วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > AEC > Pathways to 2015 > รูปีครันช์ที่ภูฏาน ปัญหาการเงินในเมืองสวรรค์

รูปีครันช์ที่ภูฏาน ปัญหาการเงินในเมืองสวรรค์

ฉบับก่อนผมพูดถึงประเทศภูฏาน จากภาพรวม เราอาจเรียกตามนิยายว่าแชงกรีลา ดินแดนลึกลับทางตะวันตกของคุนลุ้น เป็นสวรรค์บนดิน อย่างไรก็ตามบนโลกของความจริงอันโหดร้าย สวรรค์บนดินหรือแชงกรีลาก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองอื่นๆ บนโลก ผมไปภูฏานในเวลาไม่นานแต่อาจจะตอบคำถามได้ในระดับหนึ่งเพราะผมเป็นคนชอบศึกษา ชอบอ่านหนังสือจึงทราบว่าภูฏานกำลังเผชิญปัญหา เศรษฐกิจ เมื่อบอกกับคนที่เคยไปหรือเคยอ่าน เกี่ยวกับภูฏานต่างพบว่าหลายคนออกจะตกใจ ว่าประเทศเล็กๆ ที่ดูเหมือนจะมีลักษณะแบบพอเพียงกันจนนักวิชาการอิสระหลายคนออกมายกว่าควรเป็นโมเดลของไทยกลับเจอมรสุมเศรษฐกิจ ในสายตาผมไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ประชาชนประหยัดกันเพียงใด ถ้าเจอปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็หนีไม่พ้น ขนาดนิวซีแลนด์ ที่ประชาชนแสนจะขี้เหนียวก็ยังเคยลอยค่าเงิน ดอลลาร์มาแล้ว

ก่อนที่ผมจะเล่าโครงสร้างเศรษฐกิจของภูฏาน ผมขอพูดถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจในอดีตของภูฏานก่อน ภูฏานเป็นประเทศที่มีแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม เศรษฐกิจ ของภูฏานในอดีตขึ้นอยู่กับปศุสัตว์และกสิกรรม โดยพื้นฐานภูฏานจะไม่ขายเนื้อสัตว์ เพราะการ ฆ่าสัตว์หรือการค้าสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่าถือว่าเป็นการผิดศีลทั้งปาณาติบาตและอาชีวตะมะกะศีล ทำให้เศรษฐกิจของประเทศภูฏาน ไม่มีสินค้าในตลาดนอกจากสิ่งทอพื้นฐาน ในอดีตบ้านเมืองของภูฏานจะไม่มีชุมชนเมือง เนื่องจากมีลักษณะเป็นสังคมชนบท มืองที่เห็นเช่น ทิมพู หรือพาโรต่างเป็นเมืองใหม่ที่ก่อสร้างได้ไม่นาน ในขณะที่เมืองหลวงเก่าอย่างภูนาคา กลับมีลักษณะเป็น ป้อมปราการและปราสาท ดังนั้นโครง สร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของภูฏานจะขาดความพร้อมอย่างมาก แม้แต่ในระดับ ประเทศ เงินตราภูฏานที่เรียกว่า นูทรัมหรืองูทรัม เริ่มใช้เมื่อปี 2517 โดยรัฐบาล ภูฏานผูกค่าเงินนูทรัมไว้กับเงินรูปีของอินเดีย ทำให้เศรษฐกิจของสองประเทศนั้นผูกกันโดยปริยาย

อย่างไรก็ตามการที่ผูกค่าเงินทั้งสองไว้ ทำให้ภูฏานต้องอาศัยการค้ากับอินเดียในฐานะผู้นำเข้า ขณะที่สินค้าส่งออกของภูฏาน มักไม่เป็นที่ต้องการของอินเดียมากนัก ปัจจุบัน อาหารในภูฏานตั้งแต่เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ต่างนำเข้ามาจากอินเดียแทบทั้งสิ้น ขณะที่สินค้าที่ภูฏานโดยเฉพาะทางใต้ผลิตได้ เช่นซีเมนต์นั้นก็ไม่มีปริมาณมากพอที่จะส่งออก ประกอบกับนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติทำให้ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้ประเทศภูฏานขาดสินค้า ส่งออก และเศรษฐกิจอยู่ในมือชาวอินเดียซึ่งโดยมากจะเป็นธุรกิจนำเข้าและขายปลีก หลังจากนำสินค้ามาขายเป็นนูทรัมได้แล้ว พ่อค้าชาวอินเดียหัวใสจะฝากเงินไว้กับธนาคารภูฏาน เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 8-9% เมื่อฝากครบแล้วแทนที่จะถอนเงินเป็นนูทรัม พ่อค้าอินเดียก็ขอเบิกเป็นเงินรูปี ทำให้เกิดภาวะอัตรา เงินรูปีขาดแคลน ในช่วงแรกอาจไม่เป็นปัญหา มากนักเพราะคนอินเดียเอาเงินรูปีข้ามมาใช้ที่ภูฏาน และร้านค้าโดยมากต่างยอมรับเงินนูทรัม

เนื่องจากประเทศภูฏานมีสินค้าส่งออก หลักคือไฟฟ้าพลังน้ำที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ทำให้จำเป็นต้องทำการสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่ม เติม นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ ภูฏานต้องการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคมากขึ้น ในทางกลับกันเงินรูปีก็เริ่มขาดตลาดเนื่องจากชาวอินเดียที่ทราบเรื่องดอกเบี้ยอัตรา 8% ก็แห่กันไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ภูฏานเพราะอัตราดอกเบี้ย เมื่อได้เงินก็ถอนเป็นรูปีกลับแดน ภารตะ ปัญหาคือเงินนูทรัมของภูฏานนั้นไม่ใช่ สกุลเงินตราที่ได้รับการยอมรับในโลก จึงต้อง หาเงินตราโดยเฉพาะรูปีเข้ามา นอกจากจะต้องหาเงินมาคืนพ่อค้าอินเดียแล้ว รัฐบาลภูฏานก็จำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายค่าแรงชาวอินเดียที่มาสร้างถนน ตึก เขื่อน และบ้านเรือน ให้คนภูฏาน

นอกจากนี้รัฐบาลภูฏานยังต้องหาเงินมาให้ประชาชนที่อยากซื้อรถยนต์ที่กำลังเพิ่มจำนวนในภูฏาน เพราะชาวภูฏานก็โดนเชื้อไวรัส ทุนนิยม ความต้องการรถยนต์ไม่ว่าจะแพงหรือ ถูกเริ่มปรากฏให้เห็น แม้ไม่ได้เรียกร้องเอาบีเอ็ม ดับเบิลยูหรือเบนซ์แบบเด็กสารขัน แต่โรคทุน นิยมที่ชาวภูฏานต้องมีรถยนต์ จะเป็นอีโคคาร์หรือรถอินเดีย รถเกาหลีก็ได้ ส่งผลให้มีการนำ เงินนูทรัมมาแลกเป็นรูปีมากขึ้น เพราะการซื้อขายรถยนต์จะต้องใช้เงินรูปีเพื่อนำไปซื้อรถยนต์ จากอินเดีย เมื่อมีความต้องการมากขึ้นเงินรูปีในคลังของภูฏานก็เริ่มร่อยหรอแต่หนี้ที่ธนาคาร ภูฏานต้องทำการจ่ายทั้งจากค่าซื้อขายรถยนต์ ค่าแรงคนงานอินเดียที่มาสร้างอาคารต่างๆ และตามด้วยบรรดานักธุรกิจชาวอินเดียที่นำเงินมาฝากเพื่อหวังดอกเบี้ย ทำให้เกิดปัญหาการเงินในภูฏานอย่างรุนแรง จากการที่ภูฏานนำเงินไปผูกกับรูปีแต่ไม่สามารถคงค่าเงินไว้ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง โดยในบริเวณชายแดนอินเดียกับภูฏานเกิดภาวะเงินเฟ้อมากกว่า 20% ทำให้รัฐบาลภูฏานซึ่งมองหาทางออกด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินให้ธนาคารภูฏานชักดาบผู้ฝากชาวภารตะ เพื่อรักษางบดุลในภูฏาน เช่นการออกกฎหมายให้ปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีฝากประจำหากถอนเลยต้องเอาเงินไปเป็นนูทรัม แม้จะฝากเป็นบัญชีรูปีก็ตามและห้ามถอนเป็น รูปี แต่ถ้าฝากครบสามารถเลือกว่าจะถอนเป็น นูทรัมพร้อมดอกเบี้ย หรือถอนเป็นรูปีแบบไม่ได้ดอกเบี้ย แต่ถ้าอยากได้เงินต้นคืนเลยให้ลูกค้าต่างชาติมาปิดบัญชีโดยไม่ได้รับดอกเบี้ยในเวลาประมาณ 15 วัน ผลที่ออกมาทำให้เกิดสภาพเหมือนธนาคารก่อนล้มละลาย เพราะลูกค้าฝากประจำในภูฏานโดยมากเป็นชาวภารตะ ดังนั้นเมื่อเกิดนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะบริเวณชายแดนแห่กันมาถอนเงินส่งผลให้เงินนูทรัมเฟ้อขึ้นไปถึง 40% ในช่วงดังกล่าว

แม้วันนี้ปัญหาได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่ต้นตอของปัญหายังไม่ได้แก้ไขแต่อย่างใด เพราะมาตรการที่ออกมาเป็น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแทบทั้งสิ้น แต่ต้นตอของปัญหาต่างๆ กลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต่างๆ เกิดมาจากปัจจัยหลักคือ

1. กระแสทุนนิยมที่โหมเข้ามาในประเทศภูฏาน พร้อมกับความเจริญทำให้เกิดแนวทางบริโภคนิยม ซึ่งประเทศภูฏานไม่ได้เตรียมความพร้อมที่จะรองรับการนำเข้า โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล

2. ประเทศภูฏานมีสินค้าส่งออกหลัก 3 อย่างคือ ไฟฟ้าพลังน้ำ ซีเมนต์ และไม้ ขณะที่ประชาชนภูฏานผลิตสินค้าเกษตรกรรม แต่อุตสาหกรรมน้อยมาก อาหารบริโภคประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ เนื้อ ปลา หรือผักผลไม้ ล้วนนำเข้าทั้งสิ้น หลายท่านอาจแปลกใจเพราะ การเลี้ยงสัตว์สามารถกระทำได้ทุกที่แต่สำหรับ ภูฏานเขาเคร่งพุทธศาสนา โดยไม่ฆ่าสัตว์ทำให้ต้องนำเข้าเนื้อสัตว์ทุกชนิดจากอินเดีย

ในทางกลับกัน ชาวภูฏานก็ไม่มีภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูกพืชในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าอาหารทุกชนิดจากนอกประเทศ เพียงเรามองปัจจัย 4 ก็จะพบว่าภูฏานมีปัญหาตั้งแต่อาหาร และยารักษาโรคที่ต้องนำเข้า แพทย์ก็ไม่เพียงพอ นอกจากแพทย์แผนตะวันออกของเขา เครื่องนุ่งห่มอาจจะเพียงพอ ที่อยู่อาศัยก็มีปัญหาว่าคนที่สร้างอาคารบ้านเรือนในทิมพูก็เป็นแรงงานอินเดียนำเข้า ทำให้เกิดเงินรั่วไหล ออกนอกประเทศในทุกๆ ด้าน

ปัญหาสำคัญที่สุดที่ผมไม่อยากเชื่อ คืออัตราว่างงาน จากเอกสารของ CIA World Factbook แสดงอัตราว่างงานที่สูงถึง 4% (ไม่รวมชาวนา 40% ในประเทศ) ในปี ค.ศ.2009 จากหนังสือพิมพ์ Bhutantimes อัตราการว่างงานของเยาวชนภูฏานนั้นสูงถึง 12.9% (ประเทศ ไทยมีอัตราว่างงานที่ 0.7%) โดยข้อมูลของ ภูฏานไทม์ ชี้ว่าในปัจจุบันชาวนาภูฏานนับเป็น 65% ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตรและป่าไม้ ข้อมูลว่า 58% ของชาวภูฏานที่อายุเกิน 15 ปี ไม่รู้หนังสือ นับเป็นข้อมูลที่น่ากลัวมากเพราะสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 7 แสนกว่าคน กลับมีสถิติแบบนี้ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

เมื่อเราพิจารณาอย่างละเอียด หากคน ภูฏานว่างงานถึง 4% และในกลุ่มเยาวชนคิดเป็น 12.9% ทำไมประเทศภูฏานต้องว่าจ้างแรงงานจากอินเดียให้เสียดุลการค้าและเงินตรา รั่วไหลออกนอกประเทศ จากที่ผมผ่านไซต์งาน ในทิมพู 2-3 แห่ง ปรากฏว่าแรงงานก่อสร้าง ต่างเป็นชาวภารตะทั้งสิ้น ผมมีโอกาสสนทนากับบริษัทที่ได้รับสัมปทานด้านการก่อสร้าง สิ่งที่พบคือในโปรเจ็กต์ต่างๆ ใช้แรงงานอินเดีย แทบทั้งสิ้น ทำให้ผมอดถามเกี่ยวกับแรงงานภูฏานไม่ได้ คำตอบแรกที่ผมได้รับคือชาวภูฏาน ไม่มีความชำนาญในการก่อสร้างเท่าชาวอินเดีย และค่าแรงชาวอินเดียถูกกว่า

อย่างไรก็ตามคำตอบจากคนที่ทำธุรกิจ กลับออกมาในรูปที่ตรงกว่าคือ ชาวภูฏานเลือก ที่จะไม่ทำงานก่อสร้างเพราะเห็นว่าเป็นงานที่ไม่มีเกียรติ อยากเป็นสถาปนิกและวิศวกรมาก กว่า นอกจากนี้ชาวภูฏานจำนวนไม่น้อยที่เรียน จบปริญญาตรีนั้นกลับเป็นกลุ่มที่ตกงาน เนื่อง จากพวกเขาเลือกงานที่ผลตอบแทนสูงและ ปฏิเสธงานในระดับเริ่มต้น เนื่องจากการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาในประเทศภูฏานตั้งแต่อดีต ที่ผ่านมาต้องศึกษาในต่างประเทศ เช่น ไทยและอินเดียเป็นอย่างน้อย ผมมองว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ เพราะจะมีความคล้ายกับคนไทยในอดีตที่เลือกงานเนื่องจากจบจากต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาเรียกร้องทั้งเงินเดือนที่สูงและเลือกงาน ทำให้เกิดการตกงานของคนที่มีการศึกษาในประเทศภูฏาน เมื่อคนเลือกงานประกอบกับอัตราว่างงานมากย่อมส่ง ผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อมองวิกฤติของเขาก็ต้องย้อนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมืองไทยเราทำอย่างไรให้เราเดินไปได้ไกลมากขึ้น ในประเทศที่เวลายังเหมือนกับว่าหยุดอยู่กับที่ยังไม่วายที่จะเกิดวิกฤติเพราะความโลภ ความหลง ความอยากมี อยากเป็นตามกระแสทุนนิยม เลือกที่จะเอาความสบายเป็นที่ตั้ง เลือกงาน สร้างค่านิยมว่างานอะไรเป็นงานที่มีเกียรติ อะไรเป็นงานที่ไม่ดี กำหนดค่าความเป็นมนุษย์ที่เปลือกภาย นอก ทั้งๆ ที่คุณค่าแท้จริงของคนเราอยู่ที่ภายในจิตใจ ผมอดแปลกใจไม่ได้ที่เวลาพูดถึง พุทธศาสนาเราจะจำกัดตนเองที่ศีลห้า และย้ำคิดย้ำทำเช่น ไม่ทานเนื้อ บังคับไม่ให้คนอื่น ดื่มเหล้าและอื่นๆ ไปให้ความสำคัญกับเปลือก ของพุทธศาสนา แต่ไม่ให้ความสำคัญกับแก่นของพุทธศาสนาที่เชื่อในการเดินสายกลางและให้ความสำคัญกับจิตของเราให้สะอาด

ภูฏานก็เช่นกันให้ความสำคัญกับ เปลือกพุทธศาสนาจนเกิดปัญหาเศรษฐกิจ แต่ กลับไม่สอนที่แก่นให้มองไปที่สุขของคฤหัสถ์ สอนถึงสุขในการมีทรัพย์ สุขในการได้ใช้ทรัพย์ นั้น สุขจากการไม่มีหนี้ และสุขจากงานที่ไม่มีโทษ แต่กระแสทุนนิยมที่ถาโถมใส่ทั้งไทยและภูฏาน ทำให้เราลืมแก่นแท้ของศาสนา ลืมมัชฌิมาปฏิปทา ลืมอริยสัจ 4 และมรรค 8 เสียสิ้น ไปหลงงมงมงายในเปลือกอย่างศีล 5 หากเราเอาแก่นของพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง ปัญหาเศรษฐกิจใดๆ สามารถแก้ไขได้ด้วย ธรรมะทั้งสิ้น เพราะธรรมะเป็นสัจธรรมให้เราเลือกดำรงตนเองอย่างไม่ประมาทนั่นเอง