Home > CITY TOWER

พินิจ “หอชมเมือง” ผ่านความเป็นไปของ Tokyo Skytree

ประเด็นว่าด้วยการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นเรื่องราวที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการตัดสินใจทุบอาคารโรงแรมดุสิตธานี เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแบบผสม (mix use) พร้อมกับแนวความคิดที่จะสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ จากผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินหลากหลาย แต่กรณีว่าด้วยการเกิดขึ้นของ “หอชมเมือง” โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดูจะเป็นการจุดกระแสสำนึกตระหนักและการวิพากษ์ว่าด้วยความแตกต่างระหว่างคำว่า “อัตลักษณ์” หรือ “อัปลักษณ์” ของเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ในยุคสมัยถัดไปได้อย่างกว้างขวาง ความเป็นไปของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะในมิติของวาทกรรมว่าด้วยความเสื่อมถอยหรือการพัฒนาไม่ได้ตั้งอยู่ในบริบทที่แตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองมหานครแห่งอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งในอนิจลักษณ์ ที่พบเห็นได้ทั่วไป หากแต่สิ่งที่จะนำมาซึ่งความแตกต่างกลับอยู่ที่วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนาและความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องว่าด้วยสาธารณะและบทบาททางสังคมในการปรับภูมิทัศน์ของเมืองร่วมกัน เพราะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเขตมหานครที่มีผู้คนและสิ่งปลูกสร้างอย่างคับคั่งหนาแน่น ย่อมมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการของบรรษัทที่มุ่งอาศัยสรรพกำลังของทุนในการดำเนินการเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากผลของความต้องการที่จะพัฒนาร่วมกันของประชาคมโดยองค์รวม ควบคู่กับวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย โดยในญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความพยายามที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาส่วนใหญ่จะดำเนินไปภายใต้คณะทำงานระดับเมืองเพื่อการพัฒนาชุมชน เพื่อรวบรวมความต้องการของประชาคม หรือการปรับสถานะมาเป็นคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งคณะทำงานและกรรมาธิการเหล่านี้มิได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อถกแถลงถึงรูปแบบการพัฒนาอย่างรอบด้านและผลกระทบซึ่งรวมถึงภูมิสถาปัตย์ของสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดมีขึ้นเท่านั้น หากต้องสืบค้นและพิสูจน์สิทธิของผู้ครอบครองและผู้รับผลกระทบแต่ละรายเพื่อยกร่างเป็นข้อตกลงระหว่างกันด้วย แต่นั่นอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังจะได้เห็นในสังคมไทย ซึ่งดูจะมีความสมบูรณ์แบบในระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มีวาทกรรมหลักอยู่กับไทยแลนด์ 4.0 และการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดภายใต้มาตรา 44 เช่นในปัจจุบัน กล่าวเฉพาะกรณีว่าด้วย “หอชมเมือง” หรือ หอคอยสูงของกรุงโตเกียวเพื่อทดแทนโตเกียว ทาวเวอร์ จากผลของการประกาศนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อปรับเปลี่ยนการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบ analog ไปสู่การส่งสัญญาณแบบ digital ตั้งแต่เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว ก็มีรายละเอียดที่น่าติดตามไม่น้อย

Read More