วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
Home > On Globalization > แม่บ้านชาวอินโดฯ ได้รับการคุ้มครองในซาอุดีอาระเบีย

แม่บ้านชาวอินโดฯ ได้รับการคุ้มครองในซาอุดีอาระเบีย

 
อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีศาสนาประจำชาติคือศาสนาอิสลาม และผู้หญิงมีสิทธิในสังคมน้อยกว่าผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้จึงต้องปฏิบัติตามกฎต่างๆ อย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่นการห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถ ผู้หญิงไม่สามารถออกไปไหนตอนกลางคืนได้ และต้องแต่งตัวให้มิดชิดและเรียบร้อย สิ่งเดียวที่คนทั่วไปสามารถมองเห็นจากใบหน้าของผู้หญิงได้เมื่ออยู่ในที่สาธารณะคือ ลูกตาของพวกเธอเท่านั้น
 
ในขณะเดียวกันประเทศอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก แม้ว่ากฎระเบียบและการลงโทษจะไม่เคร่งครัดเท่าประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่หลักปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามนั้นเหมือนกัน อย่างเช่นว่าผู้หญิงไม่สามารถออกไปข้างนอกกับผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัวได้ เป็นต้น การอยู่อาศัยในประเทศทั้งสองนี้จึงมีความแตกต่างกันไม่มากนัก
 
เป็นที่น่าแปลกใจว่ารายได้หลักๆ ของประเทศอินโดนีเซียมาจากการที่ประชากรชาวอินโดนีเซียออกไปทำงานในต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับมาให้ทางบ้านใช้เป็นเงินจำนวนมาก  เมื่อปี 2555 ชาวอินโดนีเซียที่ไปทำงานต่างประเทศได้ส่งเงินกลับบ้านผ่านธนาคารอินโดนีเซีย เป็นจำนวนมากถึง 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็มากกว่า 200,000 ล้านบาท
 
อาชีพหนึ่งซึ่งเป็นอาชีพที่คนอินโดนีเซียนิยมไปทำกันมากในต่างประเทศคือ อาชีพแม่บ้าน ปัจจุบันนี้ประเทศอินโดนีเซียมีแรงงานที่ประกอบอาชีพแม่บ้านประมาณ 10.7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเขตชนบท และจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ถ้าสังเกตดูจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ เราอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเห็นได้ว่าแม่บ้านที่ทำงานอยู่ในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนอินโดฯ ยกตัวอย่างเช่น ในฮ่องกงมีแม่บ้านประมาณ 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดฯ
 
ชาวอินโดนีเซียไม่ได้ทำงานเป็นแม่บ้านเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่พวกเธอยังทำงานเป็นแม่บ้านในหลายๆ ประเทศอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี เป็นต้น
 
การทำงานเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ แล้วสามารถส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านใช้เป็นจำนวนมาก ฟังแล้วดูเหมือนดีเพราะสามารถหาเงินได้มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองและส่งกลับไปให้ครอบครัวใช้
 
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกที่ทำงานเป็นแม่บ้านต้องทำงานอย่างหนัก และในบางครั้งยังถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทรมานจากนายจ้าง ก่อนที่พวกเธอจะได้รับเงินเดือนเพื่อส่งกลับไปให้ที่บ้านใช้
 
เรามักได้ยินจากข่าวบ่อยๆ ว่า แม่บ้านชาวอินโดฯ ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทรมานจากนายจ้าง จนพวกเธอทนไม่ไหว และมีบางคนเสียชีวิต หรือในบางกรณีแม่บ้านเหล่านี้ก็ตัดสินใจฆ่านายจ้างในที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างมาทำร้ายเธอได้ ทำให้พวกเธอถูกจับและต้องโทษตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งในหลายครั้งที่ได้ยินเรื่องเหล่านี้ ผู้คนต่างพากันสงสารแม่บ้านชาวอินโดฯ ที่ถูกทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตี หรือการทรมานต่างๆ และออกมาเรียกร้องให้มีการคุ้มครองแม่บ้านที่ทำงานในประเทศต่างๆ
 
การทำร้ายร่างกายแม่บ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศต่างๆ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ในทุกประเทศ ถึงขนาดที่แม่บ้านชาวอินโดนีเซียที่เข้าไปทำงานในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงนั้นต้องใช้เวลาว่างของพวกเธอไปเรียนศิลปะป้องกันตัว เพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างสามารถทำร้ายร่างกายพวกเธอได้
 
ที่ซาอุดีอาระเบียเองก็มีปัญหาเรื่องการทำร้ายร่างกายแม่บ้านชาวอินโดนีเซียเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่นกัน แม้ในศาสนาอิสลามผู้ชายจะมีสิทธิ์ทำร้ายร่างกายเพื่อเป็นการสั่งสอนได้ แต่ต้องเป็นผู้หญิงในครอบครัวเท่านั้น ดังนั้นการทำร้ายร่างกายแม่บ้านซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงในครอบครัวจึงถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็มีแม่บ้านชาวอินโดฯ จำนวนมากในซาอุดีอาระเบียที่ทนต่อการถูกทำร้ายร่างกายไม่ไหว จนพวกเธอต้องต่อสู้กลับเพื่อป้องกันตัว และเมื่อเรื่องนี้ไปถึงตำรวจ แม่บ้านชาวอินโดนีเซียจะมีความผิดโทษฐานทำร้ายร่างกายนายจ้าง ทำให้ในตอนนี้มีแม่บ้านชาวอินโดนีเซียจำนวนมากถูกดำเนินคดีในประเทศซาอุดีอาระเบีย
 
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลของซาอุดีอาระเบียตัดสินประหารชีวิตแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย Satinah Binti Jumadi Ahmad วัย 41 ปี ที่ฆ่า Nura al-Garib นายจ้างของเธอ เมื่อปี 2550 เพราะ Ahmad ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย และจับศีรษะของเธอโขกกับกำแพง นอกจาก Ahmad จะฆ่านายจ้างแล้ว เธอยังขโมยเงินนายจ้างอีกประมาณ 332,000 บาท
 
ประเทศซาอุดีอาระเบีย กฎหมายชารีอะห์ระบุว่า ครอบครัวของเหยื่อสามารถเรียกร้อง “เงินเลือด” (Blood Money) ซึ่งเป็นค่าสินไหมชดเชยแทนการถูกลงโทษตามกฎหมายได้ ในกรณีของ Ahmad นี้ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้เรียกร้องเงินชดเชยถึง 60 ล้านบาท 
 
เรื่องของเงินเลือดในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย จนเกิดการจัดตั้งโครงการเพื่อช่วยหาเงินมาช่วยไถ่ชีวิต Ahmad ซึ่งโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือทั้งจากนักการเมือง ดารานักแสดง และเซเลบในประเทศอินโดนีเซีย
 
ถึงแม้ว่าการหาเงินเลือดเพื่อช่วยเหลือ Ahmad ในครั้งนี้ จะได้รับความสนใจจากสื่อ และมีคนให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือเธอในครั้งนี้ แต่เมื่อใกล้ถึงวันที่ Ahmad  จะถูกประหารชีวิต จำนวนเงินที่หาได้ก็ไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ครอบครัวของเหยื่อ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงตัดสินใจที่จะออกเงินส่วนที่ขาดให้อีก 25 ล้านบาท เพื่อให้ Ahmad รอดจากการถูกประหารชีวิต
 
เรื่องของ Ahmad เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นกับแม่บ้านชาวอินโดฯ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่แม่บ้านชาวอินโดฯ ถูกลงโทษในซาอุดีอาระเบีย หนังสือพิมพ์ อาหรับ นิวส์ ของซาอุดีอาระเบียรายงานว่า มีแม่บ้านชาวอินโดฯ ที่ทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบียและต้องโทษในคดีต่างๆ ถึง 25 คนด้วยกันที่กำลังรอรับโทษประหารชีวิต มีอีก 22 รายที่ได้รับการอภัยโทษแล้ว และกำลังรอส่งตัวกลับประเทศ และมีแม่บ้านชาวอินโดฯ ถึง 1,700 คน ที่ได้รับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำในซาอุดีอาระเบีย
 
หลังจากที่มีแม่บ้านชาวอินโดฯ จำนวนมากต้องรับโทษในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะพวกเธอฆ่านายจ้างที่ทำร้ายร่างกายพวกเธอ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียผ่านกฎหมายการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของแม่บ้านอินโดนีเซียที่เข้าไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องใช้เวลาเรียกร้องอยู่ถึง 4 ปี ก่อนที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะตอบรับการเรียกร้องในครั้งนี้
 
ในที่สุดรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกับรัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้เซ็นสัญญาตกลงให้ความคุ้มครองสิทธิของแม่บ้านชาวอินโดฯ ที่เข้ามาทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้แม่บ้านชาวอินโดฯ มีสิทธิ์ที่จะเก็บพาสปอร์ตของพวกเธอไว้เอง สามารถพูดคุยและติดต่อกับครอบครัวของพวกเธอได้ ได้รับเงินเดือนตรงเวลา และมีวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์
 
ถึงแม้ว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นห่วงว่า มีแม่บ้านอีกหลายคนที่ไม่สามารถพูดภาษาอารบิกได้จะไม่รู้ว่า พวกเธอได้รับสิทธิ์การปกป้องคุ้มครองจากการถูกนายจ้างทำร้าย นอกจากนี้พวกเขายังกังวลอีกว่า ในข้อตกลงนี้ไม่มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน ถ้าหากนายจ้างฝ่าฝืนที่จะทำตามข้อตกลง ดังนั้นจึงอาจจะมีนายจ้างส่วนหนึ่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
 
กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซาอุดีอาระเบียได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานเป็นแม่บ้าน โดยกำหนดว่า แม่บ้านจะต้องได้รับเงินเดือนตรงเวลา และได้รับวันหยุดยาวถ้าหากพวกเธอทำงานครบสองปี และในหนึ่งวันจะต้องทำงานไม่เกิน 15 ชั่วโมง แต่ยังคงมีนายจ้างจำนวนมากที่ไม่ทำตามกฎเหล่านี้และไม่ถูกลงโทษอีกด้วย
 
ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ยังไม่เข้มงวดพอที่จะทำให้นายจ้างปฎิบัติตามและกลัวการถูกลงโทษหากไม่ทำตาม ถ้าหากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังไม่หาทางแก้ไขให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แข็งแรงขึ้นมากกว่านี้ ในอนาคตอาจจะไม่มีใครอยากเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย และทำให้ซาอุดีอาระเบียขาดแคลนคนที่จะมาทำงานเป็นแม่บ้านให้ในที่สุด
 
 
 
Satinah Binti Jumadi Ahmad แม่บ้านชาวอินโดนีเซียที่ได้รับโทษประหารชีวิตในประเทศซาอุดีอาระเบีย
 
 
 
ผู้คนชาวอินโดนีเซียออกมารวมตัวกันเพื่อช่วยกันหาเงินเพื่อนำไปเป็นเงินเลือดในการทำให้ Satinah Binti Jumadi Ahmad รอดชีวิต
 
 
 
แม่บ้านชาวอินโดนีเซียที่ไปทำงานในฮ่องกงแล้วถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย