็อกดาวน์อีกครั้ง Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล เป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นกว่าเดิม รับคลายล็อกดาวน์และมาตรการเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่มองไว้เดิม หลังการกระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนสิงหาคม 2564 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากผลการเบิกจ่ายภาครัฐที่ออกมาดีกว่าคาดด้วย

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ผลจากการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นนี้ทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน มาเป็น 1.8 แสนคน ดังนั้น ในภาพรวมแล้วจึงทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นจากหดตัว -0.5% มาอยู่ที่ 0.2% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วมและภาระการครองชีพที่สูงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก ตลอดจนความเสี่ยงที่การแพร่เชื้อในประเทศจะกลับมาหลังเปิดประเทศยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นไปอย่างจำกัด

ด้านนางสาวเกวลิน หลังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมองว่าผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะอยู่ภายในปี 2564 โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2564 คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคเกษตร ซึ่งน่าจะกระทบทั้งหมดประมาณ 6-5 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตรที่สำคัญคือ ภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด ดังนั้น โดยรวมแล้ว คาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของจีดีพี ซึ่งน้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2551, 2553 และ 2560 ที่ผ่านมา และได้รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการจีพีดีปี 2564 แล้ว

ส่วนปี 2565 นางสาวณัฐพรมองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 3.7% จากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง

สำหรับผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 2564 นางสาวเกวลินมองว่า ในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปีนี้อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาทต่อลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1%

แต่ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วย

แม้ว่าจะเปิดประเทศแล้ว แต่ปัจจัยแวดล้อมหลายด้านที่ไทยยังต้องเผชิญ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าการเปิดประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลังจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด รายได้การท่องเที่ยวในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีจะจบที่ตัวเลขเท่าไร เครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ จะยังคงทำงานได้ดีเพียงใด การล็อกดาวน์จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตัวแปรสำคัญน่าจะอยู่ที่ Universal Prevention ที่ทุกคนควรยึดไว้ปฏิบัติ

ใส่ความเห็น