วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
Home > Cover Story > อนาคตท่องเที่ยวไทย บนรอยทางความหวังอันเลือนราง

อนาคตท่องเที่ยวไทย บนรอยทางความหวังอันเลือนราง

เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ไม่เป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

โดยเฉพาะไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นในเวลาไม่นาน หลายประเทศที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ต้องนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้เป็นการด่วน ซึ่งเป้าหมายหลักล้วนอยู่ที่การสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดลุกลามจนยากเกินจะควบคุม

ถึงกระนั้นความพยายามของภาครัฐที่จะเปิดประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็เกิดขึ้นภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โครงการที่หลายคนตั้งความหวังว่าจะประสบความสำเร็จ อันจะนำไปสู่การเปิดโครงการแซนด์บ็อกซ์ในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป เช่น จังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สงขลา

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่องและในเดือนกรกฎาคม 2564 การเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงเกิน 1 หมื่นคนในรอบ 10 เดือน หลังจากที่ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เปิดดำเนินการมาครบสองเดือน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้วประมาณ 24,000 คน โดยเป็นการจองห้องพักตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งมีการจองไปกว่า 430,000 คืน

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ตช่วงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า หลังจากเปิดดำเนินการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในเดือนแรกมีรายได้ประมาณ 829 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 58,982 บาทต่อทริป แบ่งเป็นค่าที่พักมากที่สุด 282 ล้านบาท ค่าซื้อสินค้าและบริการ 194 ล้านบาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 175 ล้านบาท บริการทางการแพทย์และสุขภาพ 124 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 54 ล้านบาท

หากพิจารณาถึงตัวเลขรายได้ในเดือนแรก อาจจะพอให้ยิ้มได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทว่า รายได้ดังกล่าวคงไม่สามารถเทียบเคียงกับตัวเลขรายได้ที่เคยเกิดขึ้นในห้วงยามปกติหรือก่อนโควิด

กระนั้นสิ่งที่น่าเป็นกังวลต่ออนาคตการท่องเที่ยวไทยคือ จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ตที่สูงขึ้นมากกว่า 200 คนต่อวัน ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก ศบค. ที่แจกแจงรายละเอียดของผู้ติดเชื้อในพื้นที่แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นประชากรในพื้นที่ มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นนักท่องเที่ยวในโครงการ ซึ่งเมื่อตรวจพบเชื้อนักท่องเที่ยวจะต้องถูกกักตัวในสถานที่ที่กำหนด

รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่เป็นภาพสะท้อนชั้นดีที่บ่งบอกว่า ความเข้มงวดของภาครัฐกำลังด้อยประสิทธิภาพลงหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ หน่วยงานภาครัฐแสดงความขึงขังจริงจังและเข้มงวด ทั้งการตั้งด่านตรวจผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในเวลานั้นอนุญาตเพียงไม่กี่กรณี เช่น การขนส่งสินค้าอาหารอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์รักษาโรค

แน่นอนว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนในธุรกิจการท่องเที่ยวที่เรียกได้ว่าฝากความหวังเอาไว้กับโครงการนี้ยังคงยกการ์ดสูง ด้วยการคงมาตรฐานด้านสาธารณสุขภายใต้เงื่อนไขของ SHA+ ทั้งตั้งจุดตรวจวัดไข้ ในสถานที่ให้บริการ การรักษาความสะอาด รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานภาคบริการต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้วไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างเช่น ปางช้าง Elephant Retirement Phuket ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ในปางเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวชุดใหม่ที่เข้ามาใช้บริการ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เมื่อจับและสัมผัสสิ่งของสาธารณะร่วมกัน เรียกได้ว่ายกการ์ดสูงตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยทั้งของนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ในปาง

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวในอนาคต หากภาคเอกชนยังคงไว้ซึ่งมาตรการและมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในระดับสูงแล้ว คงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะจริงจังและเข้มงวดมากขึ้น กวดขันตั้งแต่ขาเข้าจังหวัด เช่น การตรวจเอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีน ที่ปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชัน เช่น หมอพร้อม ไทยร่วมใจ หรือแอปพลิเคชันจากโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจ เพราะการตรวจเพียงแค่สติกเกอร์ที่ติดหลังบัตรประชาชนไม่สามารถการันตีได้ว่าบุคคลผู้นั้นผ่านการรับวัคซีนมาแล้วจริง

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติที่อาจเดินทางเข้ามาทางเรือ เช่น เรือประมง ซึ่งประเด็นดังกล่าวสร้างความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทยเคยประสบเมื่อปี 2561 และเร่งแก้ไขจนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 2 ทว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2564 ไทยถูกลดชั้นอีกครั้งลงไปอยู่ที่ระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง หมายความว่าภาครัฐควรจริงจังกับปัญหาการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติในทุกมิติ

เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่การถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศ แต่ยังหมายถึงการควบคุมโรคระบาดที่อาจส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องยกระดับมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และเตือนประชาชนในการไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้จะมีการใช้วัคซีนพาสปอร์ตมาช่วยลดอุปสรรคในการเดินทาง แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น อาทิ ชนิดของวัคซีนที่ยอมรับ

ขณะที่บางประเทศแม้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนแล้ว แต่ถ้ามาจากประเทศเสี่ยงสูงก็ยังต้องกักตัว ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกปี 2564 จะหดตัวราว 45 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียง 220 ล้านคน จาก 399 ล้านคนในปี 2563 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกต้องใช้เวลายาวนานขึ้นอย่างน้อยกว่า 4 ปี หรือหลังปี 2568 กว่าที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด

ส่วนตลาดต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือปี 2564 มีความท้าทายมากขึ้น โดยนอกจากไทยใช้มาตรการควบคุมซึ่งไม่เอื้อต่อการท่องเที่ยวแล้ว ทางการหลายประเทศก็ได้ยกระดับคำเตือนประชาชนที่จะมาเที่ยวไทย อีกทั้งตลาดท่องเที่ยวไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมือง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่เหลือปีนี้อาจต่ำกว่าที่เคยคาด โดยทั้งปี 2564 อาจมีจำนวน 1.5 แสนคน จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน โดยหากไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีในพื้นที่เป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวน่าจะทยอยกลับมาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือปีนี้และหลังจากนี้ ปัจจัยสำคัญขึ้นกับการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้การระบาดส่งผลให้พฤติกรรมและความชอบของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยจะให้น้ำหนักการเลือกจุดหมายที่ปลอดภัยจากโควิด มีมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ มองหาสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวแออัด นักท่องเที่ยวไม่น้อยจะใช้เวลาในการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และเมื่อพบแล้วระยะเวลาการจองที่พักและการเดินทางจะสั้นลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2 สัปดาห์หรือไม่ก็ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งน้อยลงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ราว 8-10 สัปดาห์ในช่วงก่อนโควิด

หากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และจังหวัดนำร่องอย่างภูเก็ตคือเป้าหมายสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง คงถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกหลับตาข้างเดียว มองข้ามจุดบอดหรือปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นที่เคยทำมา และเร่งจัดการปัญหาให้หมดไป หากภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังเสียที

ใส่ความเห็น