วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > พินิจปัจจัยฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ส่งจีดีพีไทยติดลบน้อยลง

พินิจปัจจัยฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ส่งจีดีพีไทยติดลบน้อยลง

เศรษฐกิจไทยเดินทางมาถึงเดือนสุดท้ายของศักราช พร้อมกับรอยแผลที่บาดลึกจนเกิดแผลเป็น ที่แน่นอนแล้วว่า ผลพวงนั้นจะยังคงตามติดไปจนถึงศักราชใหม่อย่างไม่อาจเลี่ยง

วิกฤตจากเชื้อไวรัสโควิดสร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนไม่น้อย ผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่ ต้องเผชิญกับความยากเข็ญในช่วงที่ผ่านมา หากสายป่านยาวอาจจะพอใช้ให้ยืนระยะต่อไปได้ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวหรืออาจถาวร

ด้านตลาดแรงงานไทยประสบปัญหาจากวิกฤตนี้ไม่ต่างกัน ข่าวเลิกจ้าง ลดค่าแรง ลดเวลาทำงาน ที่ปรากฏให้เห็นแบบรายวัน ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าปัจจัยด้านรายได้นี้กระทบต่อความสามารถในการดำรงชีวิต การจับจ่ายใช้สอย การชำระหนี้ อันนำมาซึ่งหนี้เสีย และกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในปีนี้ค่อยๆ ไต่ระดับลงจนกระทั่งติดลบในที่สุด แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ตัวเลขและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยค่อยๆ ลดจำนวนลง และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขไทยสร้างชื่อด้วยการควบคุมเชื้อไวรัสให้อยู่ในวงจำกัดได้เป็นอย่างดี ด้านรัฐบาลพยายามเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกระดับฟันเฟือง และประชาชนส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในวิกฤตที่เชื้อไวรัสยังคงมีอยู่และรอคอยวัคซีนด้วยความหวังที่จะทำให้วิกฤตนี้สิ้นสุดลง

บริษัทผลิตวัคซีนเร่งพัฒนา ทดสอบ และผลิตเพื่อนำออกมาใช้กับประชากรโลก หลายประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวการณ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่อีกหลายประเทศควบคุมสถานการณ์ของเชื้อไวรัสในประเทศตัวเองได้ดีพอสมควร ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ EIC หรือ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวน้อยลงที่ -6.5% จากเดิมคาดว่า -7.8%

มูลเหตุมาจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2020 โดยจากข้อมูล GDP ในช่วงไตรมาส 3 แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังคงซบเซา แต่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามภาวะการค้าโลกหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็วกว่าคาด นำโดยการฟื้นตัวเร็วของการบริโภคภาคเอกชน และเม็ดเงินจากภาครัฐที่มีการขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่การฟื้นตัวอาจชะลอลงตามการกลับมาระบาดและใช้มาตรการปิดเมืองแบบเฉพาะจุดในหลายประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ

ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาครัฐ จะได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปลายปี 2019 ที่มีการจัดทำงบประมาณล่าช้า ประกอบกับหลายมาตรการภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน ได้แก่ มาตรการคนละครึ่ง มาตรการช้อปดีมีคืน และการโอนเงินช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ EIC จึงปรับคาดการณ์ GDP ปี 2020 เป็นหดตัวน้อยกว่าเดิมมาอยู่ที่ -6.5%

อย่างไรก็ดี EIC ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่คาด 3.5% เนื่องจากคาดว่าเม็ดเงินจากภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีเพิ่มเติมจากที่เคยคาดไว้ รวมถึงคืบหน้าด้านการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ก็จะมีส่วนช่วยทำให้การท่องเที่ยวปรับดีกว่าคาดเล็กน้อย

โดยในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ กรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้เม็ดเงินในส่วนของงบประมาณมีโอกาสที่จะถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวดีถึง 12.2% ในปี 2021

นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกประมาณ 5 แสนล้านบาท ที่สามารถใช้ได้ในปี 2021 ซึ่งวงเงินนี้จะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจได้หลายภาคส่วน อาทิ มาตรการช่วยเหลือเงินแก่บุคคลบางกลุ่มและมาตรการภาษี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โครงการด้านการเกษตร และโครงการสร้างอาชีพ เป็นต้น

ทั้งนี้ รายได้ภาษีที่ลดลงประกอบกับการกู้เงินที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจทำให้หนี้สาธารณะมีโอกาสเข้าไปใกล้เคียงเพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP จึงนำมาซึ่งความกังวลด้านความเสี่ยงทางการคลัง

จากการศึกษาพบว่า รัฐบาลสามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะได้และไทยยังมีความแข็งแกร่งทางการคลังพอสมควร สะท้อนจาก rating ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ยังให้ไทยมีความแข็งแกร่งทางการคลังในระดับดี ดังนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะและกู้เงินเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ แต่ควรมีการจัดทำแผนการจัดการหนี้อย่างโปร่งใสควบคู่ไปด้วย

ขณะที่ปัจจัยภายในที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ คือความสามารถในการกลับมาเปิดกิจการใหม่ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ผลสำรวจจากธูรกิจ SMEs ไทยประมาณ 900 รายที่มีเพจ Facebook พบว่า มีสัดส่วนถึง 12.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจในเดือนกันยายน 2020 ต้องหยุดกิจการไป โดยคาดว่า กิจการที่หยุดไปส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ เช่นตัวแทนจัดจำหน่ายด้านการท่องเที่ยว บริการงานอีเวนต์ โรงแรม และร้านอาหาร

ตลาดแรงงานที่ยังซบเซา ทั้งจากการว่างงานที่สูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนว่างงานชั่วคราวที่ยังมีมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง จะส่งต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากความซบเซาทั้งในภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน โดยครัวเรือนไทยประสบปัญหาหนี้สูงมาเป็นเวลาหลายปีแล้วตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ปี 2020 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับในกลุ่มประเทศรายได้ไม่สูงจาก GDP ที่หดตัวลง สะท้อนถึงผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ที่กระทบไปยังความสามารถในการชำระหนี้และการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนที่ถดถอยลง

อีกปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2021 คือการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจากหลายบริษัท ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยปรับตัวดีกว่าคาดเล็กน้อย โดย EIC คาดว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้อย่างแพร่หลายในช่วงต้นปี 2021 เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ขณะที่ในกรณีประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คาดว่าจะได้รับวัคซีนช้ากว่าตั้งแต่ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป ซึ่ง EIC คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยเร่งตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 เนื่องจากจะเป็นช่วงที่ประเทศต้นทางและประเทศปลายทางอย่างไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว ดังนั้น จึงมีการปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 8.4 เป็น 8.5 ล้านคน

ด้านความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ประกอบไปด้วยการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย และแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องกังวลเกี่ยวกับ Zonbie Firm (บริษัทที่ขาดความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน) ที่อาจมีเพิ่มขึ้นจากวิกฤตในรอบนี้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพของไทย และปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ รวมถึงปัญหาด้านการเมืองในประเทศของไทย ที่อาจมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยหากสถานการณ์มีความรุนแรงและยืดเยื้อย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาคเอกชน

ด้านทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2020 และปี 2021 EIC คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยจากข้อมูลล่าสุด พบว่า แม้การส่งออกไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ โครงสร้างสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ซึ่งไทยมีสัดส่วนสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขณะที่สัดส่วนสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวเร็ว ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตรแปรรูป

นอกจากนี้ หากพิจารณารายได้ตลาดส่งออก ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปจีนในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ทำให้ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในระดับต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งลักษณะโครงสร้างส่งออกของไทยจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปี 2021 จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันทำให้ภาคส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า

ประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิดคือนโยบายของสหรัฐฯ หลังมีผู้นำคนใหม่ โดยในเบื้องต้น EIC คาดว่าจะส่งผลดีต่อทิศทางการส่งออกของไทย เนื่องจากแนวนโยบายของ โจ ไบเดน ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของโจ ไบเดน มีแนวโน้มที่จะมีความไม่แน่นอนน้อยลง และในระยะถัดไปหลังจากไบเดนจัดการกับปัญหาในประเทศ เช่น การระบาดของโควิด-19 แล้ว อาจมีการลดภาษีนำเข้าบางส่วน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าไทยที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง ที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าจีนที่ถูกส่งออกต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ และยางพารา

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าผู้ส่งออกของจีนอาจจะไม่ได้กลับไปส่งออกสินค้าที่เคยโดนผลกระทบทางภาษีเท่ากับในระดับก่อนสงครามการค้า เนื่องจากผู้ส่งออกอาจมีความเปลี่ยนแปลงตลาดส่งออกไปแล้ว หรืออาจเน้นการผลิตเพื่อขายในประเทศตามนโยบายของจีนในช่วงที่ผ่านมา

แม้สงครามการค้าอาจบรรเทาลง แต่ประเด็นด้านสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ต่อไป ทำให้การส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของจีนอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก

ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศล้วนแต่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแทบทั้งนั้น หวังแค่เพียงว่า การคาดการณ์จากหลายศูนย์วิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจจะถูกต้องและแม่นยำ เพราะนั่นหมายถึงว่า เศรษฐกิจไทยได้ชูหัวขึ้นจากกระดานเสียที

ใส่ความเห็น