สกสว. หนุนสร้างเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ‘วิศวกรรมโบราณสถาน’
นักวิจัยม.ธรรมศาสตร์ลงพื้นที่สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เก็บภาพถ่ายโบราณสถานทางอากาศเพื่อตรวจสอบความเสียหาย พร้อมตรวจวัดหาค่าความถี่ธรรมชาติของตัวโครงสร้างโบราณสถานและริเริ่มกระบวนการสร้างเครือข่ายวิจัยภูมิภาคแก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อถ่ายทอดความรู้สู่การวิจัยเชิงวิศวกรรมโบราณสถาน คณะวิจัยชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม (ระยะที่ 2 ) นำโดย รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม พร้อมด้วยทีมงานจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเชิงวิศวกรรมของโบราณสถาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อเข้าสำรวจโบราณที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการศึกษาข้อมูลและบูรณะซ่อมแซมในอนาคต อันเป็นผลสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับกรมศิลปากร เพื่อวางแผนอนุรักษ์ บำรุงรักษาโบราณสถานในเขตอุทยานที่มีผลกระทบสำคัญเร่งด่วน อาทิ เจดีย์เอียง ฐานรากทรุด ทดสอบวัสดุเดิม และวัสดุทดแทนใหม่สำหรับการบูรณะ โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการศึกษาวิจัยให้เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิศวกรรมต่อไป รศ. ดร.นครระบุว่าการลงพื้นที่วิจัยที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีการดำเนินงานหลัก 2 ส่วน คือ การสำรวจเก็บภาพถ่ายโบราณสถานโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และนำภาพถ่ายมาขึ้นแบบจำลองสามมิติ เพื่อตรวจสอบ รายงานผลความเสียหาย และวิเคราะห์โครงสร้าง โดยแปลงเป็นแบบจำลองทางเรขาคณิตหรือเรียกอีกอย่างคือการการสร้างแบบจำลองทางวิศวกรรมด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ทำนายพฤติกรรมของโครงสร้างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การนำโดรนมาใช้กับการตรวจสอบนั้นนอกจากสะดวกต่อการเข้าถึงพื้นที่ที่จำกัดแล้ว ยังช่วยในด้านการรักษาโบราณสถานที่อาจได้รับความเสียหายระหว่างทำการสำรวจโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังทำให้ได้ข้อมูลพื้นผิวโครงสร้างที่ครบถ้วน มีองค์ประกอบของสีที่หลากหลาย แก้ไขความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็วระหว่างการสำรวจ ช่วยลดต้นทุน
Read More