COVID-19 เชื้อฟืนเผาจริงเศรษฐกิจไทย?
แรงกดดันว่าด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในนาม COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ความท้าทายต่อความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุขและมาตรการรับมือกับสถานการณ์ความเป็นไปของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากแต่ผลของการแพร่ระบาดยังคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมซึ่งกำลังนำไปสู่ new normal หรือวิถีชีวิตใหม่ในไม่ช้า ตลอดระยะเวลากว่า 2-3 เดือนนับตั้งแต่แรกเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดในประเทศจีน การประเมินความเสียหายอาจจะจำกัดวงอยู่เฉพาะในส่วนของการค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจีนอย่างเป็นด้านหลัก หากแต่เมื่อข้อเท็จจริงของการแพร่ระบาดกระจายตัวไปสู่การประกาศให้ COVID-19 เป็น “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก” (Pandemic) โดยองค์การอนามัยโลกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ขยายตัวไปสู่ความกังวลใจว่า COVID-19 จะเป็นปัจจัยลบที่ฉุดให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นไปอีก COVID-19 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายทำลายร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะโรงงานหลายแห่งในจีนที่มีบริษัทจากต่างประเทศได้ทุ่มเงินมหาศาลเข้าไปลงทุนทำกิจการต่างต้องปิดทำการชั่วคราว ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศก็ต่างชะลอตัวลงหลังรัฐบาลจีนประกาศห้ามประชาชนในประเทศออกไปท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสที่รุนแรงไปมากกว่านี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในรูปแบบของ domino effect ซึ่งในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ที่การท่องเที่ยว และพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนอย่างเป็นด้านหลัก ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยทรุดหนักถึงขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสายการบิน หรือแม้กระทั่งสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่เคยมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นต่างเงียบเหงาไร้ผู้คน และทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยทนพิษไม่ไหวจนถึงขนาดที่ต้องยอมถอยและปิดกิจการลง กระนั้นก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนต่างพยายามประคับประคองและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่เบื้องหน้า โดยธุรกิจสายการบินดูจะเป็นธุรกิจที่นอกจากจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับกับวิกฤตครั้งนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารการบินไทยลงร้อยละ 15-25 ควบคู่กับการปรับลดค่าพาหนะลงร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2653
Read More