“เกษตรแปลงใหญ่” ความท้าทายของการจัดการ
พระราชพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2560 ผ่านพ้นไปแล้ว เป็นประหนึ่งสัญญาณบอกกล่าวว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และยังมีนัยความหมายที่ช่วยหล่อเลี้ยงขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าเกษตรกรไทย ที่ดำรงอยู่ในบริบทของสังคมกสิกรรมมาอย่างเนิ่นนาน การเสี่ยงทายที่ติดตามมาด้วยคำทำนายพยากรณ์ของคณะพราหมณ์และโหรหลวง ไม่ว่าจะมีเนื้อหาและคาดหมายไปในทิศทางที่เด่นด้อยอย่างไร ในด้านหนึ่งก็เป็นไปด้วยความมุ่งหมายที่จะเตือนสติของผู้ประกอบการกสิกรรมและเกษตรกรทั้งหลาย ให้ตระหนักในข้อจำกัดทางธรรมชาติที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี และแสวงหาหนทางที่จะข้ามพ้นปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นไปให้ได้ กระนั้นก็ดี ความพิเศษของพิธีพืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีนี้ อยู่ที่ความพยายามของภาครัฐที่ได้ประกาศและนำเสนอนโยบาย ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างปี 2560-2564 ที่มีเป้าหมายอยู่ที่การเร่งให้เกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ถึง 1.5 ล้านไร่ในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงปี 2559 ที่สามารถทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ 153,800 ไร่ ในสินค้าเกษตรจำนวน 12 ประเภท มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ 122 กลุ่ม ตั้งวิสาหกิจชุมชน 393 กลุ่ม และพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือเกษตรกรสมัยใหม่ได้ 67,200 ราย โดยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ 4,217 ล้านบาท หลักคิดของการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในด้านหนึ่งอยู่ที่การมุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มาสู่การรวมกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น
Read More