ส่องเทศกาลกินเจ 2561 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทย
เทศกาลถือศีลกินเจเวียนมาถึงอีกครั้ง ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่มีความเห็นต่าง โดยฝั่งรัฐบาลมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2561 ส่งสัญญาณดีขึ้น มองเห็นการฟื้นตัว ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายวงกว้างมากขึ้น หากจะมองเช่นนั้นคงไม่ผิดนัก เมื่อพิจารณาจากโครงการที่ภาครัฐลงทุนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน อันจะนำมาซึ่งการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ภาคประชาชนกลับเห็นต่างออกไป ซึ่งสะท้อนออกมาทางผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และแม้ว่าตัวเลขความเชื่อมั่นจะลดลงไปเพียงเล็กน้อย แต่นั่นหมายถึงสัญญาณบางอย่างที่ภาครัฐไม่ควรเพิกเฉย โดยผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนกันยายน 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังมีราคาต่ำ นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดน้อยลง และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกันยายน ลดลงจากระดับ 70.2 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 69.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนกันยายน 2561 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.3 มาอยู่ที่ระดับ 87.2 แม้ว่าส่วนหนึ่งของปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ กระนั้นยังมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นและกลายเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ซึ่งถึงเวลานี้คาดว่าคงต้องใช้เวลาในการเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวอีกพอสมควร ขณะที่เทศกาลกินเจปี 2561 มีการเปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงนี้ทั้งจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยด้านหอการค้าไทยเปิดเผยว่า เทศกาลกินเจปีนี้ น่าจะมีเงินสะพัดมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท นับเป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
Read More