มองยุทธศาสตร์พลังงาน สปป.ลาว ผ่านโรงไฟฟ้าหงสา
ข่าวโครงการก่อสร้างเขื่อนฮูสะโฮงในเขตพื้นที่สี่พันดอน สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 260 เมกะวัตต์ ในลำน้ำโขงถูกเผยแพร่และเป็นที่จับตามองอย่างมาก เมื่อมีทั้งกระแสการต่อต้านจากบางองค์กรที่แสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากผลกระทบต่อการอพยพประจำฤดูกาลของปลาในแม่น้ำ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำ กระนั้นก็ยังมีกระแสสนับสนุนจากชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงบางส่วนที่ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้จะต้องถูกโยกย้ายถิ่นที่อยู่ อีกทั้งยังสามารถจับปลาเพื่อส่งขายตลาดในเมืองได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะหมายถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศให้กลายเป็น “แหล่งพลังงานที่มั่นคงให้ภูมิภาคอาเซียน” หรือ “Battery of ASEAN” เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ซึ่งตั้งอยู่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยฉายภาพความต้องการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของอาเซียนให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งนโยบายของรัฐบาลลาวนั้นมีมาตรการที่ดำเนินไปอย่างสอดรับกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ แม้ว่าในช่วงแรกของการเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้าหงสาจะมีปัญหาประเดประดังเข้ามารอบด้าน ทั้งในเรื่องการทิ้งงานจากผู้ลงทุนรายแรกจากไทยเนื่องจากขาดเงินทุน และการฟ้องร้องกรณีการหลอกลวงโดยการเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุน หรือกรณีปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหลังจากได้มีการสำรวจแหล่งถ่านหินในพื้นที่เมืองหงสาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ได้มีความพยายามในการพัฒนาโครงการมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2552 รัฐบาลลาวได้อนุมัติสัมปทานให้กับบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด และได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยของโรงไฟฟ้าหงสาได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยแล้ว การที่โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในลาว และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,878 เมกะวัตต์ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตประชาชน
Read More