วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “คนละครึ่ง” อัดฉีดเม็ดเงิน ฟื้นโชวห่วยแข่งยักษ์สะดวกซื้อ

“คนละครึ่ง” อัดฉีดเม็ดเงิน ฟื้นโชวห่วยแข่งยักษ์สะดวกซื้อ

ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขยายโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 เป็นของขวัญปีใหม่ 1 มกราคม 2564 หลังกระแสตอบรับดีเยี่ยม ไม่ใช่แค่เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ กระตุ้นจีดีพี แต่ที่สำคัญกลายเป็นมาตรการพลิกฟื้นธุรกิจร้านโชวห่วยให้กลับมาคึกคัก มียอดขายพุ่งพรวดเท่าตัว

เบื้องต้น รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุเงื่อนไขเบื้องต้นว่า หากใครที่ลงทะเบียนคนละครึ่งในเฟส 1 สำเร็จ เมื่อมีการเปิดเฟส 2 จะมีปุ่มให้กดยืนยันจะเข้าร่วมในเฟส 2 หรือไม่ แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องใช้วงเงิน 3,000 บาทหมดภายในเดือนธันวาคมนี้

นั่นย่อมหมายถึงกระตุ้นการจับจ่ายช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2563 จากจำนวนประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์เฟสแรก 10 ล้านคน และรัฐบาลตั้งเป้าหมายขยายเฟส 2 ทั้งในแง่จำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ วงเงินการใช้จ่ายเพิ่มจาก 3,000 บาท รวมถึงระยะเวลาการใช้จ่าย ซึ่งช่วงต้นปีมีเทศกาลสำคัญๆ ทั้งเทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน และอาจยาวไปถึงเทศกาลสงกรานต์

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขเฉพาะโครงการคนละครึ่งเฟส 1 ที่เปิดให้ผู้ได้รับสิทธิ์ใช้วงเงินจับจ่ายตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 จนถึง 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังระบุว่า มียอดใช้จ่ายสะสม 25,125.2 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนใช้จ่าย 12,821.9 ล้านบาท และรัฐบาลช่วยจ่ายอีก 12,303.3 ล้านบาท

จำนวนร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมี 802,901 ร้านค้า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่หยุด เนื่องจากร้านค้าที่ร่วมมาตรการคนละครึ่งมากขึ้นกลายเป็นเป้าหมายแรกในการซื้อสินค้าของประชาชน

ขณะเดียวกัน ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านธงฟ้า ร้านโอทอป และร้านค้าทั่วไป โดยทุกกลุ่มสามารถสร้างยอดขายเพิ่มสูงขึ้นถ้วนหน้า มียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด 2-3 เท่า ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้ง 200 บาท เงินสะพัดเฉลี่ย วันละ 723 ล้านบาท และ 5 จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลลัพธ์จากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และเราเที่ยวด้วยกัน ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงในด้านจิตวิทยาเชิงบวก แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก

สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 2563 ทุกรายการปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.9 เพิ่มขึ้นจาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจาก 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 เพิ่มขึ้นจาก 59.4

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะสูงถึง 100,000 ล้านบาท มาจากโครงการช้อปดีมีคืน ประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่งอีก 60,000 ล้านบาท คาดว่าจะผลักดันเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายได้ที่ 0.7-1% และกระตุ้นต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2564 จะมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัดมาตรการดีๆ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเป็นบวกเร็วขึ้นในไตรมาส 1 ปีหน้า จากเดิมคาดว่าจะเป็นไตรมาส 2

ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์พยายามหาแนวทางเสริมความแข็งแกร่ง เปิดโครงการสมาร์ทโชวห่วย พัฒนาร้านโชวห่วยธรรมดาให้เป็นร้านค้าทันสมัย ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เน้นการให้องค์ความรู้การบริหารจัดการร้านค้าปลีกแบบง่าย ปรับภาพลักษณ์ร้านค้า แนะนำการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อแข่งขันกับกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่แห่เข้ามาเปิดตัวและขยายสาขาทุกจุดพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะคอนวีเนียนสโตร์ ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มินิบิ๊กซี ท็อปส์เดลี่ แฟมิลี่มาร์ท และลอว์สัน

ปัจจุบันจากข้อมูลของกองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก มีสัดส่วนคิดเป็น 16.49% ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.6 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มใหญ่ภาคธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก คือกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นระดับจังหวัด และกลุ่มร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่าง “โชวห่วย” ล่าสุดมีจำนวนกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น ธุรกิจร้านโชวห่วยยังมีส่วนแบ่งในตลาดสูงเป็นอันดับ 1 คือ 44.1% แม้ต้องเจอการแข่งขันสูง หลายรายต้องปิดตัว แต่ยังมีผู้ลงทุนเปิดกิจการโชวห่วยหรือมินิมาร์ทรายย่อยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมืองและโครงการบ้านจัดสรร

ประเด็นหลักอยู่ที่การกำจัดจุดอ่อน ซึ่งข้อมูลสำรวจของธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุปัญหาเเละอุปสรรคของร้านโชวห่วยไทย ได้เเก่ ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้น เช่น ราคาเหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราภาษีสรรพสามิต รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง และค่าสาธารณูปโภค

ธุรกิจขาดการปรับตัว มีกลยุทธ์การตลาดล้าสมัย การบริหารจัดการภายในองค์กรขาดประสิทธิภาพ เช่น ขาดการทำบัญชีเเละบริหารสต็อก ขอสินเชื่อไม่ได้เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ บัญชีไม่สวยหรือวงเงินเต็ม

ดังนั้น ต้องถือว่าโครงการคนละครึ่งกลายเป็นจุดเสริมแผนการพลิกฟื้นธุรกิจร้านโชวห่วย โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าของคนรุ่นใหม่ที่มีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการจัดหน้าร้าน เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ เช่น มีบริการโอนเงิน บริการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ติดตั้งตู้เติมเงิน ตู้บริการน้ำดื่ม บวกกับความคุ้นเคยภายในชุมชนที่ถือเป็นเสน่ห์สำคัญ ซึ่งหาไม่ได้ในร้านโมเดิร์นเทรดรายใหญ่

เจ้าของร้านโชวห่วยแห่งหนึ่งกล่าวว่า ทางร้านปรับกิจการจากอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เป็นร้านค้ามินิมาร์ท แรกๆ มีจำนวนลูกค้าประจำไม่มาก

ต่อมาพยายามปรับพื้นที่ในร้าน หาสินค้าตามความต้องการของลูกค้าในหมู่บ้านและขายในราคาไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ เพิ่มตู้แช่จำหน่ายอาหารสด อาหารแช่แข็ง ตู้จำหน่ายไอศกรีม ทำให้อยู่รอดได้ และยิ่งเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล เฉพาะช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายอดขายพุ่งพรวดมากกว่า 40-50% และมีลูกค้าใหม่เข้าร้านมากขึ้น

“ลูกค้าหลายรายเคยเข้าร้านสะดวกซื้อตอนนี้หันมาซื้อสินค้ากับเรา เพราะสิทธิ์คนละครึ่งช่วยประหยัดค่าสินค้ามากกว่า อย่างซื้อไข่ไก่เบอร์ 0 จากแผง 30 ฟอง 120 บาท ลดเหลือ 60 บาท ข้าวสารถุง 5 กก. จากถุงละ 130-150 บาท เขาจ่ายเพียง 65-75 บาท และยังเพิ่มความถี่ในการเข้าร้าน เพราะต้องรีบใช้วงเงินตามเงื่อนไขของรัฐ ตอนนี้เราทำเพียงบริหารสต็อกสินค้าตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น”

แน่นอนว่า เมื่อรัฐบาลส่งสัญญาณขยายโครงการเฟส 2 ยิ่งเปิดโอกาสให้โชวห่วยสร้างยอดขาย ขยายฐานลูกค้าและยังหมายถึงโอกาสยกระดับจากโชวห่วยธรรมดาเป็น “สมาร์ทโชวห่วย” เติบโตในสงครามค้าปลีกได้อย่างแข็งแกร่งด้วย

ใส่ความเห็น