วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เกมลุยน่านฟ้าโลก

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เกมลุยน่านฟ้าโลก

 
10 ปีที่แล้ว “ไทยแอร์เอเชีย” ได้สร้างภูมิทัศน์ (landscape) ใหม่ในการเดินทางทางอากาศให้กับน่านฟ้าประเทศไทย ด้วยการเปิดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ที่มาพร้อมกับปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในหลายมิติ จนก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของเมืองไทย ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการสายการบินนี้รวมตลอด 10 ปี มากกว่า 50 ล้านคน 
 
ปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชียมีเที่ยวบินต่อสัปดาห์มากกว่า 800 เที่ยว ไปยังจุดหมายปลายทาง 36 แห่ง ครอบคลุมภายในประเทศ และหลายจุดหมายในต่างประเทศที่มีพิสัยการบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จึงถือกำเนิดขึ้น 
 
แม้ว่าการเปิดตัวสายการบินใหม่ครั้งนี้ ไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือน “ระเบิด” ลูกใหม่ของอุตสาหกรรมการบินไทย เหมือนเมื่อครั้งเปิดไทยแอร์เอเชียเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ด้วยแคมเปญเปิดตัวเส้นทางบินแรก กรุงเทพ-โซล ในราคาเริ่มต้นที่ 1,999 บาทต่อเที่ยว (รวมภาษีและค่าธรรมเนียมแล้ว) ก็ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้นกับธุรกิจสายการบินทั่วไปได้ไม่น้อย 
 
ด้วยความเชื่อที่ว่าการเข้าตลาดก่อน (early market entry) เมื่อ 10 ปีก่อน ไทยแอร์เอเชียจึงเข้ามาบุกเบิกธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในเมืองไทย มาวันนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็นับว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำรายแรกของเมืองไทยที่ประเดิมในตลาดสายการบินราคาประหยัดที่ให้บริการเส้นทางบินระยะไกล (Low Cost Long Haul) ที่ต้องใช้เวลาบินมากกว่า 4 ชั่วโมง 
 
“เจตนารมณ์ของการเปิดสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ก็คือการสานต่อความสำเร็จของไทยแอร์เอเชีย เรามองว่า วันนี้ ไทยแอร์เอเชียมีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารมากระดับนี้ ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี “น้องใหม่” มาเสริมสร้าง win-win situation หรือสร้างประโยชน์จาก synergy ได้แล้ว”  
 
นัดดา บุรณศิริ เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เมื่อต้นปีนี้ ก่อนหน้านี้ เขาเคยทำงานในแวดวงโฆษณา มีโอกาสดูแลลูกค้าธุรกิจหลายราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัทที่ทัศพล แบเลเว็ลด์ นั่งเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์อยู่ ในปี 2539 นัดดาเข้าสู่วงการบริหารงานในธุรกิจดนตรี โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนย้ายมาสู่ธุรกิจสายการบิน คือ เอ็มดีแห่งวอร์เนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) อันเป็นตำแหน่งเดียวกับทัศพล ก่อนที่เขาจะเข้ามานั่งแท่นซีอีโอของไทยแอร์เอเชียจนทุกวันนี้ 
 
การเปิดตัวสายการบินใหม่เพื่อบริการเส้นทางบินพิสัยไกล (Medium-Long Haul) ที่ใช้เวลาบินระหว่าง 4-8 ชั่วโมง ถือเป็น “สูตร” ที่บริษัทแม่คือ “แอร์เอเชีย” ใช้ โดย “แอร์เอเชีย เอ็กซ์” เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ส่วนไทยถือเป็นประเทศที่สองที่ดำเนินตามรอยยุทธศาสตร์นี้  
 
“เราคาดการณ์ว่าตลาดเส้นทางบินระยะไกล (Medium-Long Haul) จะเป็นตลาดที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ เนื่องจากในย่านเอเชียแปซิฟิก มีสายการบินราคาประหยัดเพียง 10% ที่เข้ามารุกในตลาดนี้” โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวไว้
 
นอกจากนี้ ซีอีโอแห่งไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ยังกล่าวถึงอีกสาเหตุของการเปิดสายการบินใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมและความต้องการที่ต่างกัน เพราะผู้โดยสารที่บินระยะใกล้จะเน้นเรื่องการเดินทางที่สะดวก ตารางบินที่หลากหลาย และความรวดเร็วตรงเวลา ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางไกลจะมีความต้องการบริการที่หลากหลายและความสบายที่มากกว่า
 
“เรามองว่า เราเป็นบ้านหลังเล็กที่ต่อหลังคามาจากบ้านหลังใหญ่คือ ไทยแอร์เอเชีย ในแง่หลักการบริหารคงไปทางเดียวกัน เพียงแต่เรามีหน้าที่สร้างความแตกต่างให้เปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้โดยสารของเรา ดังนั้นเราต้องมีทุกองค์ประกอบที่มีความจำเป็นและเหมาะกับอุปนิสัยของคนเดินทางระยะไกล” 
 
สำหรับหลักสำคัญในการบริหารสายการบินที่นัดดายึดเป็นมาตรฐาน ซึ่งได้มาจากไทยแอร์เอเชีย ประกอบด้วย การทำราคาให้ดีที่สุด และการตรงต่อเวลา อันเป็นกุญแจความสำเร็จและสัญลักษณ์ของไทยแอร์เอเชียตลอด 10 ปี
 
ขณะที่จุดขายของไทยแอร์เอเชียคือเครื่องบินใหม่ทุกลำ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ใช้เครื่องบินเช่าจากแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งอายุการใช้งานไม่มาก โดยเป็นเครื่องรุ่นแอร์บัส เอ330-300 ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง มีต้นทุนปฏิบัติการต่ำ มีความน่าเชื่อถือทางเทคนิค สามารถบินระยะไกลได้ดี และมีความสะดวกสบายของห้องโดยสาร โดยมีความจุ 377 ที่นั่ง เป็นที่นั่งชั้นพิเศษ 12 ที่นั่ง ซึ่งกว้างขวางและปรับเอนได้เทียบเท่าที่นั่งชั้นธุรกิจ  
 
ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 400 ล้านบาท โดยทัศพล แบเลเว็ลด์ ถือหุ้น 41% ทอม เครือโสภณ ถือหุ้น 10% อีก 49% ถือหุ้นโดยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮาด ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ 
 
เส้นทางบินแรกของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โซล ซึ่งจะเทคออฟในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ โดยจะบินทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน จากนั้นในเดือนสิงหาคมจะเปิดอีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โตเกียว วันละ 1 เที่ยวบิน และกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-โอซากา 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ 
 
หมายความว่า แทนที่ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเชียที่จะเดินทางจากเมืองไทยไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะต้องไปเปลี่ยนเครื่องเป็นแอร์เอเชียที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเสียเวลาเพิ่มราว 2-3 ชั่วโมง แต่จากนี้ไป ผู้โดยสารสามารถบินตรงไปยังประเทศปลายทางนั้นๆ ได้เลย
 
นัดดาเล่าว่า เหตุผลที่เลือกบินไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นจุดหมายแรกๆ เป็นเพราะความนิยมของคนไทยในการเดินทางไป 2 ประเทศนี้ และความนิยมเดินทางมาไทยของคนจากใน 2 ประเทศ โดยสถิติพบว่า คนไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ราว 4 แสนคนต่อปี ขณะที่คนเกาหลีใต้เดินทางมาไทยกว่า 1.2 ล้านคนต่อปี ส่วนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นราว 6 แสนคนต่อปี ขณะที่คนญี่ปุ่นมาเมืองไทยกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี  
 
“อีกหน่อยเราจะเริ่มสื่อสารในทำนองว่า วันนี้คุณอยู่กรุงโซล แต่พรุ่งนี้คุณเที่ยวเชียงใหม่หรือภูเก็ตได้เลย วันนี้คุณอยู่พิษณุโลก อยู่พม่า แต่พรุ่งนี้คุณสามารถไปเดินเล่นที่โอซากา ด้วยบริการ Fly-Thru ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเรากับเครือข่ายเส้นทางบินของไทยแอร์เอเชีย อันเป็นจุดแข็งสำคัญที่เลียนแบบได้ยาก เพราะบริการนี้จะสัมฤทธิผลได้ เราต้องมีสายการบินในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแรง และทั้ง 2 สายการบินต้องมี “ระบบ” เดียว อีกทั้งยังต้องวางแผนร่วมกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องตารางบิน”  
 
ด้วยนัยนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จึงเปรียบเสมือนท่อนำส่งผู้โดยสารจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้กับไทยแอร์เอเชีย โดยจากสถิติในมาเลเซียพบว่า ผู้โดยสารมากกว่า 35% ของแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะใช้เดินทางต่อด้วยแอร์เอเชีย และในทางตรงกันข้าม ไทยแอร์เอเชียก็จะทำหน้าที่เสมือนท่อลำเลียงผู้โดยสารจากต่างจังหวัดและประเทศอาเซียนที่ต้องการเดินทางไป 2 ประเทศดังกล่าว ให้กับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เช่นกัน 
 
ปัจจุบัน สายการบินใหม่นี้มีพนักงาน 180 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นการย้ายมาจากไทยแอร์เอเชีย รวมถึง 5 ผู้บริหารที่เป็น “ขุนพล” ผู้บุกเบิกไทยแอร์เอเชียในแต่ละแผนก ก็ได้ย้ายมาช่วยบุกเบิกสายการบินน้องใหม่นี้ด้วย 
 
จนถึงสิ้นปีนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะคงฝูงบินที่ 2 ลำ และ 3 จุดหมายปลายทาง และใน 3 ปีข้างหน้า ก็น่าจะมีเส้นทางบินไม่ต่ำกว่า 5-8 เส้นทาง โดยจะได้เห็นจุดหมายใหม่เกิดขึ้นในหลายเมืองของประเทศจีน แผนหลังจากนั้น เชื่อว่าจะมีการขยายเส้นทางบินไปยังออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เช่นเดียวกับแอร์เอเชีย เอ็กซ์ 
 
ภายในสิ้นปีนี้ นัดดาตั้งเป้าอัตราการขนส่ง (load factor) อยู่ที่ 80-85% จำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน และรายได้ราว 1 พันล้านบาท ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไม่ย่ำแย่ไปกว่าตอนนี้ 
 
แม้การเข้ามาเล่นในตลาด Low Cost, Long Haul จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยศักยภาพของตลาดนี้ ทำให้ในอีกไม่ช้าก็จะต้องมี “ผู้เล่น” กระโดดเข้าในตลาดนี้เพิ่มขึ้น สำหรับนัดดา เขามองว่าการแข่งขันไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่จะเป็นการช่วยกันกระตุ้นตลาด เช่นเดียวกับในตลาดที่ไทยแอร์เอเชียเป็นผู้นำ ส่วนสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าคงเป็นความผันผวนทางการเมืองที่ทำให้ทั้งตลาดต้องซบเซา