ถอดรหัสจังหวะก้าว ชาตรี โสภณพนิช บนรอยต่อบริบทธุรกิจไทย
ข่าวการถึงแก่กรรมของชาตรี โสภณพนิช หรือ “เจ้าสัวชาตรี” อดีตหัวเรือใหญ่ของอาณาจักรธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเงินอันดับหนึ่งของไทย และในระดับภูมิภาค รวมถึงโครงข่ายธุรกิจในเครือโสภณพนิชอีกหลากหลาย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจติดตามมาด้วยถ้อยความสรรเสริญและสดุดีผลงานที่ผ่านมาของผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของสังคมไทย หากแต่บนรอยทางแห่งชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่ชาตรี โสภณพนิชได้ฝากไว้ให้ผู้คนในยุคหลังได้ย้อนพินิจ และศึกษาเก็บรับประสบการณ์ ล้วนมีมิติ สีสัน และข้อควรพิจารณาที่สะท้อนยุคสมัยและบริบทสังคมการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ชาตรี โสภณพนิช เกิดในครอบครัวชาวจีน เป็นบุตรของชิน โสภณพนิช กับชาง ไว เลาอิง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 โดยระบุสถานที่เกิดว่าเป็นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีอีกชื่อหนึ่งว่า อังเดร ส่วนชื่อจีนดั้งเดิมนั้นชื่อ อู้เข่ง แซ่ตั้ง ในวัย 6 ปีได้เดินทางติดตามแม่กลับประเทศจีน ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาตรีต้องพำนักอยู่ในต่างแดนจนโต พร้อมกับศึกษาด้านบัญชีและการธนาคาร โดยสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาชั้นสูงสาขาบัญชี จากวิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College ที่ Hong Kong ในปี
Read More