ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหมู ซึ่งหลายฝ่ายเคยเชื่อและฝากความหวังไว้ว่าจะมีความสดใสเรืองรองกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่เชื่อว่าภายหลังการเลือกตั้งจะได้เห็นความชัดเจนในเชิงนโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะช่วยปลุกให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมกลับมากระเตื้องขึ้นจากภาวะซบเซาที่ดำเนินมายาวนานได้บ้าง
หากแต่ปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งดูจะไม่ได้ส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก มิหนำซ้ำข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจของไทยที่ถูกกดทับด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกในฐานะที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบเชิงลบไปโดยปริยาย
เป้าหมายการส่งออกของไทยที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8 ในปี 2562 จากที่ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 252,486 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง เมื่อข้อเท็จจริงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 ปรากฏว่ามูลค่าการส่งออกของไทยมีมูลค่าในระดับ 40,548 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น
ตัวเลขการส่งออกที่ไม่ค่อยโสภาดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งอาจได้รับคำอรรถาธิบายว่าเป็นไปตามวงรอบปกติของการส่งออก ที่จะพบว่าตัวเลขส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของแต่ละปีอาจจะไม่ดีนัก และจะกลับมาคึกคักในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนที่จะอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 จากที่ได้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว คงเหลือเพียงการส่งมอบสินค้า
กระนั้นก็ดี ความเคลื่อนไหวของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ที่ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้จากระดับร้อยละ 5 ลงเหลือร้อยละ 3 โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์ส่งออกลงเหลือร้อยละ 3-5
EconomicExportเศรษฐกิจ Read More