วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > เร่งระดมอัดฉีด ต่อลมหายใจ SMEs ไทย

เร่งระดมอัดฉีด ต่อลมหายใจ SMEs ไทย

สถานการณ์ความเป็นไปของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาด COVID-19 ดูจะยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากและได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนัก โดยกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการภาคบริการทั้งธุรกิจบริการที่พักและธุรกิจบริการด้านอาหาร ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจบริการด้านศิลปะ ความบันเทิงและสันทนาการ ธุรกิจค้าปลีกส่ง และสาขาอุตสาหกรรม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SMEs ไทย (SMEs GDP) ในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 17.2 มีมูลค่ารวม 1.44 ล้านล้านบาท สอดรับกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งพบว่า ปัญหาที่ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญอยู่มากที่สุดในห้วงปัจจุบันเป็นกรณีของยอดขายและลูกค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากผลของการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจัยลบที่โหมกระหน่ำใส่ผู้ประกอบการ SMEs ในอีกด้านหนึ่งยังอยู่ที่ยอดการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการ SMEs ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่ารวม 4.76 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 ผู้ประกอบการ SMEs มีการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1.02 ล้านล้านบาท

การปรับตัวลดลงของผลประกอบการ SMEs ที่ปรากฏอยู่นี้ ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจของ SMEs ในปีนี้ จะปรับตัวลดลงมาถึงร้อยละ -8.5 ถึง -9.5 ซึ่งตัวเลขประมาณการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า หากภาครัฐไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในภาวะยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีกและมีแนวโน้มที่จะมีผู้ประกอบการ SMEs ปิดกิจการมากขึ้น หลังจากที่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ SMEs ปิดและยุติกิจการไปแล้วมากกว่า 7,500 ราย

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดเพื่อความอยู่รอดในการดำเนินกิจการ จึงอยู่ที่การจัดสรรเงินเยียวยาเพิ่มเติมให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การขยายระยะเวลามาตรการเงินเยียวยาธุรกิจ และมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงเงินกู้ที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้

ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ SMEs ดังกล่าวดูเหมือนจะได้รับการตอบสนองจากกลไกภาครัฐพอสมควรเมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ อนุมัติมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ในกรอบการช่วยเหลือรอบ 2 รวมวงเงิน 1.7 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ สอดรับภารกิจของทั้งสองหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา SMEs ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

การสนับสนุนและเปิดช่องทางให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยการออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์รองรับและลดอุปสรรคในการระดมทุน ในมิติของหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพในวงจำกัด และหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการระดมทุน รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาให้ข้อมูลความรู้และคำแนะนำแก่ SMEs ในการใช้เครื่องมือและช่องทางการระดมทุน โดยล่าสุดมี SMEs ที่ระดมทุนผ่านตลาดทุนประสบความสำเร็จแล้ว 13 ราย มูลค่ารวมทั้งสิ้น 78.19 ล้านบาท

ความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และ สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มุ่งพัฒนา SMEs ของประเทศ สามารถแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญในภารกิจระหว่างกัน ตลอดจนการนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศด้านตลาดทุนที่เหมาะสมกับความต้องการและความพร้อมของ SMEs ต่อไป

จังหวะก้าวดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับพันธกิจหลักและทิศทางการดำเนินงานนโยบายของ สสว. ที่มุ่งเน้น 3 เรื่องทั้งการแสวงหาช่องทางการตลาดให้กับ SMEs เพื่อเร่งเพิ่มรายได้ภายหลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลายลง การลดค่าใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และการอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และกลับมาเข้มแข็งในอนาคต

ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือที่มุ่งเน้นเรื่องความร่วมกันพัฒนา ผลักดัน และส่งเสริมให้มีระบบนิเวศตลาดทุนที่เหมาะสมกับ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการ เชื่อว่า สสว. จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมความร่วมมือสู่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพรวมถึงยังเป็นการต่อยอดธุรกิจของ SMEs สามารถเลือกลงทุนในช่องทางที่เหมาะสมได้ต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำรงอยู่ของ SMEs ไทยได้รับการกล่าวถึงในฐานะจักรกลสำคัญของประเทศ ที่ช่วยให้เกิดการจ้างงานรวมมากถึง 12 ล้านคน ซึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ในมิติทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการขาดสภาพคล่องกำลังคุกคามผู้ประกอบการ SMEs อย่างหนักจนมีสภาพไม่ต่างจากผู้ป่วยที่มีเพียงลมหายใจรวยริน

บางทีการอัดฉีดความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs หลังจากนี้อาจต้องผนวกรวมการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวในห้วงยามของวิกฤตที่อาจเกิดมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้ SMEs ไทยเป็นจักรกลและทางเลือกในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในอนาคตด้วยความมั่นคงกว่าที่ดำเนินอยู่.

ใส่ความเห็น