วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > Green > Green Mirror > โลกป่วย โรคติดต่อเบ่งบาน

โลกป่วย โรคติดต่อเบ่งบาน

 

ทุกวันนี้สถานการณ์โรคติดต่อรุนแรงขึ้นทุกวัน ต้นเหตุของโรคติดต่อที่รุนแรงกลับมาเกิดขึ้นมากมายมีผลมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนสภาพธรรมชาติและการเพิ่มขึ้นของประชากร

เป็นที่แน่ชัดว่าโลกเราจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ มีการศึกษาคาดการณ์จากหลายสำนักหลายองค์กรทั่วโลกที่เตือนภัยคุกคามและสร้างความตระหนักที่จะตั้งรับในผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ในผลกระทบเหล่านี้มีผลต่อชีวิตมนุษย์โดยตรงก็คือภัยคุกคามที่เกี่ยวกับโรคติดต่อ ภาวะสุขอนามัย และแหล่งน้ำแหล่งอาหาร

นอกจากภาวะโลกร้อนแล้ว จำนวนประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องไปอย่างน้อยก็อีก 50 ปีข้างหน้า ฉะนั้นความต้องการ สิ่งจำเป็นต่อชีวิตก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย แต่แหล่งทรัพยากรที่เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยก็มีอยู่จำกัดและยังถูกคุกคามด้วยภาวะโลกร้อนอีก ปัญหาจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และเป็นลูกโซ่เกี่ยวโยงกัน 

ตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็วรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น จากสภาพป่า สภาพธรรมชาติ มาเป็นเมือง เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นเขื่อน เป็นถนนหนทาง เป็นอุตสาหกรรม เป็นเหมืองแร่ ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นความจำเป็น (แทรกซึมด้วยผลประโยชน์ ธุรกิจของคนบางกลุ่ม ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยอย่างไม่ยั่งยืน) แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

การหวนกลับมาของโรคที่อาศัยพาหะ

ในส่วนของโรคติดต่อที่แพร่ขยายขึ้นจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นและภัยพิบัติที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป โรคติดต่อที่อาศัยพาหะ เช่น ยุง แมลงวัน หรือตัวกลาง เช่น น้ำ อาหาร จะเกิดได้ง่ายและรวดเร็วมาก จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โรค ดังกล่าว เช่น มาลาเรีย อหิวาต์ ล้วนเป็นโรค ที่เมืองไทยรู้จักกันดี 

โรคเหล่านี้เคยถูกปราบปรามโดยยาและระบบสาธารณสุขอย่างได้ผล แต่กำลังจะหวนกลับมาอีกแน่นอน เพราะอะไร เพราะ แมลงเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดผลทางชีวภาพต่อวงจรชีวิตและการแพร่ขยายได้มาก มีการยืนยันจากการศึกษาวิจัยว่า มาลาเรียมีความไวต่ออุณหภูมิและสภาพการเปลี่ยน แปลงของพื้นที่มาก เช่น หากอุณหภูมิสูงขึ้น เพียง 0.5 องศาเซลเซียส ความชุกชุมของประชากรยุงอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 30-100% อันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “biological amplification” หรือสภาวะการขยายตัวทางชีวภาพแบบพหุคูณ    นอกจากนั้นโรคระบาดจากเชื้อไวรัสก็แพร่ขยายตามไปด้วย เช่น โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคชิคุน กุนย่า (Chikungunya)

โรคติดต่อจากภาวะน้ำท่วมและฝนแล้ง

ภาวะน้ำท่วมและฝนแล้ง รวมทั้งปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่า ที่เกิดถี่ขึ้นรุนแรงขึ้น เป็นผลพวงทางอ้อมของภาวะโลกร้อน นอกจากจะสร้าง ความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแล้ว ยังมีโรคติดต่อตามมาอีกหลายชนิด โดยเฉพาะโรคที่ผ่านน้ำเป็นตัวกลางเช่น โรคฉี่หนู โรคอหิวาต์  

เนื่องจากน้ำท่วมทำให้เกิดการปนเปื้อนกับน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล สารพิษ สิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้แหล่งน้ำกินน้ำใช้ เสียไป การว่ายน้ำหรือสัมผัสน้ำในช่วงนี้ ทั้งในทะเลและแม่น้ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทั้ง ระบบหายใจ หู คอ จมูก และทางเดินอาหาร  ส่วนพวกสัตว์รบกวน เช่น หนู งู มด แมลง ก็หนีน้ำขึ้นมารบกวนเราเต็มไปหมด และยังมีเชื้อราต่างๆ ทั้งที่ก่อโรคและไม่ก่อโรคก็เบิกบานกันเป็นการใหญ่เพราะชอบความชื้น น้ำท่วมที่ไหลล้นจากแผ่นดินใหญ่ลงสู่ทะเล ยังนำความขุ่น ความสกปรก และสารพัดเชื้อ ลงสู่ทะเล ทำให้คุณภาพน้ำทะเลเปลี่ยนไป มีผลต่อสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหาร และก่อให้ เกิดการแพร่กระจายของแพลงก์ตอน หรือ plankton bloom ปล่อยสาร toxin ออกมาในน้ำ เป็นพิษต่อกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เรากินเข้าไป และเป็นพิษต่อผู้บริโภคด้วย บางครั้ง จึงมีการเตือนความเสี่ยงจากอาหารทะเลเป็นพิษในช่วงหน้าฝน

ในภาวะโลกร้อน หากในปีใดไม่เกิดน้ำท่วมก็จะเกิดความแห้งแล้ง น้ำสะอาดขาดแคลน เป็นสาเหตุการระบาดของเชื้อโรค อหิวาต์ และอื่นๆ อีกหลายโรค นับแต่นี้ไป สภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งจะเกิดขึ้นอย่างสุดโต่งสลับกันไป ถ้าคาร์บอนในบรรยากาศอันทำให้เกิดภาวะโลกร้อนยังไม่ลดระดับลง  เราแทบจะหาช่วงเวลาและพื้นที่ที่มีสภาพอากาศรื่นรมย์เหมือนดังแต่ก่อนได้ยากเต็มที 

ประชากรที่ล้นโลกเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น

ประชากรที่ล้นโลกทำให้ความต้องการด้านน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย สิ่งจำเป็น ในชีวิต และพลังงาน เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุขก็มักจะรองรับได้ไม่ทั่วถึง พลังงาน เช่น น้ำมัน ถ่าน ฟืนก็มีอยู่จำกัด รัฐต้องหาพลังงานมาทดแทน  พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล ดูจะเป็นจริงเป็นจังได้มากที่สุด 

เชื้อเพลิงชีวภาพพวกนี้ผลิตได้จากพืช เช่น ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยต้องใช้พื้นที่ปลูกจำนวนมาก จึงต้องมีการสละพื้นที่ป่า เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ ที่ดินตามมาอย่างกว้างขวาง ซึ่งก่อผลกระทบ ทั้งทางด้านชีวภาพ กายภาพ สังคม ดังเช่นปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศบราซิลและอินโดนีเซีย

ผลกระทบทางชีวภาพจากการเปลี่ยน แปลงสภาพการใช้ที่ดินที่สำคัญ คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiver-sity) ทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศเสียไป  สัตว์ในธรรมชาติก็สูญเสียถิ่นอาศัยและแหล่งอาหาร ส่วนประชากรที่เป็นมนุษย์เดินดินทั่วไปก็มีความมั่นคงด้านอาหารน้อยลง เพราะพื้นที่เกษตรกรรม แทนที่จะนำมาปลูกพืชอาหารก็ถูกเบียดบังมาใช้ปลูกพืชพลังงานแทน

ประชากรเมืองที่แออัด ทำให้การแพร่กระจายของโรครุนแรงขึ้น

ประชากรที่เป็นเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองลดลง ด้วยเหตุที่นายทุนเข้าไปกว้านซื้อเพื่อประกอบการพืชพลังงานในสเกลใหญ่ หรือด้วยเหตุจากภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง ประชากรในชนบทจึงแห่กันอพยพเข้ามาทำมาหากินในเมือง สถิติในประเทศสหรัฐฯ ปัจจุบันประชากรเมืองมีสัดส่วนถึง 80% ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เกือบ ครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีพลเมืองมากกว่า 5 ล้านคน ในเมืองไทยการอพยพเข้าสู่เมืองก็มีสัดส่วนสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะสภาพพื้นที่ที่ชาวชนบทเคยอยู่อาศัยทำมากินเปลี่ยนแปลงไปหรือถูกทำลายด้วยน้ำท่วม น้ำแล้ง

ประชากรที่แออัด ประกอบกับระบบสุขอนามัยไม่ดีพอและไม่ทั่วถึง ทำให้โรคติดต่อที่ถูกกระตุ้นด้วยภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและแพร่กระจายไปได้เร็วขึ้น

การปรับตัวตั้งรับ

ผลพวงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดิน และประชากรล้นโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนของระบบนิเวศและสภาพธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อการเกิดโรคระบาดอันคุกคามการดำรงชีวิต รัฐและผู้วางนโยบายจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ป้องกันไว้ก่อน มิใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเฉพาะโรคไปเมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว อย่างที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้  

การวางยุทธศาสตร์จะต้องเตรียมการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นมือแบบองค์รวม นับตั้งแต่เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีการวางแผนการใช้ที่ดิน ให้เหมาะสมให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า  ส่งเสริมการผลิตพืชอาหารและพลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสม เร่งรัดการบริการทางสาธารณสุขและสาธารณูปโภคให้เป็นพื้นฐาน สำคัญต่อความสุขของประชาชน ก่อนการใช้ งบประมาณแผ่นดินไปในทางการเมือง อย่างเช่นการลงประชามติเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งดูเหมือนว่ายิ่งเราพยายามที่จะปฏิรูปและให้ความสำคัญต่อประชาธิปไตยมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความ ปั่นป่วนในบ้านเมืองและความแตกแยกในหมู่ประชากรเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น   

ถึงเวลาแล้วที่ควรตระหนักว่าประชา ธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรม ความเข้าใจของประชาชนมากกว่ากระบวนการทางรัฐสภา การเลือกตั้ง และกฎหมาย หันมาแก้ไขปัญหาแท้จริงที่กำลังคุกคามการดำรงคงอยู่ของคนไทยกันดีกว่า