วันเสาร์, มีนาคม 22, 2025
Home > Cover Story > ค้าปลีกแจมสงคราม Soft Serve แม็คโคร-โลตัส เร่งปูพรมขาย

ค้าปลีกแจมสงคราม Soft Serve แม็คโคร-โลตัส เร่งปูพรมขาย

“ซีพี แอ็กซ์ตร้า” กระโดดเข้ามาเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในสมรภูมิไอศกรีม Soft Serve ที่มีมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท โดยทุ่มจุดแข็งของแบรนด์ “CP Meiji” แถมราคาเพียงโคนละ 8 บาท สามารถปลุกกระแสไวรัล กลายเป็น Rare Item ที่ลูกค้ากำลังเรียกร้องให้เร่งเปิดจุดขายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ผู้บริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีก “แม็คโคร-โลตัส” เริ่มต้นนำร่องขายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมื่อช่วงปลายปี 2567 ล่าสุดขยายจุดจำหน่ายในแม็คโครและโลตัสมากกว่า 50 สาขาแล้ว ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ เมืองท่องเที่ยว โดยบริษัทระบุที่มาที่ไปเกิดจากการวิจัยตลาดพบว่า คนไทยนิยมบริโภคของรับประทานเล่นและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ถือเป็นสินค้าที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในศูนย์การค้า เพราะซื้อง่าย ราคาเข้าถึงได้ และสร้างความสดชื่น

ขณะเดียวกัน แบรนด์ CP Meiji  มีจุดแข็งเรื่องคุณภาพ รสชาติ และความไว้วางใจของผู้บริโภค ทำให้ไอศกรีมได้รับความสนใจและช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าสาขา สามารถสร้างโอกาสให้ลูกค้าเดินเข้ามาเลือกซื้อสินค้าอื่นเพิ่มเติม ต่อยอดสู่การสร้าง Engagement กับลูกค้า เช่น การทำโปรโมชันร่วมกับสินค้ากลุ่มอื่น หรือการออกรสชาติใหม่ให้มีความสนุกขึ้น

บริษัทระบุอีกว่า ซิกเนเจอร์ของไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ซีพี แอ็กซ์ตร้า คือ การผลิตจากนมโคคุณภาพสูง จาก CP Meiji ให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มละมุน หอมมัน โดยมีให้เลือก 3 รสชาติ คือ รสนม ซึ่งผลิตจากนมโคแท้  รสช็อกโกแลตผสมโกโก้แท้ 100% จากเนเธอร์แลนด์ และรสทูโทน ผสมผสานไอศกรีม 2 รสชาติ คือ รสนมและรสช็อกโกแลต

ที่สำคัญ การกำหนดราคาเพียงโคนละ 8 บาท ดึงดูดลูกค้าเข้ามาลิ้มลองรสชาติ เมื่อเทียบกับเจ้าตลาดคู่แข่งที่เริ่มต้นโคนละ 12 บาท  ซึ่งตั้งแต่เปิดจุดขายเพียงไม่กี่เดือนได้รับผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะในสาขาที่มีแทรฟฟิกสูงและสาขาใกล้โรงเรียน มีกลุ่มนักเรียนและครอบครัวแวะเข้าร้านมากขึ้น นอกจากช่วยเพิ่มยอดขายไอศกรีมแล้ว ยังกระตุ้นแทรฟฟิกหน้าร้านและสร้างโอกาสการขายสินค้าอื่นๆ ได้อีกด้วย

ด้านข้อมูลจาก “ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ SME แห่งประเทศไทย” หรือ Thai SME’s Center ระบุว่า ตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ เกิดกระแสคึกคักสุดขีดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 จากการเข้ามาบุกตลาดของแฟรนไชส์ไอศกรีมและชาจากจีนและอินโดนีเซีย เริ่มจาก Mixue, Ai-Cha ตามมาด้วย Wedrink และ Bing Chun ชูกลยุทธ์ราคาถูก ขายไอศกรีมโคน 15 บาท โดยเฉพาะ มี่เสวี่ย (Mixue) ซึ่งเข้ามาบุกตลาดในไทยเมื่อกลางปี 2565 ภายใต้การบริหารบริษัท มี่เสวี่ย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดสาขาแรกย่านรามคำแหง 53 ได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา อย่างมาก จนสร้างกระแสบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วและมีคนสนใจซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก

ชนิดที่ว่า ทุกวันมีผู้โทรเข้ามาสอบถามศูนย์ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์เกี่ยวกับการลงทุนแฟรนไชส์ Mixue มากถึง 10-15 ราย จนช่วงต้นปี 2567 แบรนด์ต้องประกาศยุติการขายแฟรนไชส์ไว้ชั่วคราว โดยล่าสุดมีสาขามากกว่า 200 แห่ง

ส่วน Ai-CHA แฟรนไชส์ร้านไอศกรีมและชาจากอินโดนีเซีย เข้ามาเปิดตลาดในไทยช่วงกลางปี 2566 ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของ MIXUE โดยขายสินค้าราคาเท่ากันทุกอย่าง หน้าตาเมนูแทบเหมือนกัน แถมเปิดร้านโซนเดียวกัน โดยร้านแรกอยู่แถวรามคำแหง มีมาสคอตนกเพนกวินอยู่ท่ามกลางโทนสีแดงของร้าน ผลิตภัณฑ์หลักของ Ai-CHA เป็นไอศกรีมโคนและชา ราคาเริ่มต้นเพียง 15-50 บาท ปัจจุบันมี 130 สาขาในไทย

WEDRINK แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาจากจีน ภายใต้บริษัท ซินเจิ้ง เมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดสาขาแรก รามคำแหง 53 ช่วงต้นปี 2567 เช่นเดียวกัน ใช้กลยุทธ์ซื้อ 1 แถม 1 เมนูหลากหลาย โดยเฉพาะไอศกรีมโคนมัทฉะ ไอศกรีมดั้งเดิม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชานม สมูทตี้ และน้ำผลไม้ถัง ราคาเริ่มต้น 15-60 บาท ปัจจุบันมี 150 สาขาในไทย ขณะที่ Bing Chun “ปิงฉุน” ปักหมุดสาขาแรกในห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ ปัจจุบันมีสาขา 14 แห่งทั่วประเทศ

ด้านผู้เล่นยุคบุกเบิก เช่น  KFC มีทั้งซอฟต์เสิร์ฟแบบโคนและซันเดราดช็อกโกแลต หรือสตรอเบอรี่ แต่จะออกรสชาติใหม่ๆ เป็นช่วงๆ ล่าสุดเปิดตัวรสมะม่วง “แมงโก้ฟีเวอร์” แบบโคน “ร็อคกี้แมงโก้” เริ่มต้นโคนละ 19 บาท และแบบถ้วย “ครีมคัพ แมงโก้” ราคา 35 บาท

McDonald’s มีไอศกรีม ราคาเริ่มต้นโคนละ 12 บาท ซึ่งแคมเปญที่ผ่านมาออกโคนชมพูร่วมฉลองเทศกาลวาเลนไทน์ ส่วนกลุ่มซันเด มีช็อกโกแลต-สตรอว์เบอรี และแมคเฟลอร์รี โอรีโอ อัดแน่นด้วยโอริโอ กรุบกรอบ

สำหรับ Dairy Queen เจ้าตลาดที่ยึดครองส่วนแบ่งเกือบ 40% ยังคงชูเอกลักษณ์ซอฟต์เสิร์ฟและบลิซซาร์ดหลากหลายรสชาติ ปัจจุบันมีสาขา 534 แห่งทั่วประเทศ แต่สงครามการแข่งขันทำให้แดรี่ควีนอัดโปรโมชั่นถี่ยิบ ทั้งลดราคาและกลยุทธ์ 1 แถม 1 นอกจากนี้ ยังมีฟาสต์ฟูดอีกหลายแบรนด์ที่เปิดขายซอฟต์เสิร์ฟรองรับลูกค้า เช่น Burger King และ Mos Burger

ขณะที่ในไลน์ค้าปลีกที่วันนี้ขอแจมตลาด นอกจากแม็คโคร-โลตัสแล้ว ยังมีห้างอิเกีย ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดขายซอฟต์เสิร์ฟตั้งแต่ปี 2562 และเพิ่มรสชาติต่างๆ ราคาตั้งแต่ 8-60 กว่าบาท หรืออย่างร้านสะดวกซื้อซีเจของบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดตัวไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ “เถียน เถียน” ขายร้านเครือข่ายรวมกว่า 73 สาขา ราคาโคนละ 15 บาท พร้อมเมนูเครื่องดื่มชานมไข่มุกและชาผลไม้ รวมถึง “ท็อปส์เดลี่” ของกลุ่มเซ็นทรัล ไม่ยอมตกขบวน ขอจัดไอศกรีมโคนละ 12 บาทด้วย.

 

ต้นกำเนิดอันยาวนานของ “ไอศกรีม”

ต้นกำเนิดของไอศกรีมไม่เป็นที่แน่ชัด บางข้อมูลว่าเริ่มตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมันพระราชทานเลี้ยงไอศกรีมทหาร โดยทำจากเกล็ดน้ำแข็ง (หิมะ) ผสมน้ำผึ้งและผลไม้ คล้ายกับไอศกรีมซอร์เบในปัจจุบัน

บ้างว่ามาจากประเทศจีน เมื่อสมัยโบราณที่นมเป็นของหายาก จึงคิดวิธีเก็บรักษาเอาไปฝังในหิมะ เกิดเป็นไอศกรีมขึ้นมา

บ้างว่ามาจากอิตาลี โดยมาร์โค โปโล กลับจากจีนแล้วเอาสูตรไอศกรีมมาเผยแพร่ คล้ายน้ำแข็งไส

บางข้อมูลระบุจุดเริ่มต้นจากอังกฤษ สมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พ่อครัวคนหนึ่งมีสูตรลับครีมแช่แข็งปรุงรสที่ส่งเป็นของหวานถวายพระองค์ ต่อมาเมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1642-ค.ศ. 1651 พ่อครัวต้องลี้ภัยไปยุโรป มีการเผยแพร่สูตรลับออกไป

ในประเทศไทยนั้น ไอศกรีมเริ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยาม หลังเสด็จประพาสอินเดีย ชวา และสิงคโปร์ โดยเวลานั้นไทยไม่สามารถผลิตน้ำแข็งและต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ จึงเริ่มมีการทำไอศกรีม แต่ยังถือเป็นของเสวยเฉพาะของเจ้าขุนมูลนาย  ทำจากน้ำมะพร้าวอ่อน ใส่เม็ดมะขามคั่ว

กระทั่งเกิดโรงงานทำน้ำแข็งและมีไอศกรีมแบบไอศกรีมกะทิ ลักษณะเป็นน้ำแข็งละเอียดใส ๆ รสหวานไม่มาก โรยถั่วลิสงคั่ว และมีกลิ่นหอมของดอกนมแมว ซึ่งผู้คนนิยมกินอาหารกันในเรือนแพ หลังจากนั้นมีการพัฒนาให้เข้มข้น ใส่ลอดช่อง เม็ดแมงลักและขนุนฉีก โดยใช้กะทิสดผสมกับน้ำตาลนำไปปั่นให้แข็ง เวลารับประทานต้องขูดออกจากขอบหม้อโลหะ ตอนขายตักใส่ถ้วยเป็นลูก ๆ เรียกไอติมตัก กินกับถั่ว ข้าวเหนียวหรือลูกชิด บางคนกินกับขนมปังหั่นเป็นท่อน

ส่วนไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยใช้น้ำหวานใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็ง มีก้านไม้เสียบ ก่อนพัฒนาเป็นไอศกรีมโบราณมีส่วนผสมของนม ตัดเป็นแท่งหรือตัดใส่ถ้วย จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคไอศกรีมแบบวัฒนธรรมตะวันตกแท้ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ซอฟต์เสิร์ฟ หรือ ซอฟต์ครีม เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1934 เมื่อทอม คาร์เวล (Tom Carvel) ผู้ก่อตั้งแบรนด์และแฟรนไชส์ Carvel ประสบเหตุยางแบนในรถบรรทุกไอศกรีมของเขาที่เมือง Hartsdale นิวยอร์ก เขาจึงนำรถเข้าลานจอดรถและขายไอศกรีมที่เริ่มละลายให้ผู้สัญจรไปมา ปรากฏว่าขายดิบขายดี

ปี ค.ศ. 1936 คาร์เวลเปิดร้านสาขาแรกบนรถไอศกรีมที่เสียคันนั้น และพัฒนาสูตรซอฟต์เสิร์ฟ พร้อมจดสิทธิบัตรเครื่องทำไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ

ขณะที่แดรี่ควีน (Dairy Queen) ระบุเป็นผู้คิดค้นซอฟต์เสิร์ฟในปี 1938 ใกล้เมืองโมลีน (Moline) รัฐอิลลินอยส์ โดย เจ.เอฟ. แมคคัลเลอร์ (J.F. McCullough) พัฒนาสูตรซอฟต์เสิร์ฟและทดลองขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1938 ในเมืองแคงคาคี (Kankakee)

สูตร “ซอฟต์เสิร์ฟ” เป็นไอศกรีมที่ใส่อากาศเข้าไปในขณะปั่น โดยอากาศเป็นตัวแปรหลักทำให้รสชาติแตกต่างกัน ปริมาณอากาศน้อยจะทำให้รสชาติเข้มข้น สีเข้ม ส่วนไอศกรีมที่มีปริมาณอากาศมากกว่า เนื้อสีขาวกว่า รสชาติไม่เข้มข้น ซึ่งปริมาณอากาศที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 33-45%.