วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เดินหน้า ‘บางกอกเวิลด์’ จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายเติมเต็ม สยามพาร์ค

เดินหน้า ‘บางกอกเวิลด์’ จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายเติมเต็ม สยามพาร์ค

แม้วิกฤตโควิดที่ยาวนานมากกว่า 1 ปี ส่งผลให้โครงการบางกอกเวิลด์ (Bangkok World) ต้องเลื่อนกำหนดการเปิดออกไปอีก 1 ปี หรือจะเปิดภายในสิ้นปี 2565 โดยถือเป็นอภิมหาโครงการที่ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ ประกาศเดินหน้าทุ่มงบอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างให้ Siam Amazing Park เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ครบวงจรของคนไทยและต่างชาติ

ที่สำคัญ นี่จะเป็นมรดกธุรกิจชิ้นสุดท้ายในชีวิต เพื่อส่งต่อทายาทรุ่นต่อไป และเติมเต็มความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากขึ้น

จิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา หรือคุณเก๋ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารจัดการการโครงการบางกอกเวิลด์ บริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด ทายาทสาวของบิ๊กสวนสยาม กล่าวกับ “ผู้จัดการ360” ว่า โครงการบางกอกเวิลด์วางศิลาฤกษ์เมื่อปี 2561 การก่อสร้างล่าสุดคืบหน้าต่อเนื่อง แต่อาจล่าช้ากว่ากำหนด เพราะมีการขยับเลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกิดวิกฤตโควิด และประเทศไทยยังเจอผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวไทยที่กลุ่มทัวริสต์หายไป 1 ปีแล้ว ร้านค้าต่างๆ ไม่มีกำลังทรัพย์ลงทุนเปิดร้านใหม่ ผลกระทบยิ่งใหญ่มากสำหรับนักลงทุนและธุรกิจแบบสวนสยามด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโครงการทุกอย่างเดินหน้าตามแผนเดิม ภายใต้แนวคิด The Best of Amazing Bangkok เพื่อตอบโจทย์นักเดินทางที่มีเวลาจำกัด โดยจำลองอาคารที่สถาปัตยกรรมโดดเด่นของพระนคร จำนวน 13 อาคาร และสถานที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ เช่น ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง สำเพ็ง คลองถม พาหุรัด ไชน่าทาวน์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ห้างแบดแมนแอนด์โก (กรมประชาสัมพันธ์) ห้าง บี. กริมแอนด์โก อาคารสยามกัมมาจล เสาชิงช้า บ้านพระอาทิตย์ เรือนขนมปังขิง ป้อมพระสุเมรุ และทางเข้าจำลองประตูสามยอด สัญลักษณ์ของเมืองบางกอกที่ไม่มีในปัจจุบันแล้ว

แต่ละอาคารจะมีกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนประเภทต่างๆ เช่น บางกอกเวิลด์ฟู้ดฮอลล์ (ศาลาเฉลิมกรุง) เป็นศูนย์รวมอาหาร ทั้งภัตตาคารเก่าแก่ ร้านอาหารขึ้นชื่อจากย่านเก่าต่างๆ อาหารพร้อมรับประทาน อาหารซื้อกลับบ้าน

บางกอกออร์แกนิกมาร์เก็ต (ห้างแบดแมนแอนด์โก) เป็นศูนย์รวมสินค้าปลอดสารพิษ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม บริการด้านสุขภาพต่างๆ

บางกอกโฮมคราฟท์มาร์เก็ต (ห้าง บี. กริมแอนด์โก) จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนประเภทหัตถกรรม งานจักสาน เครื่องใช้ในบ้าน นอกจากนี้ มีศูนย์รวมเสื้อผ้า อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา มีห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม โรงละครแสดงศิลปวัฒนธรรมพร้อมรับประทานอาหาร รวมถึงจุดเช็กอินที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของพระนคร

จิรวรรณเล่าว่า ตอนแรกลูกๆ ทุกคนไม่เห็นด้วยกับผู้เป็นพ่อ เพราะการสร้างอาคารศิลปวัฒนธรรมไทยค่าก่อสร้างมหาศาล ทุกส่วนของตึกเป็นงานละเอียดมาก ขณะที่หากสร้างงานโมเดิร์น การลงทุนจะลดต่ำลงมาก แต่สุดท้ายทุกคนต้องยอมแพ้เจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของไชยวัฒน์

“ท่านอยากทำเมืองพระนคร ท่านอ่านหนังสือประวัติศาสตร์และชื่นชมหลงใหลในเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมในยุครัชกาลที่ 5 เห็นความสวยงามในอดีตของประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง อยากนำกลับมาฟื้นฟูสร้างไว้ที่นี่ให้ลูกหลานได้เห็นความสวยงามของตึกรามบ้านช่องที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นตึกสูงสไตล์โมเดิร์นหมด จึงอยากเก็บความสวยงาม เสน่ห์ของเมืองไทยไว้ที่นี่ ให้ต่างชาติและคนไทยรุ่นหลังได้เห็น”

ที่สำคัญ ท่านวางไว้เป็นโปรเจกต์ชิ้นสุดท้ายในชีวิตการทำงานตลอด 80 ปี เนื่องจากสุขภาพเริ่มไม่ค่อยดี มีอาการกระดูกทับเส้นประสาทเนื่องจากโหมงานหนักตั้งแต่เล็ก จึงอยากทำโครงการนี้เป็นอนุสรณสถานให้คนรุ่นหลัง และอยากช่วยพัฒนาชุมชน สนับสนุนสินค้าโอทอป ซึ่งเกิดยากมาก เนื่องจากไม่ได้ซื้อขายง่ายเหมือนสินค้าที่ผลิตในโรงงาน หรือต่อให้ขายดีมาก แต่มีวอลุ่มจำกัด และไม่เหมือนการขายบ้าน 1 หลัง ราคา 12 ล้าน 7 ล้าน หรือ 20 ล้าน ได้กำไรคืนทุนแล้ว ส่วนงานโอทอป สมมุติชิ้นหนึ่ง 2,000 บาท กำไรแค่ 300 บาท จะต้องขายกี่ชิ้นถึงจะคืนทุนตึกที่สร้าง

“เราเป็นผู้บริหารพื้นที่บางกอกเวิลด์ ส่วนคุณพ่อเป็นเจ้าของแนวคิดและควบคุมการก่อสร้าง ปรากฏว่าถกเถียงกันหลายรอบ แต่ดูเหมือนยิ่งถกเถียงเรายิ่งซึมซับแนวคิดต่างๆ จนเกิดเจตนารมณ์แรงกล้าเหมือนคุณพ่อ และพยายามประยุกต์ไอเดียของคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความลงตัวและเป็นสยามอะเมซิ่งพาร์ค ทุกคีย์เวิร์ดมีคำว่า สยาม สะท้อนจิตใจลึกๆ คุณพ่อภูมิใจในสยามประเทศ ยิ่งมีภาพบางกอกเวิลด์ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ยิ่งใช่ในสิ่งที่เขาคิดและฝัน”

เหนือสิ่งอื่นใด จิรวรรณย้ำว่า ผู้เป็นพ่อสามารถสร้าง Passion ให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอเล็งเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยที่ค่อยๆ เลือนหายไป เห็นมูลค่าของสินค้าโอทอป 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำเป็นไม่กี่คนและเป็นคนแก่ทั้งนั้น ถ้าสูญหายจากรุ่นนี้จะไม่มีทางกลับมาได้อีก เพราะไม่มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเหมือนครอบครัวไทยสมัยก่อน เหมือนการทำนาแบบดั้งเดิมเริ่มหายไปจากวิถีชีวิตคนไทย โครงการบางกอกเวิลด์จึงเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มเจตนารมณ์ครั้งสุดท้ายของไชยวัฒน์ และยังเติมเต็ม “สยามพาร์คอะเมซิ่งซิตี้” ให้กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น