วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Life > ทำไม “กินไม่หยุดปาก”?

ทำไม “กินไม่หยุดปาก”?

 
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กังวลใจกับพฤติกรรม “กินไม่หยุดปาก” ของตนเอง คุณอาจประหลาดใจยิ่งขึ้นเมื่อได้รู้ว่า มีสาเหตุหลากหลายที่ทำให้คุณมีพฤติกรรมทำลายตนเองอย่างนั้น อาทิ ฮอร์โมน ภาวะอดนอน หรือการบริโภคอาหารเช้าที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (high–GI) นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีก 9 สาเหตุหลักที่กระตุ้นให้คุณอยากอาหารจนกลายเป็นคน “กินไม่หยุดปาก” ดังนี้
 
1. ผงชูรส
เลปติน (leptin) เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว เมื่อไรที่มีปัจจัยเข้าไปรบกวนการผลิตเลปตินของร่างกาย ย่อมส่งผลให้คุณอยากอาหารมากขึ้น ผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า ผงชูรส (MSG) อาจทำให้ร่างกายของคุณตอบสนองต่อการส่งสัญญาณของเลปตินได้น้อยลง
 
Rosie Mansfield นักโภชนาการกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องสำเหนียกคือ “ผงชูรสมีโซเดียมสูงมากถึงหนึ่งในสามของเกลือหนึ่งช้อนโต๊ะ หมายความว่า เมื่อบริโภคแล้วทำให้คุณกระหายน้ำ และมีคนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าอาการกระหายน้ำคือความหิว จึงยิ่งบริโภคมากขึ้น”
 
แม้ว่าร้านอาหารจำนวนมากเลิกใช้ผงชูรสไปแล้วในช่วงทศวรรษ 1990 แต่มันยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารแปรรูปหลากชนิด เช่น ไส้กรอก ขนมปังกรอบ ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ
 
2. การออกกำลังกาย
ขณะที่บางคนพบว่า การออกกำลังกายช่วยลดความอยากอาหารได้ดี  แต่บางคนกลับได้ผลตรงข้าม Bruce McCray เทรนเนอร์ส่วนตัวประจำสถาบัน LiveAlive กล่าวว่า “ที่เป็นอย่างนั้นเกี่ยวข้องกับชนิดของการออกกำลังกาย บางคนอาจรู้สึกหิวหลังออกกำลังกายเป็นเวลานาน (30 นาทีหรือกว่านั้น) เพราะพวกเขาต้องพยายามคงความสม่ำเสมอของจังหวะการออกแรง นั่นหมายความว่า ร่างกายของคุณเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสมากขึ้นเพื่อนำพลังงานมาใช้ในการออกกำลังกาย”
 
อาจแก้ไขด้วยการบริโภคอาหารว่างเบาๆ ก่อนออกกำลังกายราว 30 นาที หรือแบ่งเวลาออกเป็นช่วงๆ ผลการทดลองที่ออสเตรเลียพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ชายมีพฤติกรรมบริโภคน้อยลงหลังออกกำลังกายนาน 30 นาที ถ้าแบ่งออกเป็นเซตย่อยๆ โดยให้ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงนาน 15 วินาที แล้วให้ปั่นจักรยานผ่อนคลายเบาๆ อีก 60 วินาทีสลับกัน
 
3. ดูทีวีรายการโปรด
คงไม่น่าประหลาดใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า หากได้ดูรายการโชว์ที่เกี่ยวกับอาหารแล้วมักทำให้คุณรู้สึกหิว แต่ไม่น่าเชื่อที่การดูรายการทีวีที่นำเสนอเกี่ยวกับความตายและความรุนแรง กลับให้ผลอย่างเดียวกับการดูรายการอาหารเช่นกัน เพราะรายการเหล่านี้กระตุ้นให้จิตใต้สำนึกของเราหวนคิดถึงภาวะความตายของเราเอง
 
ศาสตราจารย์ Naomi Mandel แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาอธิบายว่า “เมื่อเราคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เรากำลังจะตาย เราต้องถามตนเองว่า เรามีชีวิตตามมาตรฐานสังคมหรือไม่ คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำผู้ตอบว่า “ไม่” ย่อมพยายามสลัดความคิดนี้ออกไปจากหัวสมองด้วยการตั้งหน้าตั้งตากินหรือไม่ก็ดื่มอย่างหนัก”
 
ข่าวดีคือ คุณไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงรายการทีวีดังกล่าวไปทั้งชีวิต เพื่อต่อสู้กับพฤติกรรม “กินไม่หยุดปาก” เพียงหาทางเยียวยาด้วยวิธีที่น่าแปลกแต่ได้ผลชะงัดคือ “ก่อนเอื้อมมือไปหยิบขนมขบเคี้ยวเข้าปาก ให้ส่องกระจกดูตัวเอง แล้วจะช่วยลดพฤติกรรมการบริโภคมากเกินไปได้”
 
4. แบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล
ศาสตราจารย์ Andrew Gewirtz แห่งมหาวิทยาลัยเอมอรี ผู้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างความอยากอาหารกับแบคทีเรียในลำไส้กล่าวว่า “แบคทีเรียในลำไส้บางชนิดเป็นสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังในระดับต่ำ ซึ่งสามารถรบกวนการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ซึ่งเป็นภาวะปกติของการตอบสนองต่อการบริโภคอาหาร”
 
อย่างไรก็ตาม เขาไม่แน่ใจว่า อะไรเป็นสาเหตุให้มีปริมาณแบคทีเรียกระตุ้นความอยากอาหารเพิ่มขึ้นในร่างกายของเรา “มีปัจจัยหลากหลายที่ทำให้เกิดภาวะแบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล เช่น ภาวะติดเชื้อ การควบคุมอาหาร หรือปัญหาภูมิคุ้มกัน”
 
แต่เชื่อกันว่า การเน้นบริโภคอาหารไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ ช่วยให้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเจริญเติบโตได้ดี
 
5. น้ำมันปลา
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทน้ำมันปลาดีต่อสุขภาพผิวหนังและหัวใจของคุณมาก เพราะอาจช่วยให้การเผาผลาญไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นก็จริง แต่เพิ่มความอยากอาหารในคนบางคนได้เช่นกัน ผลการทดลองที่เดนมาร์กพบว่า หลังมื้ออาหารแล้ว ผู้หญิงที่บริโภคน้ำมันปลารู้สึกว่าอิ่มน้อยลงร้อยละ 20 และรู้สึกหิวเร็วขึ้นราวหนึ่งเท่าครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคน้ำมันถั่วเหลือง
 
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การบริโภคน้ำมันปลาพร้อมอาหาร และเพิ่มอาหารประเภทเส้นใยอาจช่วยแก้ปัญหาได้
 
6. ยาฉีดคุมกำเนิด
ผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่า หนึ่งในผลข้างเคียงจากการฉีดยาคุมกำเนิดคือ ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยยาฉีดมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 กิโลกรัมใน 3 ปี ซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่เป็นที่รู้กันว่า ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนกระตุ้นความอยากอาหาร และการคุมกำเนิดด้วยยาฉีดทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในปริมาณสูงกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ 
 
อย่างไรก็ตาม ยาประเภทอื่นๆ อาจมีผลเพิ่มความอยากอาหารได้เช่นกัน John Bell แห่งสมาคมเภสัชกรรมออสเตรเลียกล่าวว่า “ยาต้านอาการซึมเศร้าโดยเฉพาะยากลุ่มไตรไซคลิกรุ่นเก่าก็ก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกัน”
 
สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ระมัดระวังเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยา และต้องใจแข็งไม่ยอมแพ้ต่อความหิว หรือไม่ก็ให้แพทย์เปลี่ยนยาให้
 
7. ดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาว 
มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มวันใหม่ด้วยการดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาว เพื่อให้รู้สึกสดชื่นเต็มไปด้วยพลัง Kathleen Murphy นักธรรมชาติบำบัดกลับเตือนว่า “การดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาวช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารก็จริง แต่นั่นหมายถึงการกระตุ้นความอยากอาหารด้วย”
 
การบริโภคอาหารเช้าช่วยระงับความหิวได้ก็จริง แต่ถ้าคุณรู้สึกว่า ความหิวทำให้ต้องบริโภคอาหารเช้ามากกว่าปกติแล้วล่ะก็ นักธรรมชาติบำบัดแนะนำให้เติมน้ำมันมะพร้าวเล็กน้อยลงในแก้วน้ำอุ่นที่บีบมะนาวลงไปแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกหิวแสบท้องได้
 
8. ภาวะน้ำหนักตัวลด
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นระบุว่า ภาวะน้ำหนักตัวลดส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) มากขึ้น ทำให้คุณบริโภคมากขึ้นด้วย
 
Gabrielle Maston ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากสถาบัน Changing Shape กล่าวว่า “ร่างกายไม่ชอบให้เราน้ำหนักตัวลด และทำทุกวิถีทางเพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมา”
 
คุณอาจไม่สามารถหยุดยั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาตินี้ได้ แต่คุณหยุดการซ้ำเติมได้ด้วยการ “นอนให้ได้วันละ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนอนน้อยกว่านี้เชื่อมโยงกับการหลั่งฮอร์โมนเกรลินเพิ่มขึ้นในขณะที่ท้องว่าง นอกจากนี้ ให้เน้นอาหารประเภทโปรตีนและเส้นใยที่ทำให้รู้สึกอิ่มทน
 
9. กลิ่นสบู่อาบน้ำ
นักโภชนาการเตือนว่า ผลการวิจัยยืนยันว่า สบู่อาบน้ำกลิ่นผลไม้ หรือช็อกโกแลต หรือวานิลลา ที่คุณต้องสูดดมระหว่างอาบน้ำนั้น ทำให้คุณรู้สึกหิวอยากอาหารมากกว่าผู้ที่ใช้สบู่กลิ่นอื่นๆ 
 
Jennifer Coelho นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย, แคนาดา ยอมรับว่า เธอไม่แน่ใจในเหตุผลว่าทำไม แต่คิดว่า การที่คุณอยู่ในภาวะ “ควบคุมอาหาร” อาจทำให้คุณทดแทนด้วยการเน้นไปที่กลิ่นอาหารแทน “ให้บริโภคอย่างระมัดระวัง เน้นอาหารจากธรรมชาติและออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักตัวลด แทนการวางแผนควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด”
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well–Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว