คนไร้บ้านกับ COVID-19 เสี่ยงทั้งติดเชื้อและอดตาย?
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องในสังคมไทย กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อทั้งการได้รับหรือติดเชื้อ COVID-19 มากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งดูจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งแม้ทุกฝ่ายจะระบุว่าไม่ควรมองข้ามหรือละเลย หากแต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนไร้บ้านเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะมีความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจและปากท้องอีกด้วย แม้ว่ามูลเหตุหรือจุดเริ่มต้นของ “คนไร้บ้าน-คนไร้ที่พึ่ง-คนเร่ร่อน-คนจรจัด-คนตกงาน” อาจแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มคน หากแต่ด้วยเงื่อนไขปัจจุบันพวกเขาถูกนิยามด้วยคำจำกัดความว่า “ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ” ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน องค์กรเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อน ระบุว่าในปี 2562 กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนไร้บ้านรวมกว่า 4,392 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในระดับไม่ถึง 3 พันคนเสียอีก แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญเท่าใดนัก ความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยป้ายรถเมล์หรือสถานที่ที่มีแสงสว่างเป็นที่พักพิง หาเลี้ยงชีพโดยการเก็บขวดหรือของเก่าขาย รับจ้าง เป็นแรงงานรายวัน หรือค้าขายทั่วไป ซึ่งในมิติของสุขอนามัยและสุขภาพพื้นฐาน ต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สุขอนามัยไม่ดีนัก เพราะต้นทุนการอาบน้ำของคนไร้บ้านสูงถึงครั้งละ 15-20 บาท เทียบเท่าอาหาร 1 มื้อ คนไร้บ้านจึงเลือกเก็บเงินไว้ซื้อหาอาหารประทังชีวิตและปล่อยให้เนื้อตัวมอมแมมจนเป็นภาพติดตา นอกจากนี้ การที่คนไร้บ้านมักอาศัยรวมกลุ่มกัน จึงง่ายต่อการระบาดของโรคติดต่อ คนไร้บ้านจำนวนมากยังเป็นวัณโรค ในบางพื้นที่สัดส่วนคนไร้บ้านที่เป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 80 เรียกว่าเสี่ยงเป็นพิเศษต่อโรค COVID-19 ที่มุ่งโจมตีระบบทางเดินหายใจ ประเด็นว่าด้วยสุขภาพของคนไร้บ้านไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
Read More