วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เร่งเครื่อง Debt Clinic ภารกิจล้างหนี้แสนล้าน

เร่งเครื่อง Debt Clinic ภารกิจล้างหนี้แสนล้าน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา งัดปฏิบัติการล้างหนี้นอกระบบและลดหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) โครงการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) จนล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจกดปุ่มเริ่มงาน “คลินิกแก้หนี้ (Debt Clinic)” เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด และหนี้ส่วนบุคคลของลูกหนี้ที่มีหนี้หลายทางและค้างชำระเกิน 3 เดือน หวังล้างหนี้ครั้งใหญ่ของลูกหนี้จำนวน 5 แสนราย มูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท

ตามแผนของ ธปท. “คลินิกแก้หนี้” มีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) หรือ บสส.ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งหมด หรือ “One Stop Service” เชื่อมโยงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้แบบครบวงจร ตั้งแต่ตรวจคุณสมบัติลูกหนี้ที่ยื่นเข้าโครงการ เจรจาหารือ พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้-รับชำระหนี้ การติดตามรายงานผลต่อเจ้าหนี้ รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาความรู้ ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า คลินิกแก้หนี้ เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะแม้จากข้อมูลล่าสุดหนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับลดลงบ้าง จากระดับ 81.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในสิ้นปี 2559 แต่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะเดียวกัน ผลศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) พบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค หรือ personal loan หนี้บัตรเครดิต และคนไทยที่มีหนี้เสียหรือมีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน เป็นกลุ่มลูกหนี้ช่วงอายุ 29-30 ปี มีอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน

นอกจากนี้ คนไทยเป็นหนี้ยาวนาน มีหนี้ระดับสูงตลอดอายุการทำงาน และระดับหนี้ไม่ได้ลดลง แม้เข้าสู่วัยใกล้เกษียณ และหนี้มูลค่ามากขึ้น โดยพบว่าค่ากลางของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 70,000 บาทในปี 2553 เป็น 150,000 บาท ในปี 2559 และ 16% ของคนที่มีหนี้ หรือประมาณ 3 ล้านคน มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน

ข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์บางแห่งยังระบุว่า การออกบัตรเครดิตใบใหม่ที่ออกมาในแต่ละปี คนเจนเนเรชั่น Y ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2523-2543 และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือทำงานได้ระยะหนึ่งแล้ว จะเป็นเจ้าของบัตรกว่า 1 ล้านใบต่อปี คิดเป็นกว่าครึ่งหรือเกิน 50% เพราะแนวทางการหาลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจมักมุ่งขยายธุรกิจหรือออกบัตรใบใหม่ให้ผู้ที่ทำงานใหม่ที่อยู่ในกลุ่มคนเจนวายและผู้มีรายได้สูงกว่า 5 หมื่นบาท/เดือนเป็นสำคัญ

นั่นทำให้ ธปท.ต้องเร่งจัดระเบียบคนกลุ่มนี้ เพราะมีมวลหนี้มากที่สุดและปัจจุบัน เจนเนอเรชั่นวายมีจำนวนประมาณ 14 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยวางคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้แบบสอดคล้องกัน คือ เป็นพนักงานบริษัทมีรายได้ประจำ อายุไม่เกิน 65 ปี เป็นหนี้แบงก์ 2 แห่งขึ้นไป เป็นหนี้เอ็นพีแอลที่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง วงเงินหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีข้อจูงใจสำคัญ คือ การพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ด้านอัตราดอกเบี้ยกู้ 4-7% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งลูกหนี้แต่ละรายจะจ่ายดอกเบี้ยตามระดับรายได้ ได้แก่ รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท (ต่อเดือน) จะคิดดอกเบี้ย 4%, รายได้ 3-5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 5%, รายได้ 5 หมื่นบาท -1 แสนบาท คิดดอกเบี้ย 6% และรายได้มากกว่า 1 แสนบาท จะคิดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลหรือดอกเบี้ยบัตรเครดิต

แต่ในช่วง 5 ปีแรกที่เข้าโครงการนี้ ลูกหนี้จะถูก “ห้ามก่อหนี้ใหม่เพิ่ม” เว้นแต่ว่าลูกหนี้จ่ายคืนหนี้หมดก่อน 5 ปี จะทบทวนให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ได้

อีกด้านหนึ่งมีความพยายามที่จะกำหนดกรอบการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยลดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5 เท่าของรายได้ เหลือ 3 เท่าของรายได้ ส่วนบัตรเครดิตให้คุมเข้มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน โดยจำกัดให้ถือบัตรเครดิตได้ไม่เกิน 3 แห่ง และจำกัดวงเงินให้สินเชื่อไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ต่อเดือนเช่นกัน

แน่นอนว่า “หนี้” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล เพราะถูกโยงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด 3 ปี แม้ปรับคณะรัฐมนตรีและเปลี่ยนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่ปัญหาปากท้องของชาวบ้านยังแก้ไม่ตกและเกิดวังวนการก่อหนี้ไม่รู้จบ

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท พบว่า แรงงานไทยกว่า 97% ยังมีภาระหนี้ และก่อหนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 119,061 บาท เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี

ด้าน ธปท.สำรวจจำนวนสินเชื่อประเภทที่ไม่มีหลักประกันอย่าง “สินเชื่อส่วนบุคคล” ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีทั้งสิ้น 12.23 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้าง 3.31 แสนล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 9,844 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีจำนวนบัตรทั้งระบบรวม 19.6 ล้านใบ มียอดสินเชื่อคงค้าง 3.33 แสนล้านบาท มีเอ็นพีแอลรวม 9,859 ล้านบาท ซึ่งรวม 2 กลุ่มสินเชื่อ เม็ดเงินคงค้างมหาศาลกว่า 6 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังพยายามผลักดันยุทธการจัดระเบียบหนี้ต่างๆ ทั้งโครงการนาโนไฟแนนซ์และดึงกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาจดทะเบียนดำเนินธุรกิจสินเชื่ออย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้โครงการพิโกไฟแนนซ์ ล้มขบวนการดอกเบี้ยโหด ซึ่งจนถึงล่าสุดจากยอดผู้ประกอบการสนใจมายื่นเอกสารสมัครแล้ว 224 ราย กระทรวงการคลังออกใบอนุญาต 55 ราย มีบริษัทปล่อยสินเชื่อแล้ว 19 ราย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แม้ในจำนวนนี้มีเพียง 5 บริษัทที่ปล่อยสินเชื่อจริงเข้าสู่ระบบแล้ว ณ สิ้นเดือน เม.ย. 60 จำนวนรวมกันเพียง 1.2 ล้านบาท แต่เบื้องต้นมีการประเมินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งพิโกไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ สามารถแก้ปัญหาประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบ 50-60% จากข้อมูลลูกหนี้นอกระบบที่ลงทะเบียนผ่านโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบแรก 1.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 1 แสนล้านบาท

ในส่วนนาโนไฟแนนซ์ ขณะนี้มีผู้ประกอบการเปิดให้บริการแล้ว 23 ราย มีสาขารวมกันมากกว่า 1,700 สาขา และมีบริษัทที่เตรียมเปิดตัวธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เช่น แอสเซนด์ นาโน ของกลุ่มซีพี ผ่านบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น และมีผู้ประกอบการที่เติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน โดยยอดปล่อยกู้รวมกัน ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนมีผู้ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 1 แสนราย

ทว่าความพยายามของรัฐบาลยังเกิดคำถามว่า แม้เร่งลดหนี้ก้อนใหญ่ แต่อีกทางยังกระตุ้นการก่อหนี้ หรือแท้ที่จริงแล้ว “ปมปัญหา” อยู่ที่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่สร้างนิสัยการใช้เงินในอนาคตอย่างไม่รู้จบเช่นนี้

ใส่ความเห็น