ความล่มสลายของชุมชน ภายใต้นามของการพัฒนา
ความเคลื่อนไหวในเขตชุมชนเมืองพระนครในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากจะมีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิการอยู่ในพื้นที่ของชาวหมู่บ้านบางกลอยที่กำลังเป็นประเด็นว่าด้วยการไล่รื้อและทวงคืนพื้นที่ผืนป่าในนามของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับการจัดตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ในอีกด้านหนึ่งชุมชนชาวสามเสน-บางลำพู-พระสุเมรุ กำลังพะวักพะวงกับข่าวแนวเขตเวนคืนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ความเป็นไปของการอนุรักษ์และการพัฒนาในสังคมไทยดูจะเป็นประเด็นเปราะบางที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนแต่ละแห่งอย่างต่อเนื่องตลอดมา ขึ้นอยู่กับว่ากลไกรัฐจะเอ่ยอ้างเหตุผลในการกระทำต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไร ซึ่งนั่นล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชุมชนอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ หากลองย้อนพิจารณาในกรณีของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินเขตรอยต่อไทย-เมียนมา เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้ง หลังจากที่อุทยานแห่งชาติ “แก่งกระจาน” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ยุติปฏิบัติการ และยุติการจับกุมชาวบ้านทุกคน พร้อมคืนสิทธิพื้นที่อาศัยทำกิน ตามวิถีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งต่อมาศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยว่าบ้านบางกลอย เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และให้ยุติการจับกุม แม้ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยดังกล่าว หากแต่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยก็ไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ของบรรพบุรุษได้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ สร้างความผิดหวังให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยไม่น้อย ความด่างพร้อยของประพฤติการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถูกผลิตซ้ำให้เห็นในกรณีของยุทธการตะนาวศรี ซึ่งเจ้าหน้าที่รุกเข้าไปเผาทำลายบ้านเรือนชาวกะเหรี่ยง และยังเกี่ยวโยงกับโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำของทหารตกบริเวณ อ.แก่งกระจาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 17 ศพ
Read More