วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจคึกรับ “สปอร์ตซิตี้” ตลาดโตเม็ดเงินแสนล้าน

ธุรกิจคึกรับ “สปอร์ตซิตี้” ตลาดโตเม็ดเงินแสนล้าน

ประมาณกันว่า อุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 แสนล้านบาท อัตราเติบโตอย่างน้อย 4-5% ต่อปี และสำรวจกันอีกว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขันกิจกรรมการกีฬาของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 27,663 ล้านบาท ที่สำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนับจากนี้

ตัวเลขที่พุ่งไม่หยุดส่งผลกระตุ้นให้ธุรกิจหลากหลายกลุ่มกระโดดเข้ามาเล่นในสมรภูมิการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งและสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำหนดนโยบายและแผนการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) มีการส่งเสริมกิจกรรม “สปอร์ต ทัวริซึม” และพัฒนา”สปอร์ต ซิตี้” หรือ สร้างเมืองกีฬาแห่งแรกในไทย ซึ่งนโยบาย “สปอร์ต ทัวริซึม” ชัดเจนและเห็นผลในระดับหนึ่งแล้ว เหลือแต่การผลักดันและกำหนดกฎเกณฑ์ การประกาศส่งเสริมเมืองกีฬา “สปอร์ต ซิตี้” ให้เป็นทางการ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามุ่งหวังทำให้สำเร็จในปี 2561 หรืออย่างช้าภายในปี 2562

ในเบื้องต้นนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ วางแนวทางกำหนดกฎเกณฑ์และการประกาศเป็นเมือง “สปอร์ต ซิตี้” โดยอาจให้แต่ละภาคของไทย รวม 6 ภาค เสนอตัวแทน 1 จังหวัดที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างการกีฬา มีผู้บริหารที่สนับสนุนกีฬา มีประชาชาชนที่สนใจชมกีฬาและออกกำลังกาย รวมถึงเป็นเมืองที่ผลิตนักกีฬาสมัครเล่นและอาชีพได้สม่ำเสมอ เข้าประชันชิงชัยความเป็นที่สุดเมืองกีฬาของไทยในรูปแบบเรียลลิตี้โชว์ออกจอโทรทัศน์ทั่วประเทศ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นความตื่นตัวด้านกีฬาอย่างมหาศาล ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าทางธุรกิจ

หากดูแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายของคนไทยจากปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาทในปี 2558 ล่าสุดแตะ 2 แสนล้านบาท และมีโอกาสขยายอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากสินค้าและบริการมีการแตกไลน์มากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร อาหารเสริม สำหรับคนออกกำลังกาย คนดูแลสุขภาพ สินค้าแก็ดเจต นาฬิกา บันทึกวัดการเต้นของหัวใจ วัดความดัน หรือแม้แต่ชุดกีฬา ซึ่งไม่ใช่แค่การสวมใส่เพื่อออกกำลังกาย แต่กลายเป็นเสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ในทุกโอกาสด้วย

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2560 มีผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งบริษัทเกี่ยวกับกีฬาและสินค้ากีฬามากกว่า 200 บริษัท เช่น ฟิตเนส โยคะ ยิม มวยไทย สนามฟุตบอล สนามฟุตซอลให้เช่า ผู้นำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย เสื้อผ้าชุดกีฬา

แนวโน้มการเติบโตอย่างมีศักยภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการเร่งงัดกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะเครือข่ายรายใหญ่อย่างบริษัท ซีอาร์ซี สปอร์ต จำกัด ในเครือเซ็นทรัล ผู้บริหารร้านซูเปอร์สปอร์ต ร้านค้าปลีกกีฬาอันดับ 1 ในประเทศไทย อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับ 8 ในเอเชีย ซึ่งซีอาร์ซี สปอร์ต ตั้งเป้าจะเป็นอันดับ 1 ผู้นำค้าปลีกและตัวแทนจำหน่ายสินค้ากีฬาระดับพรีเมียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563)

ล่าสุด ซีอาร์ซี สปอร์ต ประกาศแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 35 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 179 แห่ง พร้อมปรับโฉมซูเปอร์สปอร์ต ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล เน้นนวัตกรรมใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ภายในร้าน และเปิดพื้นที่สนามกีฬาอารีน่าเพื่อสร้างประสบการณ์ด้านกีฬาและเปิดตัวสินค้าใหม่ ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังจากเปิดพื้นที่อารีน่ากว่า 120 ตารางเมตรในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และพัทยา เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี รวมทั้งคาดการณ์ยอดขายในปี 2561 จะเติบโตมากกว่า 15% จากปีก่อนที่เติบโตประมาณ 12% หรือทำยอดขายได้ราว 9,800 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าขายดี 3 อันดับแรกของซูเปอร์สปอร์ต คือ กลุ่มรองเท้าออกกำลังกาย (Performance Shoes) กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (Apparel) 14% และกลุ่มสินค้าฟุตบอล (Soccer) 9%

น.ส.สิราภรณ์ วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท ซีอาร์ซี สปอร์ต กล่าวว่า แม้ปีที่ผ่านมามีการเติบโตไม่มาก เพราะอยู่ในช่วงงานพระราชพิธีและกิจกรรมหลายอย่าง แต่จังหวะการเกิดโครงการก้าวคนละก้าวของ “ตูน บอดี้สแลม” ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสินค้ากีฬาดีขึ้น และเทรนด์กีฬายังมาแรง เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและเล่นกีฬามากขึ้น ซึ่งส่งผลดีด้านยอดขาย รวมถึงเทรนด์สปอร์ตแฟชั่น

นอกจากนี้ บริษัทเพิ่มสินค้าในช่องทางออนไลน์ในกลุ่มกีฬาตกปลา ชกมวย และรักบี้ ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตลอด 24 ชม. โดยเลือกรับสินค้าผ่านห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ที่เพิ่มจาก 5 สาขาเป็น 15 สาขา หรือจะรับที่บ้าน ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าจริงจังในปีนี้ หลังทดลองตลาดในปีที่ผ่านมาและผลตอบรับดีมาก เชื่อมั่นว่าปีนี้สัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์น่าจะทำได้ดี ตั้งเป้าไว้ที่ 300 ล้านบาท

ด้าน “สปอร์ตมอลล์” ของกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป ประเมินตลาดสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬายังมีการเติบโตที่ดี โดยมีมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท เติบโต 15-20% ทุกปี จากกระแสสุขภาพและความนิยมในการออกกำลังกายที่มีมากขึ้น รวมถึงสปอร์ตแฟชั่นหรือความนิยมแต่งตัวด้วยชุดกีฬาของกลุ่มเจนวายและวัยเริ่มทำงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ยอดขายของสปอร์ตมอลล์เติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยสาขาในกรุงเทพฯ ลูกค้ามียอดใช้จ่าย 2,500-3,000 บาท/ใบเสร็จ และต่างจังหวัด 2,000-2,500 บาท/ใบเสร็จ และลูกค้าจะมีการซื้อสินค้าทดแทนทุกๆ 3 เดือน

ส่วนสินค้าที่สร้างยอดขายอันดับต้นๆ ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับฟุตบอล วิ่ง และฟิตเนส ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวกับกอล์ฟ เสื้อผ้า รองเท้า และแอ็กเซสซอรี่ เริ่มฟื้นตัว

แน่นอนว่า หากเทียบสินค้ากีฬาทุกกลุ่ม สินค้าที่เกี่ยวกับฟุตบอลถือเป็นกลุ่มสร้างยอดขายสูงต่อเนื่องและมีสินค้ากลุ่มรันนิ่งทำยอดขายสูงตามมาเป็นอันดับ 2

การเติบโตของกีฬาฟุตบอลจึงเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง “อาริ (Ari)” สามารถใช้ช่องว่างสร้างแบรนด์ร้านค้าปลีกกีฬา โดยอาศัยกลยุทธ์การเจาะตลาดแบบนิชมาร์เก็ตและปลุกปั้น “คอนเซ็ปต์สโตร์” ชนิดที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ทั้งเด็กวัยรุ่น คนทำงานรุ่นใหม่ กลายเป็นแบรนด์สปอร์ตสโตร์ยอดฮิตของนักกีฬาฟุตบอลทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น

สำหรับ อาริ ฟุตบอล เปิดตัวเมื่อปี 2552 โดยกลุ่มเพื่อนที่มีความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอล ซึ่งเวลานั้นเมืองไทยยังไม่มีร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับฟุตบอลโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ขายอุปกรณ์กีฬาหลายประเภทรวมๆ กัน จึงเกิดไอเดียเปิดร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลแบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้สินค้าของทีมฟุตบอลที่ตัวเองชอบ และหาซื้อสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปซื้อถึงต่างประเทศ เป็นที่มาของ “Ari Football Concept Store” ร้านขายอุปกรณ์กีฬาฟุตบอลแบบครบวงจรสาขาแรกในโครงการอารีน่า 10 ย่านทองหล่อ

จาก Ari Football Concept Store สาขาแรก พื้นที่เพียง 25 ตารางเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 3 ปี อาริลุยเปิดแฟล็กชิปสโตร์ที่สยามสแควร์ ขยายพื้นที่ให้บริการถึง 4 ชั้น ขนาด 450 ตารางเมตร จนได้รับการจัดชั้นเป็นร้านขายอุปกรณ์กีฬาฟุตบอลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่คลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลได้ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันอาริเปิดฟุตบอลคอนเซ็ปต์สโตร์ 8 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 5 สาขา ได้แก่ สาขาสยามสแควร์ เดอะมอลล์บางกะปิ เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า เดอะคริสตัล และสเปลล์ ส่วนต่างจังหวัดมี 3 สาขาที่เซ็นทรัลขอนแก่น เซ็นทรัล อุดรธานี และเดอะมอลล์ โคราช รวมทั้งเปิดอาริ รันนิ่ง คอนเซ็ปต์สโตร์อีก 4 แห่งที่เซ็นทรัลเวิลด์ เดอะคริสตัล เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และสเปลล์

การเติบโตของสปอร์ตสโตร์แนวใหม่ ทั้งอาริ ซูเปอร์สปอร์ต สปอร์ตมอลล์ รวมถึงร้านกีฬาที่เจาะนิชมาร์เก็ตและกลุ่มผู้ค้าที่เน้นเจาะช่องทางออนไลน์อีกจำนวนมาก สะท้อนศักยภาพของอุตสาหกรรมกีฬาที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ไม่ใช่แค่เม็ดเงิน 2 แสนล้านบาทแต่ยังมีโอกาสขยายตัวอีกหลายเท่าทันทีที่ “สปอร์ตซิตี้” ผุดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ใส่ความเห็น