วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จาก พ.ร.บ. ควบคุมสื่อ สู่การปรับตัวครั้งใหญ่

จาก พ.ร.บ. ควบคุมสื่อ สู่การปรับตัวครั้งใหญ่

ภูมิทัศน์ในแวดวงสื่อสารมวลชนกำลังได้รับแรงสั่นสะเทือนครั้งใหม่ เมื่อกลไกรัฐพยายามอย่างแข็งขันที่จะผ่าน พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ….ที่มีนัยของการ ควบคุม มากกว่าการคุ้มครองและส่งเสริม ตามชื่อเรียกของ พ.ร.บ. จนเป็นเหตุให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเรียกขานในนาม พ.ร.บ. ควบคุมสื่อ

พร้อมกับได้รับการวิพากษ์ว่าเป็นร่างกฎหมายที่ตั้งอยู่บนฐานความคิดของ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ.2484 และประกาศของคณะปฏิวัติของกลุ่มเผด็จการทหารที่สืบทอดเป็นมรดกทางความคิดต่อเนื่องออกมาอีกหลายฉบับในเวลาต่อๆ มา

ประหนึ่งเป็นความพยายามของผู้มีและยึดกุมอำนาจรัฐที่เติบโตผ่านยุคสมัยอนาล็อก ที่กำลังต้องดำเนินชีวิตอยู่กับโลกดิจิทัลสมัยใหม่ เพื่อรักษาสถานภาพดั้งเดิมไว้ให้นานที่สุดเท่าที่โอกาสแห่งอำนาจจะอำนวยให้ได้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากก็คือ กลไกทางกฎหมายที่คอยกำกับและควบคุมสื่อในเงื้อมมือของรัฐไทยในปัจจุบัน ดูจะมีจำนวนมากเพียงพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

รวมถึงมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ กสทช. ในการพิจารณาออกมาตรการทางปกครองและลงโทษสถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก

แต่นั่นอาจไม่ใช่เงื่อนไขหลักที่ทำให้สื่อต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในห้วงเวลาปัจจุบัน เท่ากับการที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันและความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านช่องทางในการสื่อสาร รวมถึงข้อจำกัดด้านรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่หดหาย

ทั้งในบริบทของสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำไปสู่ปรากฏการณ์การปิดตัวลงของนิตยสารหลายฉบับในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์รายวันกำลังดิ้นรนไปสู่การจัดวางคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มใหม่

ส่วนสมรภูมิทีวีก็มีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่หลังจากการมาถึงของทีวีดิจิทัล และการแทรกตัวเข้ามาของอุปกรณ์ดิจิทัลสมัยใหม่ ที่เปิดโอกาสให้สามารถชมคลิปย้อนหลังได้อย่างหลากหลาย จนสื่อโทรทัศน์กำลังจะกลายเป็นเพียงของประดับบ้านที่ไม่มีใครสนใจ

การปรับตัวของสื่อโทรทัศน์ในห้วงเวลาปัจจุบัน ทำให้หลายช่องต้องพยายามจัดเตรียมคอนเทนต์ ให้มีความหลากหลายและขยับปรับเวลาของแต่ละช่วงให้สั้นลง พร้อมที่จะขยายต่อในช่องทางสื่ออื่นๆ ในลักษณะของคลิปรายการย้อนหลัง ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับผู้ชมและแหล่งรายได้ใหม่บนแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป

ความเป็นไปในมิติที่ว่านี้ ช่อง 3 ดูจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดรายหนึ่งเมื่อช่วงเวลาของข่าวแต่ละช่วงถูกตัดแบ่งออกเป็นสัดส่วน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับพิธีกรแต่ละราย และพร้อมที่จะ spin off ให้มีสถานะเป็นรายการที่เป็นอิสระอยู่ในกลุ่มรายการใหญ่

ไม่ต่างจากการมีร้านอาหารหลากหลายเบียดแทรกกันอยู่ในศูนย์อาหารและเป็นความพยายามที่จะหลีกหนีจากการเป็นสถานีเล่าข่าวต้นทุนต่ำ ให้ขยับขึ้นมาเป็นรายการข่าวที่สามารถขายได้ พร้อมกับดึงบุคลากรที่เชื่อว่าน่าจะเป็นแม่เหล็กสำหรับคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาขยายตลาดอีกด้วย

การมาถึงของ “นิ้วกลม” หรือ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ในฐานะสมาชิกใหม่ของ ครอบครัวข่าว 3 ด้วยบทบาทของพิธีกรรายการ ดีเบต ในช่วงเรื่องเด่นเย็นนี้ เป็นความพยายามที่จะหาแม่เหล็กรายใหม่ หลังพ้นจากยุคของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งเคยเป็นปรากฏการณ์และสร้างรายได้ให้กับช่วงเวลาข่าวของช่อง 3 มาก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ภายใต้ความพยายามของกลไกรัฐที่จะครอบงำและใช้อำนาจในการควบคุมสื่อ ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์ที่มีภาพลักษณ์เป็นขั้วตรงข้ามอย่างวอยซ์ทีวี ต้องปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบรายการและบุคลากรภายในขนานใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ว๊อยซ์ทีวีถูกสั่งพักใบอนุญาตและถูกระงับการออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นเวลา 7 วัน ในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ว๊อยซ์ทีวีจะหายไป เพราะในโลกดิจิทัลที่ก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน ว๊อยซ์ทีวีก็ยังสามารถนำเสนอรายการผ่านช่องทางออนไลน์ และ Facebook Live ได้อย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี ท่าทีและการปรับเปลี่ยนของว๊อยซ์ทีวีในช่วงเวลาต่อมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่จะรักษาสถานภาพในระยะยาวมากกว่าที่จะปะทะจนต้องสูญเสียแบบเปล่าเปลืองในห้วงเวลาปัจจุบัน

ท่วงทำนองการปรับตัวของสื่อในประเทศไทย สอดรับกับสถานการณ์ในระดับสากลที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ระบุว่าเป็น “post-truth era of fake news” ที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ควบคู่กับการคุกคามสื่อที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งจัดทำดัชนีอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลก (World Press Freedom Index) เผยแพร่ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day, May 3) ระบุว่าอันดับเสรีภาพสื่อไทยประจำปีที่ผ่านมา ถดถอยร่วงลงมาอีก 6 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 142 จาก 180 ประเทศ ตามหลังทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย

ประเด็นว่าด้วยเสรีภาพสื่ออาจเป็นประเด็นที่ไกลออกไปสำหรับการรับรู้ของสาธารณชนทั่วไป แม้ว่าความมั่นคงของเสรีภาพสื่อมวลชนจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลักประกันเรื่องเสรีภาพด้านอื่นๆ ของสังคมก็ตาม

สิ่งที่สังคมให้ความสนใจกับความเป็นไปของสื่อมวลชนในปัจจุบัน อาจไม่ใช่ความสามารถในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการแต่ละราย เพราะนั่นย่อมเป็นบริบททางธุรกิจที่สื่อแต่ละรายต้องตระหนักและนำพาความอยู่รอด

หากแต่สิ่งที่สื่อจะต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมอยู่ที่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารความรู้ที่มีสารประโยชน์และช่วยนำพาให้ผู้บริโภคพัฒนาศักยภาพและความคิด มากกว่าที่จะเน้นความบันเทิงฉาบฉวย และการเอื้ออวยกลไกรัฐผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ที่มีสถานภาพไม่ต่างจากข่าวปลอมที่หาแก่นสารไม่ได้เช่นในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น