วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > New&Trend > ดร.สุเมธชี้ต้องหาทางออกอนาคตข้าวไทย สกสว.ดันท่องเที่ยววิถีชาวนาลาวเวียง

ดร.สุเมธชี้ต้องหาทางออกอนาคตข้าวไทย สกสว.ดันท่องเที่ยววิถีชาวนาลาวเวียง

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาแนะทุกฝ่ายหาทางออกอนาคตข้าวไทยร่วมกันในยุค Disruption ด้าน สกสว.หนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนวิถีชาวนาพอเพียงในเวทีข้าวไทย 2563 ชูจุดเด่นวิถีชาติพันธุ์ลาวเวียงกลุ่มโคกนาศัย ริมแม่น้ำป่าสัก จ.สระบุรี และผลิตภัณฑ์ข้าวเสาไห้ “เจ๊กเชย” ที่หุงขึ้นหม้อไม่บูดง่าย

ผศ. ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ ผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำผลงาน “การท่องเที่ยววิถีชาวนา ชุมชนเสาไห้ สระบุรี” จากโครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานอัตลักษณ์วิถีชาวนากลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวเจ๊กเชย ข้าวห่อ ค็อกเทลลาวเวียง (น้ำขาวจากข้าว) ข้าวเปลือก ข้าวสาร และขนมท้องถิ่น มาร่วมจัดแสดงและให้ผู้มาร่วมงานทดลองชิม ในการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2563 “อนาคตข้าว-อนาคตไทย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีองค์กรพันธมิตร ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อนำข้อคิดเห็นและประเด็นปัญหาของข้าวและชาวนาไทยจากเวทีสาธารณะมาประมวลและนำเสนอแก่ผู้กำหนดนโยบายได้รับทราบ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขามูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีเปิด

ด้านนางวนิดา ดำรงค์ไชย กำนันตำบลม่วงงาม ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ชุมชนเสาไห้มีกลุ่มที่ดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีชาวนา คือ กลุ่มโคกนาศัย จากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนผ่านการวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์วิถีชาวนากลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง จังหวัดสระบุรี และนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบนวิถีพอเพียง ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยจุดเด่นของชุมชน ได้แก่ ตลาดลาวเวียง การขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนเกษตร พืชผักปลอดสารเคมี และการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นต้นแบบการทำนา รวมทั้งบรรยากาศริมแม่น้ำป่าสัก

ผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่น “ข้าวเจ๊กเชย” มีลักษณะเด่น คือ หุงขึ้นหม้อสองเท่าและอิ่มนานกว่าข้าวทั่วไป ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดมีความเรียวยาว เมื่อหุงแล้วข้าวจะสุกร่วนเป็นตัวไม่เกาะเป็นก้อน หุงขึ้นหม้อ ข้าวสุกนุ่ม ไม่แฉะ ไม่แข็งกระด้าง ไม่เหนียวและไม่ยุบตัว เมื่อเป็นข้าวราดแกงไม่บูดง่าย ทิ้งไว้เย็นข้ามวันคุณภาพไม่เปลี่ยน ข้าวเก่าเมื่อนำมาหุงไม่มีกลิ่นสาบ โดยข้าวของกลุ่มผลิตข้าวเจ๊กเชยเริงราง-เมืองเก่าได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคู่กับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q พร้อมรหัสรับรอง ซึ่งได้รับการรับรองจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับบริการทางการท่องเที่ยวของชุมชน ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ (1) กิจกรรมปักข้าวแรก เป็นพิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก เพื่อบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ให้มีความสวัสดิมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ขอโอกาสและมีความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต ในรอบปีปลูก หรือแสดงความกตัญญูแก่พระแม่โพสพ (2) กิจกรรมดำนา เรียนรู้วิธีการดำนา และปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเจ๊กเชย (3) กิจกรรมตำข้าวครกมองโบราณ ร่อนรำ ฝัดข้าว สาธิตการตำข้าว หรือครกกระเดือง แทนการสีข้าว แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตประเพณีของคนลาว ข้าวที่ตำใช้ได้แล้วประมาณ 2,000 ครั้ง (4) กิจกรรมเก็บผักสวนครัวในโคก หนอง นาโมเดล นำผักที่เก็บได้ประกอบอาหารร่วมกับชุมชน อีกส่วนสามารถเก็บผักเพื่อนำไปประกอบอาหาร (5) กิจกรรมล่องแพปริ่มน้ำกินขนมโบราณ ณ ตลาดลาวเวียง ริมน้ำป่าสัก (6) กิจกรรมใส้บาตรยามเช้าริมท้องนา (7) เดินตลาดลาวเวียง โดยกลุ่มเป้าหมายของโคกนาศัยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษาดูงาน ได้แก่ กลุ่มเยาวชนที่มาทำกิจกรรมดำนา และกลุ่มครอบครัวจากกรุงเทพฯ ที่พาลูกหลานมาทำกิจกรรมในช่วงวันหยุด

ทั้งนี้ จังหวัดสระบุรีมีประวัติการปลูกข้าวเป็นเวลายาวนาน เพราะเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ในพื้นที่ภาคกลางที่ได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมเสบียงอาหารและเป็นยุ้งฉางเก็บไว้คราวศึกสงครามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนา รับจ้างและค้าขาย โดยอำเภอเสาไห้เป็นแหล่งเศรษฐกิจใหญ่ของจังหวัดสระบุรี เป็นชุมชนการค้าขายสินค้าเกษตรต่าง ๆ จากพื้นที่ที่ได้รับน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก มีการปลูกข้าวเจ๊กเชย จากการที่ชาวบ้านนำข้าวมาแลกสินค้าที่บริเวณท่าเจ๊กเฮง พ่อค้าคนจีนที่มีน้องชายชื่อ ‘เจ๊กเชย’ คอยควบคุมดูแลการแลกสินค้า และสนใจข้าวพันธุ์ก้นจุด จึงแนะนำให้ชาวนาปลูกขยายผลผลิตแล้วนำมาแลกสินค้ากับเจ๊กเชย ต่อมาชาวนาจึงเรียกข้าวพันธุ์นี้ว่าข้าวเจ๊กเชยจนเป็นที่รู้จักจากปากต่อปาก

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาระบุว่า ในยุต Disruption การปลูกข้าวจะทำแบบเดิมไม่ได้ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตรัสว่าเราจะต้องรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ และเตรียมตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าเราจึงต้องแสวงหาทางออกของปัญหา อนาคตข้าวของไทยต้องมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันทั้งภาครัฐ เอกชน และวิชาการ บนความรู้และมีความรักเป็นตัวผลักดันในการหาทางออกร่วมกันบนฐานประโยชน์สุขของประชาชน

ใส่ความเห็น