วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สงกรานต์ ’64 กับโควิดระลอก 3 ความซบเซาที่มาพร้อมความตระหนก

สงกรานต์ ’64 กับโควิดระลอก 3 ความซบเซาที่มาพร้อมความตระหนก

อีกปีที่เทศกาลสงกรานต์ของไทยจะดำเนินไปด้วยรูปแบบวิถีใหม่ หรือ New Normal เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยระอุขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้อาจดับฝันของบรรดาผู้ประกอบการเลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ภาครัฐประกาศเพิ่มวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 12-15 เมษายน โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการจับจ่ายของภาคประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการแบกความหวังและรอคอยให้เทศกาลแห่งความสุขนี้เดินทางมาถึงโดยเร็ว เพราะนั่นหมายถึงช่วงเวลาที่สามารถคาดหวังรายได้ที่จะเข้ามา ทว่า เพียงแค่พริบตาเดียว ความหวังที่ว่าดูเหมือนจะหลุดลอยและแทบจะสูญสลายไป

หลังจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน ต้องยอมรับว่าด้านสาธารณสุขของไทยสามารถควบคุมวงการแพร่ระบาดให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ เหมือนที่เคยทำมาได้แล้วในการระบาดครั้งแรกและครั้งที่สอง

ทว่า ครั้งนี้อาจสร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนมากพอสมควร เมื่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 นี้ กระจายอยู่ในหลายวงการ เช่น กลุ่มพริตตี้-พีอาร์ กลุ่มศิลปิน-นักแสดง กลุ่มนักการเมือง และวงการแพทย์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนทั่วไปอาจมีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาจากการระบาดระลอก 3 คือ บรรยากาศในช่วงสงกรานต์ที่หลายคนคาดหวังว่าจะคึกคักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการท่องเที่ยวและการจับจ่าย อาจจะเงียบเหงาและซบเซากว่าเดิม

เหตุการณ์ในครั้งนี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญของการได้มาซึ่งรายได้ในอนาคตของประชาชน ไม่ว่าจะในฐานะของผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไป แน่นอนว่าตัวเลขรายได้เป็นเหตุผลสำคัญของการระมัดระวังการใช้จ่าย

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เฉลี่ยต่อคนอาจอยู่ที่ 5,700 บาท (คำนวณที่วันหยุดเฉลี่ย 6 วัน) ส่งผลให้เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ยังคงหดตัว 4.0 เปอร์เซ็นต์ และไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 2562 โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารมากที่สุดอยู่ที่ 9,795 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนวันหยุดเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ปรับตัวลดลงทั้งหมด

ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และความเสี่ยงในการไม่มีงานทำหรือภาระค่าครองชีพ สะท้อนแนวโน้มสถานการณ์กำลังซื้อในระยะข้างหน้าจึงยังมีความเปราะบาง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเวลาและรูปแบบที่เหมาะสมจึงน่าจะยังเป็นกลไกที่สำคัญในระยะนี้

ในขณะที่ผู้ประกอบการที่สามารถบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นทางมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น มีระบบสั่งอาหารออนไลน์และรับได้ที่ร้าน จองโต๊ะล่วงหน้า จัดคิวซื้อสินค้า การรักษาความสะอาดในร้าน และเว้นระยะห่างโต๊ะที่นั่ง ควบคู่ไปกับโปรโมชั่นด้านราคา น่าจะมีรายได้เข้ามาช่วยประคองธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าวได้บ้าง

เนื่องจากผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมมาซื้ออาหารกลับไปฉลองที่บ้านมากขึ้น และลดเวลาการอยู่นอกบ้าน ส่งผลให้ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการของรัฐโดยเฉพาะร้านที่เน้นจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม วัตถุดิบสำหรับนำไปปรุงอาหารที่บ้าน น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการฯ รวมถึงการสั่งอาหารผ่าน Good Delivery ที่มีความสะดวกสบาย ทำให้ผู้บริโภคยังคงเลือกใช้บริการ สอดคล้องไปกับผลสำรวจที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกสังสรรค์รับประทานอาหารที่บ้าน

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารในห้างฯ ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์จากโครงการของรัฐ เนื่องจากมีความสะดวกครบครัน อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่จะเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเพียงบางมื้อ และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน ดังนั้น ทั้งร้านอาหารและร้านค้าจะต้องปรับกลยุทธ์ เช่น เพิ่มเมนูอาหารสำหรับปรุงรับประทานที่บ้าน อาหารชุดสำหรับครอบครัว สินค้าราคาพิเศษ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมดังกล่าว

แม้ว่าปีนี้จะมีวันหยุดสงกรานต์ตามปกติ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้จะคงหดตัวและยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องไปกับภาพรวมของสถานการณ์ค้าปลีกทั้งปีที่อาจยังไม่ฟื้นตัว ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคาเป็นหลัก โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากมาตรการฯ สิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจที่ยังจะต้องเน้นกลยุทธ์การออกโปรโมชั่นและสร้างการรับรู้ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มเติม รวมทั้งยังต้องติดตามการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงเวลาที่เหลือของปีต่อไป

โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการสร้างประสบการณ์นอกร้านค้า ที่ถึงแม้อาจจะยังมีสัดส่วนยอดขายน้อยกว่าช่องทางหน้าร้าน โดยควรมุ่งเน้นสร้างการรับรู้กับลูกค้าผ่านช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อต่อไป รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นในช่วงแคมเปญพิเศษต่างๆ ผ่านช่องทาง E-Marketplace และ Social Commerce ก็ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าถึงลูกค้าและช่วยกระตุ้นยอดขายได้

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อระลอก 3 จะเพิ่มมากขึ้นและตัวเลขแตะหลักร้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ ศบค. ยังไม่มีการออกประกาศห้ามเดินทางออกต่างจังหวัด และทำเพียงแค่ขอความร่วมมือ หากเป็นไปได้ให้งดกลับภูมิลำเนา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโควิดเท่านั้น

ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในเดือนเมษายน 2564 มีความต้องการใช้ธนบัตรของประชาชนอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกตินั้น ธปท. ได้พิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายปกติเป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2563 ที่มีการเลื่อนวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และใกล้เคียงกับปี 2562 โดยสะท้อนมาตรการภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในขณะที่แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศช่วงสงกรานต์ปี 2564 น่าจะดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากวันหยุดยาว และการออกแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จากการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกี่ยวกับแผนท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปีนี้ พบว่า กลุ่มที่ไม่มีแผนท่องเที่ยวต่างจังหวัดคิดเป็น 40.1 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีแผนท่องเที่ยวต่างจังหวัดคิดเป็น 39.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 20.0 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่แน่ใจ

ทั้งนี้คาดว่า ในช่วงหยุดยาว 9 วัน ระหว่างวันที่ 10-18 เมษายน 2564 น่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 3.84 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัวราว 30.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งยังไม่มีการระบาดของโควิด ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 1.59 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 37.2 เปอร์เซ็นต์ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,150 บาทต่อทริป ลดลงจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปกติซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 4.900 บาทต่อทริป โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเลือกเดินทางระยะใกล้ เดินทางโดยรถส่วนตัว ค่าที่พักปรับลดลงจากการแข่งขันด้านราคา รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก

นับจากช่วงเวลานี้ไป สิ่งที่ต้องจับตาดู คือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เกิดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ที่เหมือนจะเป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดระลอก 3 จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหรือไม่ และหลังหมดวันหยุดยาวสถานการณ์เหล่านี้จะเป็นอย่างไร เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ คือตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย และมาตรการของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดช่วงที่เหลือของปี จะทำให้ไทยมีโอกาสแค่ไหนที่จะฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจ

ใส่ความเห็น