วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > Wellness Tourism ยุทธศาสตร์ใหม่การท่องเที่ยว

Wellness Tourism ยุทธศาสตร์ใหม่การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวยังคงมีบทบาทสำคัญและเป็นหนึ่งฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อสร้างจุดขาย เสริมความแข็งแกร่ง และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว

ในช่วงที่ผ่านมากระแสการดูแลรักษาสุขภาพของผู้คนในสังคมยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนากลายมาเป็นพฤติกรรมและเกิดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และนั่นย่อมรวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยเช่นกันที่ต่างต้องปรับตัวและสร้างจุดขายใหม่ๆ เพื่อรองรับกับกระแสดังกล่าว จนนำไปสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อย่าง “Wellness Tourism” เทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง และมีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง

Wellness Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อสร้างความสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ มีการผนวกกิจกรรมด้านสุขภาพเข้ามารวมอยู่ในการท่องเที่ยวนั้นด้วย เช่น โยคะ สปา อาหารเพื่อสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น

กระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะถดถอย แต่ธุรกิจนี้กลับเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 ตลาด wellness tourism ทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 124 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่า GDP ประเทศไทย 9,000 เท่า มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.6% ซึ่งโตกว่าภาพรวมการท่องเที่ยวโลกถึง 2 เท่า และยังมีแนวโน้มที่จะโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะมีความได้เปรียบด้วยต้นทุนที่ดีทั้งในแง่ของการบริการด้านสุขภาพ บริการ ค่าใช้จ่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute ระบุว่า ปี 2560 มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการกว่า 9.7 ล้านครั้ง

จากสถิติและแนวโน้มดังกล่าวถือเป็นโอกาสทางธุรกิจท่องเที่ยวของผู้ประกอบการไทยที่น่าจะมองเห็นและเร่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด และสร้างเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจคือ หน่วยงานภาครัฐอย่างสถาบันการศึกษาต่างหันมาให้ความสำคัญในการศึกษาและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพผ่านงานวิจัยมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงศักยภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนา เสริมมาตรฐานและเพิ่มความแข็งแกร่งให้มากขึ้น และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคเอกชนได้นำไปปรับใช้ได้จริง

ตัวอย่างที่น่าจับตามองคือ “โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดลำปางเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคเหนือ (Lanna Wellness Tourism)” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 และโครงการ “การพัฒนาภูมิภาคแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1” ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยทั้ง 2 โครงการมีพื้นที่เป้าหมายคือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง ทั้งการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และยังเป็นจุดหมายปลายทางของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย

“ลำปาง” ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงสุขภาพที่สำคัญของภาคเหนือ เพราะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอย่างอุทยานแจ้ซ้อน (ออนเซนเมืองไทย) โฮมสเตย์บ้านสามขาที่มีวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายและใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ถือเป็นจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว

“โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดลำปางเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภาคเหนือ” คณะวิจัยซึ่งนำโดย รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ได้ทำการศึกษาและพัฒนาทุกเซกเมนต์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จนออกมาเป็นรูปธรรมและมีการนำไปใช้จริง ทั้งอาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพรท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สปา ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงพัฒนาสื่อโฆษณาผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งเว็บไซต์และ Mobile application เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่

อีกหนึ่งโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ “โครงการการพัฒนาภูมิภาคแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์)” เป็นอีกหนึ่งโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์และบริการ ทั้งภายในภูมิภาคและที่สำคัญยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และจีน โดยผ่านทางระเบียงเศรษฐกิจ Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor (LIMEC)

ในแต่ละจังหวัดของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ต่างมีต้นทุนที่นับว่าเป็นจุดเด่นที่ต่างกัน ทั้งความพร้อมและศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service) โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้ การเป็นแหล่งสมุนไพรและพืชผักปลอดสารพิษขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างดี

การวิจัยมุ่งวิเคราะห์และสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ต่อไป ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะยังอยู่ในช่วงดำเนินการ แต่เมื่อเสร็จสมบูรณ์น่าจะสร้างสีสันและความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับภาคเหนือตอนล่างได้ไม่น้อย อีกทั้งยังจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ได้อีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของภาคการศึกษาดังกล่าว นับเป็นความพยายามในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ต้องดูต่อไปในระยะยาวของการมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวและมาตรฐานในการให้บริการแล้ว การดูแลรักษาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวให้มีสุขภาพที่ดีและยั่งยืนก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ใส่ความเห็น