วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ส่งออกไทยติดลบหนัก ผลจากทั่วโลก Lockdown หนีโควิด-19

ส่งออกไทยติดลบหนัก ผลจากทั่วโลก Lockdown หนีโควิด-19

นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ภาคการส่งออกก็เป็นอีกฟันเฟืองสำคัญที่ไทยหวังพึ่งพิงตลอดมา

การมาถึงของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ โควิด-19 เป็นเสมือนการดับฝันที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในห้วงยามนี้

จากสถานการณ์การส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขที่เป็นการติดลบในรอบ 4 ปี และปัจจัยที่ส่งผลลบโดยตรงคือภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ราคาน้ำมัน รวมไปถึงการแข่งขันกันเองของผู้ประกอบการส่งออก

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2563 อาจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง เมื่อตลาดส่งออกสินค้าไทยน่าจะผ่านพ้นจุดตกต่ำไปแล้ว โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าส่งออกของไทยลดลงในทุกตลาด ตั้งแต่ตลาดญี่ปุ่นติดลบ 1.3 เปอร์เซ็นต์ ยุโรปลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ จีนลดลง 4.7 เปอร์เซ็นต์ เอเชียใต้ลดลง 7.7 เปอร์เซ็นต์ ฮ่องกงลดลง 6.8 เปอร์เซ็นต์ เกาหลีใต้ลดลง 5.4 เปอร์เซ็นต์ ตะวันออกกลางลดลง 2.9 เปอร์เซ็นต์ แอฟริกาลดลง 10.9 เปอร์เซ็นต์

ทว่า โรคอุบัติใหม่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายน 2563 ติดลบอย่างหนัก แม้ว่าภาพรวมมูลค่าการส่งออกรวมในเดือนเมษายนจะมีการขยายตัวที่ 2.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่หากไม่รวมการส่งออกอาวุธและทองคำ มูลค่าการส่งออกจะพลิกกลับมาหดตัวถึง -13.4 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี ขยายตัวที่ 1.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่หากหักการส่งกลับอาวุธและทองคำ การส่งออกจะหดตัวถึง -4.2 เปอร์เซ็นต์

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญปี 2563 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้ แต่ตัวเลขส่งออกในภาพรวมอาจหดตัวน้อยกว่าคาดการณ์เดิมที่ -12.9 เปอร์เซ็นต์ โดยหากพิจารณาการส่งออกที่หักลบผลของทองและอาวุธ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวถึง -4.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่สอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้

อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรก การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 350 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับการส่งกลับอาวุธที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมในช่วง 4 เดือนแรกยังขยายตัวได้ที่ 1.2 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ทำให้ EIC คาดว่าการหดตัวของมูลค่าส่งออกโดยรวมทั้งปี 2563 อาจมีการหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าใน 2 หมวดนี้ ไม่ได้สะท้อนกิจกรรมการผลิตทางเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มซบเซาอยู่

EIC คาดว่า การส่งออกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัวระดับสูง เนื่องจากตรงกับช่วง Lockdown ของหลายประเทศทั่วโลก โดยการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการปิดเมืองทำให้เกิดปัญหา supply chain disruption ในระดับสูง โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือและอากาศ ภาวะการค้าโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก สะท้อนจากการส่งออกของหลายประเทศสำคัญที่มีทิศทางหดตัวในระดับสูง

ขณะที่การฟื้นตัวของภาคส่งออกมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกในภาพรวมผ่านราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง

สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดีได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆ (ส่วนใหญ่คือการส่งกลับอาวุธ) อากาศยานและส่วนประกอบ และข้าว ขณะที่สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมสำคัญหลายประเภทมีการหดตัวในระดับสูงจากผลกระทบมาตรการล็อกดาวน์ และปัญหา supply chain disruption
ทั้งนี้การส่งออกทองขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 1,102 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า จากการที่ราคาทองอยู่ในระดับสูงและนักลงทุนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมีตลาดหลักคือ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง

ขณะที่สินค้ายานพาหนะอื่นๆ ขยายตัวมากถึง 1,263 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งกลับอาวุธไปยังสหรัฐฯ ต่อจากเดือนที่แล้ว โดยมีมูลค่าประมาณ 560.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญล้วนมีการหดตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญบางตัวยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

กระนั้นเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้คือ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่การส่งออกไปตลาดอื่นหดตัวในระดับสูง เช่น ตลาดยุโรป หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -28.7 เปอร์เซ็นต์ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตลาด CLMV หดตัวสูงถึง -31.0 เปอร์เซ็นต์

การหดตัวของตลาดสินค้าส่งออกของไทยที่เกิดขึ้นเพราะผลพวงจากการปิดด่านการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงความต้องการสินค้าลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าพลิกกลับมาหดตัวสูงที่ 17.1 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสำคัญ ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ตามผลกระทบของมาตรการปิดเมืองไทย และราคาน้ำมันดิบที่หดตัวในระดับสูง

สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 หลายประเทศยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจทั่วโลก ให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกจะหดตัวลดลงร้อยละ 1.5 ในปีนี้ และมีโอกาสหดตัวลดลงมากถึงร้อยละ 3.3 และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ลดลงร้อยละ 5.3 จากเดิมขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 และการคาดการณ์ของประเทศคู่ค้าสำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน อยู่ที่ 2.7-1.3 และ 1.9 ตามลำดับ

ขณะที่ราคายางในไตรมาส 1/2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ประกอบการภายในประเทศที่มีความต้องการยางในการส่งออกช่วงต้นไตรมาส และอยู่ในทิศทางเดียวกับสัญญาณตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ ค่าเงินบาท และค่าเงินเยนอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพาราซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผลผลิตยางในสวนปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการของสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องให้ทางการพิจารณาเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดกับยางล้อที่นำเข้าจาก เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย โดยคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้ายางล้อจากไทยมากถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าจากทั้งโลก และมีการเก็บภาษีในระดับสูงอยู่แล้วที่ 106.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากโดนภาษี Antidumping เพิ่มเติม จะทำให้อัตราภาษีสูงถึง 217.5 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของไทย การส่งออกสินค้ายางล้อไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด หรือคิดเป็น 1.1 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกรวมของไทย โดยจะเห็นได้ว่ายางล้อนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย หากทางการสหรัฐฯ มีมติปรับเพิ่มภาษีจริง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อภาคส่งออกไทยในอนาคต

จากการคาดการณ์ของ IMF WEO เมื่อเดือนเมษายน พบว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และด้วยเหตุนี้ภาคการส่งออกของไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกในระยะถัดไปอาจได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจาก pending demand ในช่วงล็อกดาวน์ ที่เกิดปัญหา supply chain disruption หลังจากที่มาตรการล็อกดาวน์มีแนวโน้มผ่อนคลายในระยะถัดไป แต่ผลบวกที่เกิดจะเป็นแค่ในระยะสั้น และอาจมีขนาดเล็ก เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมไปถึงความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19

ขณะที่ภาครัฐของไทยมองว่าหลังปัญหาโควิด-19 สิ้นสุดลง ภาคการส่งออกของไทยจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และข้าว พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า “สินค้าไทยยังมีอุปสงค์อยู่มากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ตอบรับโจทย์ new normal ที่การใช้ชีวิตและการทำงานของคนจะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เช่น อาหารสำเร็จรูปจะขายดียิ่งขึ้น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สินค้าไอทีและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ จะมารองรับการทำงานที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยควรเร่งทำตลาดช่วงนี้ให้ลูกค้าติดใจมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเร็วๆ นี้ เช่น การจัดงานชิมผลไม้ไทยในจีน ฮ่องกง และเกาหลี ที่ทูตพาณิชย์ในพื้นที่จัด พบว่าคนสนใจมาร่วมงานและสั่งซื้ออย่างมาก”

วิกฤตโรคโควิด-19 ครั้งนี้อาจทำให้ภาครัฐของไทยได้เล็งเห็นแล้วว่า การพึ่งพิงรายได้จากภายนอกประเทศตลอดไปนั้นไม่ส่งผลดีต่อไทย ในยามที่เกิดวิกฤตและต้องมีการปิดด่านการค้า บางทีนี่อาจเป็นเวลาเหมาะสมที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องมองหาฟันเฟืองสำคัญตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้แม้ในยามวิกฤต

ใส่ความเห็น