วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เมื่อคนผวาห้าง แห่เข้าปั๊ม OR ดัน Living Community ฉลุย

เมื่อคนผวาห้าง แห่เข้าปั๊ม OR ดัน Living Community ฉลุย

ปั๊ม ปตท. พลิกรูปแบบหลายตลบหลังจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2545 เริ่มนำธุรกิจ Non-Oil เข้ามาให้บริการในสถานีบริการน้ำมันภายใต้แนวคิด One Stop Service ก่อนรุกขยายคอนเซ็ปต์สู่ Mini Community Mall จนล่าสุด บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ตัดสินใจสร้างแบรนด์ใหม่ PTT Station ผลักดันโมเดล Living Community เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครอบด้านมากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์โควิดที่ผู้คนต้องลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด หลายคนงดเข้าห้างใหญ่ แต่หันมาจับจ่ายในสถานีบริการน้ำมันยุคใหม่ที่มีดีไซน์ทันสมัยและบริการหลากหลายไม่ต่างจากศูนย์การค้าขนาดย่อมๆ

หากสำรวจสถานีบริการ PTT Station โฉมใหม่ โดยเฉพาะสาขาเปิดใหม่จะไม่ใช่แค่ลานกว้างบริการเติมน้ำมัน แต่เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อเติมเต็มร้านค้าและบริการต่างๆ ทั้งศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร สถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ธุรกิจค้าปลีกในเครือ ร้านกาแฟ Café Amazon และเพิ่มร้านอาหารทุกประเภท ทั้งกลุ่มฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารแบรนด์ดังและร้านเอสเอ็มอี เช่น แบล็คแคนยอน เชสเตอร์กริลล์ เอสแอนด์พี เดอะพิซซ่า ร้านเจ้าสัว เอแอนด์ดับบลิว เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี แมคโดนัลด์ ร้านอร่อยดี ร้านราชาคอหมูย่าง โจ๊กสามย่าน

มีบริการดีลิเวอรี่ สาขาธนาคารพาณิชย์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านสปา ร้านเพ็ทช็อป ร้านเสริมสวย บางแห่งเปิดสนามฟุตบอลหญ้าเทียมและฟิตเนสรองรับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ถ้าดูข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 โออาร์มีสาขา PTT Station รวม 2,346 แห่ง ร้าน Café Amazon รวม 3,651 แห่ง ร้านสะดวกซื้อรวม 2,092 แห่ง ทั้งในส่วนร้านจิฟฟี่ของโออาร์และพันธมิตรอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่เพิ่งต่อสัญญาความร่วมมือกับบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) อีก 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ร้านอาหารที่ซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ ได้แก่ ไก่ทอด “เท็กซัส ชิคเก้น” ร้านฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ และแบรนด์ที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ ร้านชา เพิร์ลลี่ ที กระจายไปพร้อมๆ กับ PTT Station สาขาต่างๆ รวมถึงเตรียมงบซื้อแบรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โออาร์ตั้งเป้าหมายให้ PTT Station ทุกแห่ง ใช้แนวคิด Living Community เพียงแต่ปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่และองค์ประกอบของสถานีบริการแต่ละแห่ง เพื่อเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกที่สร้างคุณค่าให้ชุมชนผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยกระดับเป็นสถานีศูนย์กลางของชุมชน เติมเต็มความสุขและเพิ่มคุณภาพชีวิต

แหล่งข่าวจากโออาร์ระบุว่า บริษัทต้องการสร้าง PTT Station เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ไม่ใช่แค่การตอบสนองลูกค้าผ่านสินค้าและบริการที่หลากหลายเท่านั้น โดยเฉพาะบริการชุมชนรูปแบบใหม่ๆ

เช่น เปิดจุดช่วยเหลือเพื่อนเดินทางในสถานีบริการน้ำมัน มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์ช่วยเหลือรถยนต์เบื้องต้น มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน (Roadside Assistance) ให้ที่จอดรถและจุดชาร์จไฟกับรถโมบายสโตรกยูนิต (รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่) และรถมูลนิธิ EMS เพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย ในการบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช

ขณะเดียวกัน ร่วมกับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วยเครื่อง All-in-One วัดความดันชีพจร อุณหภูมิร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วิเคราะห์ภาวะสุขภาพของประชาชน บริการ Telemedicine กรณีประชาชนที่มีอาการไม่สบายและต้องการปรึกษาแพทย์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล บริการ Smart Locker สำหรับรับยาจากโรงพยาบาลโดยตู้รับยาอัตโนมัติ โดยพัฒนาภายใต้ชื่อ “สถานีใส่ใจ” นำร่อง 2 แห่ง คือ PTT Station อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว และ PTT Station อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

นอกจากนี้ พยายามผลักดันโครงการไทยเด็ด เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเด่นในท้องถิ่นที่ผ่านการคัดเลือกของวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกร โดยในปัจจุบันเปิดให้บริการมุมไทยเด็ดใน PTT Station ทั่วประเทศ 150 แห่ง และมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ 201 ราย

ปัจจุบันโออาร์สามารถสร้างสถานีต้นแบบ Living Community (Flagship) ที่มีองค์ประกอบครบ 3 ส่วน คือการสร้างคุณค่าให้กับผู้คน การสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจชุมชน และการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม รวม 9 แห่ง

ได้แก่ PTT Station สาขาสารภี จ.เชียงใหม่ สาขาพิษณุโลก สาขา บจ.หลักเมืองถาวรพาณิชย์ จ.สุพรรณบุรี สาขา บจ.ซุปเปอร์โมเดลเอนเนอร์ยี่ กรุงเทพฯ สาขาเชียงคาน จ.เลย สาขาราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร สาขาหนองโบสถ์ จ.บุรีรัมย์ สาขา บจ.คุณเท่ง (ชะอำ) ปิโตรเลียม จ.เพชรบุรี และสาขา บจ.สโตนออยล์ จ.พัทลุง โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างสถานีต้นแบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สาขาอื่นๆ แม้ไม่ได้เป็นสถานีต้นแบบ แต่เน้นการให้บริการยึดนโยบายเดียวกันตามข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในแง่พื้นที่ ทำเล กลุ่มลูกค้าและชุมชนแวดล้อม

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ ระบุว่า ปี 2564 บริษัทมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันในประเทศเพิ่มอีก 110 สาขา ส่วนในต่างประเทศจากที่เปิดให้บริการใน สปป. ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมา รวม 82 แห่ง จะเปิดเพิ่มเป็น 132 แห่ง และกำหนดแผนระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ใช้งบลงทุนประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจน้ำมัน 35% ธุรกิจค้าปลีก (Non-Oil) 30% ธุรกิจต่างประเทศ 13% ที่เหลือเป็นธุรกิจ New S-Curve ที่มุ่ง 2 ด้านหลัก คือ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ และธุรกิจ MOBILITY

แน่นอนว่า เมื่อเบอร์ 1 พัฒนาโมเดลไปไกลมาก ฝั่งคู่แข่ง ทั้งบางจากและพีทีจีต่างต้องเร่งสปีดฉีกกลยุทธ์ครั้งใหญ่ โดยค่ายบางจากตั้งเป้าหมายขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มอีก 100 สาขา จากปีก่อนอยู่ที่ 1,233 สาขา และเปิดสาขารูปแบบ Unique Design ที่มีการออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์แปลกใหม่เพิ่มเป็น 59 สาขา จากปัจจุบัน 39 สาขา หลังได้รับฟีดแบ็กดีมาก สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าและเพิ่มยอดขายมากกว่า 10% โดยเน้นทำเลถนนสายหลัก หรือหัวเมืองหลัก

ส่วนร้านกาแฟอินทนิลคาดขยายเพิ่มอีก 150 สาขา จากปีก่อน 673 สาขา และสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ในสถานีบริการน้ำมันบางจากให้ได้ 152 แห่ง เน้นบนเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว

ด้านบริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) วางงบลงทุนปีนี้ 4,000- 4,500 ล้านบาท ขยายทั้งธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil แบ่งเป็นการขยายสถานีบริการน้ำมัน “พีที” และแก๊ส LPG รวม 100-150 สาขา และธุรกิจ Non-Oil จำนวน 120 สาขา ทั้งร้านสะดวกซื้อแมกซ์มาร์ทและร้านกาแฟพันธุ์ไทย หรือภายในปีนี้จะมีทั้งสิ้น 3,160 สาขา แบ่งเป็น สถานีบริการน้ำมัน 2,030 สาขา สถานีบริการ LPG รวม 260 สาขา ธุรกิจ Non-Oil รวม 870 สาขา

คงต้องยอมรับว่า การเข้าสถานีบริการยุคใหม่อาจไม่ใช่เพื่อเติมน้ำมัน แต่สามารถเป็นจุดเช็กอินของนักชอป นักกิน หรือแม้กระทั่งขอความช่วยเหลือยามค่ำคืนได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น