วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2024
Home > New&Trend > เจียไต๋ชวนเด็กไทยสร้างแบรนด์ชุมชน กับโครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge

เจียไต๋ชวนเด็กไทยสร้างแบรนด์ชุมชน กับโครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge

เจียไต๋จัดโครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge ชวนเด็กไทยสร้างแบรนด์ชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสังคม

ตลอดระยะเวลา 98 ปีที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย เจียไต๋ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรครบวงจร ได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง และตระหนักถึงปัญหาของเกษตรกรไทย นั่นคือปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อีกทั้งทัศนคติของคนทั่วไปยังมองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่รายได้น้อยและไม่น่าภูมิใจ ทำให้อาชีพเกษตรกรถูกมองข้ามและนับวันจะถูกลดความสำคัญลง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้วยเหตุนี้ เจียไต๋ จึงขออาสาจูงมือเยาวชนไทยไปทำความรู้จักอาชีพเกษตรกร พร้อมสนับสนุนเยาวชนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างแบรนด์สินค้าจากผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตในชุมชน ในโครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge การประกวดโครงงานระดับชั้นมัธยมปลายภายใต้หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์เกษตรไทย เยาวชนรุ่นใหม่สร้างแบรนด์ชุมชน” ด้วยความมุ่งหวังจะให้เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตของสังคมไทยช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรให้เติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

คุณดวงพร จิราพิพัฒนชัย ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจโฮมการ์เด้น อธิบายว่า “เราเลือกจะทำโครงการนี้กับกลุ่มเยาวชน เพราะเด็กคือบุคลากรที่มีศักยภาพจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เราอยากให้ต้นกล้าน้อยๆ เหล่านี้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม จึงจัดทำโครงการนี้เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ที่จะเป็นรากฐานให้น้องๆ ใช้ต่อยอดในอนาคต ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ซึ่งเกิดจากผลผลิตทางการเกษตรที่น้องๆ นักเรียนส่งเข้าประกวดยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตในชุมชน สามารถต่อยอดเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายได้จริง ช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่เจียไต๋อยากผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคม”

โครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก โดยเริ่มต้นกับน้องๆ ชั้นมัธยมปลายในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่การพาน้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบไปเข้าค่ายเรียนรู้การทำการเกษตร Chia Tai Young Farmer Camp ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อศึกษาแนวทางการทำตลาดและสร้างผลิตภัณฑ์เกษตรจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากน้องๆ จะได้สัมผัสบรรยากาศของการทำการเกษตรอย่างครบวงจรที่เจียไต๋ฟาร์มแล้ว ยังได้อบรมเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และการตลาด โดย ผศ.ดร.ศุภรักษ์ อธิคมสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และชุมชน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรพิเศษในการบรรยายให้ความรู้ น้องๆที่เข้าค่ายจะสามารถนำความรู้จากการอบรม มาปรับปรุงและพัฒนาผลงานเพิ่มเติมก่อนการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ โดยหลังจบการประกวด สินค้าของน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเลือกมาวางจำหน่ายจริง โดยเริ่มจากการตั้งบูธที่เจียไต๋ สำนักงานใหญ่ เพื่อทดลองขายสินค้าให้กับพี่ๆ พนักงานก่อน นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับน้องๆ แล้ว ยังเป็นการทดสอบผลตอบรับจากผู้บริโภคจริง ก่อนวางจำหน่ายทั่วไปอีกด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ชนะการประกวดในปีนี้คือ ครีมทาส้นเท้าแตกจากหัวไช้เท้าออร์แกนิก ผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของนางสาวนารีรัตน์ โยริพันธ์ นางสาวจุฑาทิพ สัจจาแก้ว และนายกรรณชัย ยินดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง สมาชิกทีมทั้ง 3 คน เล่าถึงประสบการณ์ในการแข่งขันว่า “เราเริ่มต้นจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของปัญหา ไปจนถึงวัตถุดิบที่นำมาพัฒนา หัวไช้เท้ามีสรรพคุณที่เหมาะสมและมีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ประกอบกับแนวโน้มของตลาดที่คนหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ตลาดกลุ่มนี้จึงยังมีการเติบโต นี่คือไอเดียริเริ่มตอนเริ่มทำโครงงาน พอได้ไปเข้าค่ายที่เจียไต๋ฟาร์ม จังหวัดกาญจนบุรี ก็ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ช่วยเปิดมุมมองทางธุรกิจมากขึ้นจากตัวอย่างโครงการจริง ประกอบกับมีพี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านการตลาดคอยให้คำแนะนำเรา สอนวิธีคิด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้แผนการตลาดมีประสิทธิภาพ เช่น ทำอย่างไรให้คนสนใจผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรถึงจะขายได้ อยากจะเจาะกลุ่มเป้าหมายใด และจะต้องขายจำนวนเท่าไรจึงจะมีกำไร เป็นต้น ซึ่งเด็กส่วนใหญ่อย่างพวกเราอาจมองไม่ลึกถึงจุดนี้”

นอกจากได้มุมมองด้านธุรกิจและทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว อีกสิ่งที่น้องๆ ทั้งสามได้จากการประกวดคือทัศนคติต่ออาชีพเกษตรกรที่เปลี่ยนไป โดยน้องๆ กล่าวว่า “ก่อนเข้าร่วมการประกวดคิดว่าเกษตรกรคือคนสวนที่ปลูกผักส่งตลาดเท่านั้น และยังไม่รับรู้ปัญหาของเกษตรกร พอเข้าแข่งขันถึงได้รู้ว่าเกษตรกรต้องทำอะไรบ้างกว่าจะได้ผลผลิตออกมา และไม่เคยคิดมาก่อนว่าพืชตามท้องตลาดจะสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้มากขนาดนี้ พวกเราจึงอยากพัฒนาผลงานนี้ให้จริงจังมากยิ่งขึ้น”

ด้านนายพรชัย คำเชิด อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเด็กผ่านประสบการณ์ในหลายด้าน ทั้งการได้ลองปลูกผัก และได้ฝึกทักษะการนำเสนอ ผลงานที่ได้มันเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่สำคัญคือความรู้ที่เด็กสามารถนำไปต่อยอดได้จริงทั้งในการเรียนและการทำงานในอนาคต”

ด้วยความมุ่งมั่นจะให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืน เจียไต๋จึงเตรียมเดินหน้าต่อยอดโครงการ Chia Tai Young Farmer Challenge ในปีต่อๆ ไปให้ครอบคลุมไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์ในตัวเยาวชน ให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

โฉมหน้าทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการ Young Farmer Challenge ปีแรกนี้

ใส่ความเห็น