วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Green > Eco Life > บอละเวน ความสมบูรณ์แห่งลาวใต้

บอละเวน ความสมบูรณ์แห่งลาวใต้

 

หลายคนมองว่าจุดอ่อนของ สปป.ลาว คือเป็นประเทศที่มีดินแดนปิดเพราะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ถ้าพิจารณาในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ หลายพื้นที่ของ สปป.ลาวเป็นดินแดนที่ให้คุณค่าแก่ธรรมชาติของภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่อย่างไม่ปิดกั้นเลยทีเดียว

ดังเช่นที่ สปป.ลาวเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เป็นผู้ให้สูงสุดแก่แม่น้ำโขง เพราะเป็นดินแดนที่ยังคงความสมบูรณ์ของป่าไม้ ไว้มากที่สุด ภูเขาปกคลุมด้วยป่าเป็นแหล่ง กำเนิดของสายน้ำน้อยใหญ่ต่างๆ ในลาว เป็นท่อน้ำที่ทำหน้าที่เติมเต็มความสมบูรณ์ ให้กับแม่โขงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นขณะไหลผ่าน สปป.ลาว ทำให้แม่น้ำสายนี้ ยังคงไหลรินให้ความสมบูรณ์ต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนามและหล่อเลี้ยงหลายพื้นที่ของไทย ถือเป็นการเผื่อแผ่ความสมบูรณ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ปิดล็อกเหมือนลักษณะภูมิประเทศ เป็นความเอื้ออาทรตามธรรมชาติที่ลาวแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านมาแสนนาน

แม่น้ำโขงมีความยาว 4,480 กิโล เมตร ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงคนใน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ช่วงตอนกลางของลำน้ำที่ไหลผ่านประเทศไทย ทุกปีจะต้องประสบปัญหา สภาพน้ำแห้งขอด บางช่วงที่เป็นพรมแดนกั้นเขตไทย-สปป.ลาว กลายเป็นพื้นดินที่เดินถึงกันได้ในฤดูแล้ง จนเป็นที่หวั่นเกรงกันว่าแม่น้ำสายนี้จะยังคงไหลไปหล่อเลี้ยงทั้ง 6 ประเทศนี้ได้เหมือนเดิมอีกนานแค่ไหน

นี่คือหนึ่งในความกังวลที่ทำให้การก่อสร้างเขื่อนในแขวงไซยะบุรีของลาว ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต้องเผชิญ กับปัญหาระงับการก่อสร้างเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการลดลงหรือสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผู้คนทั่วโลกตระหนักมากขึ้นทุกวันว่า มีคุณค่าต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์มากกว่าสิ่งก่อสร้างใดๆ

จากแขวงตอนเหนืออย่างไซยะบุรี 4 แขวงทางใต้ของลาว ซึ่งประกอบด้วย จำปาสัก เซกอง อัตปือ และสาละวัน พื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีสภาพความสมบูรณ์ของป่าไม้และเป็นแหล่งให้น้ำแก่แม่น้ำโขงตอน ปลายก่อนจะไหลผ่านไปยังกัมพูชาและเวียดนามเช่นกัน ที่สำคัญหล่อเลี้ยงความสมดุลของระบบนิเวศซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตและธรรมชาติของชาวกัมพูชาและเวียดนามไว้นับตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน

หากพูดถึงพื้นที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของ สปป.ลาว ก็ต้องนึกถึงปากซอง (Pakxong) ของเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก หรือที่ชาวลาวเรียกว่า “บอละเวน” ซึ่งเป็น ชื่อเรียกที่ราบสูงแห่งนี้ในภาษาอังกฤษว่า Bolaven Plateau

คำว่าบอละเวน เป็นชื่อของชนเผ่าละแว หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่มากที่นี่อีกเช่น กะตู กะตาง และอาลัก  

บอละเวน นอกจากเป็นแหล่งปลูกกาแฟชั้นดี เพราะมีพื้นดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุ จากการเป็นพื้นที่ภูเขาไฟเก่าที่ดับสนิทไปแล้วและอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000-1.350 เมตร ความสมบูรณ์ของดินและฝนของที่นี่มากถึงขนาดที่ชาวบ้านยืนยันว่าเอาเมล็ดพันธุ์อะไรโยนลงดินก็งอกได้เอง พืชผักต่างๆ ที่จำหน่ายในตลาดของเมืองปากซองก็ล้วนมาจากบริเวณนี้ที่เรียกว่าดงบอละเวนซึ่งรวมถึงพื้นที่โดยรอบ บางส่วนมีมากและสามารถส่งออกไปขายทั้งในไทยและเวียดนาม

พืชหลักที่ปลูกในพื้นที่คือกาแฟ ซึ่งนำเข้ามาเผยแพร่โดยชาวฝรั่งเศสสมัยเข้ามาปกครองลาวในอดีต พร้อมกับใช้ที่นี่เป็น เมืองตากอากาศ และเหลือทิ้งวัฒนธรรมนี้ไว้ ทำให้บอละเวนเป็นแหล่งปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมถึงนายทุนที่เข้ามาจับจองพื้นที่ ปลูกกาแฟเพื่อการค้า

ความสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้การปลูกกาแฟที่บอละเวน ไม่ต้องการการดูแลอะไรนอกจากการปลูก และเก็บเกี่ยว ไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ย เพราะดินดีและฝนชุก ด้วยความเป็นที่สูง ป่าไม้เยอะ ฝนชุก ทำให้ที่นี่มีแค่ 2 ฤดู หนาว 6 เดือน ฝน 6 เดือน ต่างจากสภาพอากาศ ทั่วไปในลาวที่จะมี 2 ฤดูเหมือนกันแต่เป็นฤดูฝนกับฤดูแล้งเท่านั้น

ชาวบ้านที่อาศัยในดงบอละเวนทุกบ้านจึงมีต้นกาแฟปลูกทิ้งไว้ข้างบ้านเป็นสัญลักษณ์ถ้วนหน้า เรียกว่าถ้าเป็นคนปากซองต้องมีต้นกาแฟอยู่ข้างบ้าน

นอกจากผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของ สปป.ลาวอย่างดาวคอฟฟี่ของดาวเฮือง ลิดดัง และ Sinounk ของสีสะหนุก สีสมบัด ที่มีไร่กาแฟในบริเวณนี้ ปัจจุบันเริ่มมีนักธุรกิจจากไทยเข้าไปเป็นเจ้าของไร่กาแฟขนาดใหญ่ในบอละเวนเพื่อเตรียมธุรกิจไว้รอรับการเปิดตัวของเออีซีในปี 2558 แล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ กลุ่มทุนใหญ่อย่างไทยเบฟและพันธมิตร รวมถึงเข้าไปซื้อกิจการรีสอร์ตหรูในพื้นที่ เพราะเล็งเห็นโอกาสและ ศักยภาพทางเศรษฐกิจ 

ความสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้ธุรกิจกาแฟลาวสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการส่งออกเมล็ดกาแฟภายใต้จุดขายของการเป็นกาแฟออร์กานิก มีการขอใบรับรองว่าเป็นกาแฟที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเมีใดๆ ในการส่งสินค้าสู่ตลาด ทำให้จำหน่ายได้ราคาในตลาดใหญ่ อย่างสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

นอกจากนี้กาแฟลาวยังมีข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางการค้าอื่นๆ ด้วยเช่นการเป็น 1 ใน 48 ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) ที่ได้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีและไม่มีการกำหนดโควตาสินค้านำเข้า ทุกประเภทภายใต้โครงการEverything But Arm (EBA) จากสหภาพยุโรป รวมถึง การนำเข้ากาแฟจากลาวภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) จากข้อตกลงเดิมกาแฟจัดอยู่ในหมวดบัญชีสินค้าอ่อนไหวที่มีการเก็บภาษีเพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ ภายใต้ข้อตกลงใหม่ก็มีกำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าจะไม่มีการเก็บภาษี หรือเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558 อีกด้วย การลงทุนปลูกกาแฟของกลุ่มทุนไทย จึงถือเป็นการรุกของภาคเกษตร เพื่อรับมือการเปิดอาเซียนที่สร้างข้อได้เปรียบจากการเข้าถึงพื้นที่แหล่งผลิตที่มีศักยภาพ

ในแง่ชื่อเสียงจากแหล่งผลิต กาแฟ จากแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินที่ให้ผลผลิตดีและเป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มขยายการผลิตได้อีกมากนี้ ก็ยิ่งทำให้กาแฟลาวมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ผลิตจากที่อื่นๆ ในอาเซียนด้วยกัน และมีชื่อเสียงในตลาดโลกมากกว่ากาแฟจากไทย โดยเฉพาะมีความได้เปรียบในแง่ต้นทุน การผลิตที่ถูกกว่าเพราะประหยัดทั้งค่าปุ๋ยและสารเคมี ค่าแรงงาน แต่ได้ผลผลิตต่อไร่สูง

คนฝรั่งเศสเคยตั้งฉายาให้กับความ สมบูรณ์ของบอละเวนหรือปากซองไว้ว่าเป็น “แผ่นดินทองคำ” ก็เพราะมองเห็นทั้งคุณค่า ของทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ สถานที่เหมาะกับการพักผ่อน และเป็นแหล่งให้ผล ผลิตทางการเกษตรชั้นยอด เป็นคำกล่าว ที่ไม่เกินจริงเลยสักนิด เพราะจนถึงวันนี้บอละเวนก็ยังคงสภาพเช่นคำเปรียบเทียบนี้ 

คนลาวก็มีชื่อที่เรียกขานปากซองอีกชื่อหนึ่งว่า “ภูเทวดา” ซึ่งอธิบายถึงคุณค่า ของสภาพพื้นที่ที่เปรียบเหมือนมีเทวดาคอย ช่วยดูแลพืชผลเช่นกัน นอกจากความสมบูรณ์ของดินแล้ว ภูมิประเทศเป็นที่ราบ สูง ความชื้นสูง และฝนชุก ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกที่สวยงามอยู่มากในพื้นที่ บอละเวนจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกสถานะหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ของลาวด้วย

ตาด หรือน้ำตกที่คนลาวใช้เรียกน้ำตกจากภูเขาที่สวยงามในพื้นที่มีอยู่หลาย แห่งที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ตาดฝาน ตาดเยือง ตาดผาส้วม ถ้าเป็นคำว่าน้ำตก คนลาวจะใช้เรียกน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำโขง น้ำตกเหล่านี้แม้จะอยู่ในที่สูงแต่ก็อยู่ไม่ไกล จากเขตเมืองปากซอง ทั้งยังเป็นแหล่งรวมของพันธุ์ไม้ป่าที่สมบูรณ์ บางพันธุ์กลายเป็น พันธุ์ไม้หายากในไทยแล้ว เช่น กล้วยไม้ที่ขึ้นในที่อากาศเย็นของภูสูงตระกูลต่างๆ และพืชตระกูลเฟิร์น ฯลฯ แต่ที่นี้หาดูง่าย

แม้จะมีธรรมชาติหลากหลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีคอนพะเพ็งหรือหลี่ผีอันลือชื่อที่ไม่ไกลจากบอละเวนมากนัก ยังมีมรดกโลกอย่างวัดภู ที่อยู่ในแขวงเดียวกัน แต่ลาวก็ยังสร้างสิ่งจูงใจไว้ในพื้นที่แขวงจำปาสัก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้น ด้วยการตั้งกาสิโน เพิ่มขึ้นใกล้ชายแดนที่เมืองปากซองอีกหนึ่งแห่ง 

พืชเศรษฐกิจอันดับสองที่ทำรายได้ให้ สปป.ลาวรองจากกาแฟจากปากซองคือชา ซึ่งปัจจุบันปลูกได้ชนิดเดียวคือ ชาเชียว แยกเป็นสองประเภทคือชาใบและ ชายอด เจ้าของส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจลาวเชื้อสายเวียดนาม

ผลผลิตทางเศรษฐกิจอื่นที่เหลือก็ยังคงอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรจากพื้นที่ ได้แก่ การส่งออกพืชผักปลอดสารพิษ ที่ส่งขายไปฝั่งไทยได้จำนวนมาก เช่น กะหล่ำปลี ฟักแม้ว หรือมะระหวาน กล้วย ใบตอง ส่งไปมากที่สุดที่จังหวัดอุบล ซึ่งมีการผลิตหมูยอจำนวนมาก นักท่องเที่ยวทั่วไปมีโอกาสได้พบเจอรถบรรทุกกล้วยและใบตอง เสมอบริเวณด่านช่องเม็ก

ในอนาคตเมื่อ สปป.ลาวพัฒนา การเติบโตทางเศรษฐกิจและทำหน้าที่ส่งสินค้าเกษตรป้อนเพื่อนบ้าน รวมทั้งคอยต้อนรับผู้มาเยือนที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอันสวยงาม สิ่งที่ต้องระวังเพื่อรักษาการเติบโตให้ยั่งยืนดังเช่นการที่บอละเวนได้หล่อเลี้ยงคนมามากมายและยาวนานต่อไปได้ ก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลิตผลทางการเกษตรและใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมด้วยการรักษาสมดุลของระบบนิเวศต่อไปด้วย

หากหวังพึ่งเทคโนโลยีทางการเกษตรและความทันสมัยดังเช่นการพัฒนาของประเทศอื่น เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ที่มากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการปรับตัวของธรรมชาติ ปล่อยให้ธรรมชาติเสียสมดุล ผลประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับก็จะลดลงเช่นกัน เป็นการสูญเสียที่มนุษย์ฉลาดไม่พึงปล่อยให้เกิดขึ้นเพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วมากมายว่าระหว่างความเจริญทางวัตถุและความร่ำรวยในทรัพยากรธรรมชาติอะไรคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์มากกว่ากัน