วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > 73 ปี “กันตนา กรุ๊ป” ถึงเวลาส่งไม้ต่อสู่ทายาทเจนฯ 3

73 ปี “กันตนา กรุ๊ป” ถึงเวลาส่งไม้ต่อสู่ทายาทเจนฯ 3

“เราอยู่ในรุ่น 2 ที่การทำธุรกิจบันเทิงมันสนุกมาก ทั้งๆ ที่มีอยู่แค่ 3-4 ช่อง เพราะเราแข่งกับตัวเองมากกว่าแข่งกับคนอื่น แต่พอยุคนี้ต้องแข่งทั้งกับตัวเอง แข่งกับคนอื่น แข่งกับโลก และเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มันเป็นยุคของเจนฯ 3 ที่เขาจะเข้ามาสานต่อ เพราะเขาเกิดมากับคอนเทนต์ มีพรสวรรค์ มีแรงและตื่นตัว ที่สำคัญเขาไม่ได้เข้าใจแค่เรื่องการผลิต แต่เข้าใจถึงเรื่องการหารายได้ว่ามันต้องมาจากไหน” ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวในวันเปิดตัวทายาทรุ่น 3 และผู้บริหารรุ่นใหม่แบบครบทีม ที่จะมาผนึกกำลังขับเคลื่อนองค์กรผ่านโครงการ Blue Project

เป็นเวลา 73 ปีเต็ม ที่ “กันตนา กรุ๊ป” โลดแล่นในธุรกิจบันเทิงของไทย จากยุคผู้ก่อตั้งอย่าง “ประดิษฐ์ – สมสุข กัลย์จาฤก” สู่รุ่น 2 ในยุคของ จาฤก กัลย์จาฤก และ นิรัตติศัย กัลย์จาฤก และกำลังเข้าสู่รุ่น 3 ภายใต้การนำของ คุณเต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก และคุณเต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก ที่พร้อมต่อยอดธุรกิจจากคณะละครวิทยุสู่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แอนิเมชัน แล็บโพสต์โปรดักชัน จนกลายเป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงครบวงจรที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

“กันตนา” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2494 เมื่อคุณประดิษฐ์และคุณสมสุข กัลย์จาฤก ร่วมกันจัดตั้งคณะละครวิทยุในชื่อ “คณะกันตนา” เพื่อผลิตละครวิทยุซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น กระทั่งปี 2501 คณะกันตนาก้าวเข้าสู่วงการโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ด้วยการนำบทประพันธ์เรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” ไปแสดงละครโทรทัศน์ออกอากาศสดทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 แบบขาว-ดำ

ถัดมาในปี 2503 บทละครวิทยุของคณะกันตนาได้รับการซื้อลิขสิทธิ์นำไปผลิตเป็นภาพยนตร์ ได้แก่ “ตุ๊กตาผี” และ “นางแมวผี” พากย์โดยคณะละครวิทยุกันตนา ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ในเวลานั้นจนทำให้ได้รับความชื่นชอบจากผู้ชมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น “ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก” จึงได้ก่อตั้ง “กันตนาภาพยนตร์” โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตคือ “ผีพยาบาท”

หลังจากนั้นกันตนาภาพยนตร์ได้ผลิตภาพยนตร์ป้อนสู่ตลาดบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันบทละครวิทยุของกันตนาก็มีผู้ขอซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และภาพยนตร์ทางโทรทัศน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้ง รัชฟิล์ม ทีวี โดยพันเอกพยุง ฉันทศาสตร์โกศล (สกุลเดิม พึ่งศิลป์) อย่างเรื่อง “ลูกกรอก” “ปมด้อย” ซึ่งออกอากาศทาง ททบ.5, ดาราฟิล์ม โดยไพรัช สังวริบุตร ได้แก่เรื่อง “ห้องหุ่น” “ปอบผีฟ้า” ออกอากาศทางช่อง 7 สี

พ.ศ. 2523 ก่อตั้ง บริษัท กันตนา วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด และก้าวขึ้นเป็นผู้นำของวงการบันเทิงไทยด้วยการสร้างสตูดิโอสำหรับถ่ายทำรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมถึงให้บริการเครื่องมือสำหรับถ่ายทำและตัดต่อแบบครบวงจร มีการพัฒนาระบบการถ่ายทำนอกสถานที่และระบบเสียงแบบไร้สายทำให้การผลิตละครโทรทัศน์เปลี่ยนไปสู่การบันทึกเทปนอกสถานที่ อีกทั้งยังมีการเดินทางไปถ่ายทำยังต่างประเทศ ซึ่งทำให้ละครโทรทัศน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระทั่ง พ.ศ. 2527 จึงมีการก่อตั้งบริษัท กันตนา จำกัด ขึ้น ก่อนที่จะเปิดบริษัทในเครือเพิ่มขึ้นอีกหลายบริษัทเพื่อรองรับการขยายงานด้านธุรกิจบันเทิง โดยในปี พ.ศ. 2531 ได้จับมือกับบริษัท โตเอะ จำกัด ผู้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ไทย แอนิเม จำกัด บุกเบิกธุรกิจการผลิตแอนิเมชันโดยฝีมือคนไทย รวมถึงมีการผลิตรายการ “ท้าพิสูจน์” รายการดังที่ออกอากาศทางช่อง 7 นานกว่า 10 ปี ในระยะเวลานั้นยังได้บุกเบิกงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ฟิล์มแล็บ และซาวด์สตูดิโอ โดยจัดตั้งบริษัท กันตนา แอนนิเมชัน จํากัด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโพสต์โปรดักชันครบวงจรที่พัฒนาจนเป็นหนึ่งในสายธุรกิจหลักในเวลาต่อมา

ต่อมาในปี 2538 บริษัท กันตนา จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด พร้อมก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจสื่อบันเทิงที่ครอบคลุมทั้งการผลิตและการให้บริการ ก่อนจะก้าวสู่การเป็นบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อย่างเต็มรูปแบบใน พ.ศ. 2546 และเป็นระยะเวลาที่กันตนา กรุ๊ป เติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายใต้แนวคิด “One Stop Service” ที่ขยายธุรกิจในทุกมิติและมีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท

แต่ถึงกระนั้นสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาเยือนกันตนาในปี 2552 ที่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตสื่อบันเทิงกับการก้าวสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งกันตนาเองก็ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการผลิตละครในระบบดิจิทัลและพัฒนาธุรกิจโพสต์โปรดักชั่นควบคู่กัน

ไม่เพียงเท่านั้น กันตนายังได้พัฒนาคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งซีรีส์และรายการโทรทัศน์เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในแพลตฟอร์มใหม่อย่าง OTT (Over The Top) รวมถึงสตรีมมิ่งต่างๆ เพื่อให้รับกับเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท ได้แก่ สายธุรกิจคอนเทนต์ สร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ในทุกแพลตฟอร์ม, สายธุรกิจโปรดักชัน เซอร์วิส บริหารธุรกิจภาพยนตร์ ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์และภาพยนตร์แอนิเมชัน ให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณา ตั้งแต่การเตรียมการผลิต (Preproduction) การผลิต (Production) และขั้นตอนหลังการผลิตขั้นสูง (Hi-end Postproduction) รวมถึงบริการให้เช่าเครื่องมือ อุปกรณ์ สตูดิโอ ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์, สายธุรกิจเอ็ดดูเคชั่น ดำเนินการบริหารจัดการธุรกิจการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสื่อบันเทิง โดยมีสถาบันกันตนา และ Kantana Training Center เป็นตัวขับเคลื่อน

“พี่อยู่ในยุครุ่งเรืองที่สุด ยุคนั้นรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท เพราะเรตโฆษณานาทีละ 400,000 บาท พี่เคยให้สัมภาษณ์ว่าทำคดีเด็ดรายการเดียวสามารถเลี้ยงบริษัทได้เลย แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะค่าโฆษณาราคาต่ำลงเรื่อยๆ จาก 400,000 เหลือ 40,000 และหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนเคยทำละครหลังข่าวความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ตอนนี้เหลือชั่วโมงเดียว ล่าสุดต้องทำ 1-2 นาที” ศศิกรกล่าว

นั่นจึงเป็นเหตุให้ “กันตนา กรุ๊ป” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งโครงสร้างองค์กรและกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล โดยดึงทายาทรุ่น 3 กว่าสิบชีวิต พร้อมทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ นำโดย เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก และเต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก มาขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ “Blue Project” ที่ใช้ความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของกันตนามาสร้างคอนเทนต์และโปรดักชันให้เข้ากับยุคสมัยและแพลตฟอร์มยุคใหม่ พร้อมปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ที่เชื่อมคอนเทนต์และคอมมูนิตี้เข้าด้วยกัน

ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา เอฟโวลูชั่น จำกัด และผู้อำนวยการบริหารการสร้างสรรค์รายการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนและก้าวสำคัญของกันตนา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับตัว แต่เรารู้อยู่แล้วว่านี่คือชีวิตของเรา เป็นสิ่งที่ปู่ย่าและพ่อสร้างมา เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ต่อไปให้ได้ ส่วนทำไมต้องเป็น Blue Project เพราะสีน้ำเงินมันคือสี DNA ของกันตนา”

โดยแนวทางการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ถือเป็น Core Business ของกันตนานั้นจะปรับเปลี่ยนให้หลากหลายขึ้นตามแพลตฟอร์ม โดยพลิกโฉมโมเดลการรับชมคอนเทนต์ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป พร้อมเสริมทัพด้วยคอนเทนต์ใหม่ ๆ ได้แก่  Reality Competition หรือรายการเรียลลิตี้กับรายการใหม่ “The Original” ที่คุณเต้บอกว่าไม่ใช่แค่การสร้าง Top Model ให้กับเมืองไทย แต่จะเป็นการเฟ้นหาคนที่มีความออริจินัล โดดเด่น จนสามารถสร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นของตัวเอง และเป็นที่ยอมรับในแบบฉบับของตัวเองสู่การเป็น trendsetter

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวรายการทอล์กโชว์ “Blue Talk” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยคุณเต้จะทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ ที่จะพาไปเจาะลึกและทำความรู้จักกับเรื่องราวในหลากหลายวงการ

ไม่เพียงเท่านั้น ภายใต้ Blue Project ยังมาพร้อมคอนเทนต์ที่จะมีการสร้างรายได้ในโมเดลใหม่ๆ นั่นคือการทำ Content Subscription Model ผ่านช่องยูทูบของ Kantana Motion Pictures โดยผู้เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น การรับชมคอนเทนต์ก่อนใคร ร่วมกิจกรรมกับนักแสดง โดยจะประเดิมคอนเทนต์แรกด้วยซีรีส์สไตล์ Romantic Fantasy ในชื่อ “Reverse 4 You ดาวบริวาร” ที่นำมาจากนิยายเรื่องดังที่มีแฟนคลับและผู้ติดตามอ่านจำนวนมาก พร้อมด้วยซีรีส์เรื่องล่าสุด “สืบสันดาน” ที่กำลังจะออกอากาศทาง Netflix

รวมไปถึงการนำคอนเทนต์ที่เป็น IP ของกันตนาที่มีอยู่นับพันเรื่องมาผลิตต่อยอดเป็นงานรูปแบบต่างๆ เช่น Micro drama รูปแบบละครสั้น ตอนละ 1-2 นาที ทางออนไลน์แพลตฟอร์ม และร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อต่อยอดงานร่วมกันในรูปแบบที่ไม่จำกัด ทั้งซีรีส์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเกม

โดยล่าสุดยังเตรียมสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน “ก้านกล้วย 3” และเกมออนไลน์ “ก้านกล้วย” บนแพลตฟอร์มมัลติเวิร์สอย่าง Roblox และ Sandbox รวมถึงการเปิดสตูดิโอเกม Dev: A ที่เป็น Metaverse Studio และ WEREBUFF Game Studio ที่จะผลิต Horror Adventure Game ในชื่อ “Kumarn” เกมแรกของประเทศที่สร้างเรื่องแบบภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่เป็นเอกลักษณ์ของกันตนา

อีกหนึ่งคอนเทนต์ที่น่าสนใจจากทายาทเจนฯ 3 คือรายการ “Boiling Planet” ที่นำเสนอเรื่องราวของวิกฤตโลกเดือดให้เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และยังมีรายการที่นำความเชี่ยวชาญในการผลิตรายการเรียลลิตี้มาสร้างสรรค์เรียลลิตี้แนวใหม่เจาะกลุ่มเกษตรกร ในรายการ “The Super Farmer” รายการแข่งขันการปลูกข้าวรายการเดียวในประเทศไทย ที่มาพร้อมภารกิจการแข่งขันปลูกข้าวในพื้นที่นา 1 ล้านไร่ เพื่อสร้างตัวอย่างนาข้าวคาร์บอนต่ำที่ได้มาตรฐานโลก

นอกจากคอนเทนต์ต่างๆ แล้ว  Blue Project ยังนำอีเวนต์มาเสริมทัพ ประเดิมด้วยการจัดงานเทศกาล “Thailand International LGBTQ+ Film & TV Festival 2024” (TILFF) สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ พร้อมด้วยงาน “World Wedding Ceremony” ที่จะรวบรวมคู่บ่าวสาวจากนานาชาติ เข้าสู่ประตูวิวาห์พร้อมกันในประเทศไทยอย่างเท่าเทียม

และสำหรับงานด้านการผลิตหรือโปรดักชันที่กันตนาถือเป็นหนึ่งในผู้นำและได้รับการยอมรับนั้น กันตนาได้ทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาท สร้าง Kantana Virtual Studio ที่นำนวัตกรรมการถ่ายทำใหม่ๆ มาใช้ในการสร้างภาพโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริงมาผสานกัน ตอบโจทย์ทั้งสำหรับงานโปรดักชันภาพยนตร์, ซีรีส์, เกม และงานโฆษณา รวมถึงงานด้าน Post Production ทั้งภาพและเสียงที่ให้บริการครบวงจร  โดยปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตด้วยสตูดิโอเสียงในระบบ Immersive ที่มีมาตรฐานสูงเพิ่มถึง 42 ห้อง ที่สำคัญยังตั้งเป้าเป็นฮับของเอเชียอีกด้วย

“ทั้งหมดนี้คือ Blue Project ในปีนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของกันตนาในการเคลื่อนทัพรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ เราเปลี่ยนแปลงกันมาหลายครั้ง ยังไงเราก็จะอยู่เป็นตำนานที่มีลมหายใจ จากนี้ไปอยากให้ทุกคนมีความตื่นตัว ตื่นเต้น และมีความสุขกับการลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์และมีความสุขในการรับชมกันอีกครั้ง” เต้ ปิยะรัฐ กล่าวทิ้งท้าย.