“คนจับปลา” จากชาวประมง ส่งตรงถึงผู้บริโภค คนอยู่ได้ ทะเลอยู่รอด
อาหารทะเลเป็นที่โปรดปรานของใครหลายๆ คน แต่เคยสงสัยไหมว่า ปลาหนึ่งตัวที่อยู่บนโต๊ะอาหารนั้น มีที่มาอย่างไร ถูกจับมาจากที่ไหน โดยวิธีการอะไร และมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารให้กับคนในประเทศและสามารถส่งออกสร้างรายได้มหาศาล แต่ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่กำลังถูกทำลาย ความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง การทำประมงเกินขนาดที่เน้นปริมาณและขาดความรับผิดชอบคือหนึ่งในตัวการที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อนที่สมควรได้เติบโตกลับถูกจับทั้งที่ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้ทะเลไทยเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และกำลังกลายเป็นวิกฤตอาหารทะเลที่ถูกซ่อนเอาไว้ จนผู้บริโภคไม่ทันได้ตระหนัก วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้เปิดเผยถึงสถิติการจับสัตว์น้ำทะเลที่น่าสนใจไว้ว่า “ปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณการจับสัตว์น้ำทะเลโดยรวมกว่า 1,500,000 ตัน มาจากการประมงพาณิชย์ 1,249,203 ตัน และจากประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน 161,462.36 ตัน จากปริมาณสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลที่จับได้โดยการประมงพาณิชย์ พบว่ามีเพียง 50% เท่านั้นที่สามารถนำมาบริโภคได้ แต่อีก 50% กลับไม่ได้คุณภาพ เป็นสัตว์น้ำทะเลวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ในที่สุด นั่นทำให้อาหารทะเลมีราคาแพง ในขณะที่ผลผลิตจากการประมงพื้นบ้านเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณภาพถึง 90% แม้ผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่ามากแต่กลับมีคุณภาพมากกว่า” ซึ่งนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยมองว่า เราอาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าประมงพาณิชย์คือตัวการสำคัญในการทำลายความสมบูรณ์ของทะเล แต่การทำประมงโดยใช้เครื่องมือที่ทำลายล้างและเกินขนาด อันเป็นการทำประมงที่ขาดความรับผิดชอบต่างหากคือตัวการแห่งความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทย คำถามต่อมาคือ เครื่องมือทำลายล้างเหล่านั้นมีอะไรบ้าง? เครื่องมือประมงที่ถือเป็นตัวทำลายล้าง ประกอบไปด้วย “อวนลาก”
Read More