วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > KBANK บนหลักชัย “ผู้นำ Digital Banking”

KBANK บนหลักชัย “ผู้นำ Digital Banking”

 
“เราจะนำพรุ่งนี้มาให้คุณก่อนใคร” 
 
นี่ไม่ใช่เพียงธีมงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2557 ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แต่ “ธีรนันท์ ศรีหงส์” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่า นี่ยังถือเป็น “พันธสัญญา (commitment)” ของธนาคารที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ KBANK เป็น “ผู้นำ” อยู่เสมอบนถนนสาย Digital Banking ซึ่งเป็นหนทางที่ธุรกิจธนาคารไม่อาจหลีกเลี่ยง 
 
หลังการแถลงทิศทางเพียงไม่นาน KBANK ก็เปิดตัวบริการใหม่บนสมาร์ทโฟนที่มีชื่อว่า “K-Expert MyPort” ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่น (Application) ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ออนไลน์ รวมสินทรัพย์ทั้งหมดที่ลูกค้ามีอยู่กับธนาคารกสิกรไทย และสินทรัพย์จากสถาบันการเงินทุกประเภทจากทุกแห่ง เข้ามาแสดงในหน้าจอเดียว อาทิ เงินฝาก กองทุน หุ้น ทองคำ ที่ดิน ฯลฯ ทั้งยังปรับมูลค่าของกองทุนและมูลค่าหุ้นได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าสามารถทราบมูลค่าและประเภททรัพย์สินของตนเองทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการสินทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น 
 
นอกจากนี้ ในแอพฯ ยังมีเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายการออม รวมทั้งยังสามารถส่งอีเมลขอคำแนะนำทางการเงินจาก K-Expert ซึ่งเป็นบริการที่ปรึกษาทางการเงินกับ KBANK ผ่านทางแอพฯ ได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง 
 
บริการ K-Expert MyPort เกิดขึ้นจากการรวบข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการ K-Expert ราว 1.5 แสนรายต่อปี ซึ่งพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่มีสินทรัพย์หลากหลายประเภท และใช้บริการกับหลายสถาบันการเงิน แต่การจะรวมสินทรัพย์ทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อมองภาพรวมนั้นทำได้ยาก จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
 
เมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้ว KBANK เพิ่งแนะนำ K-Mobile Banking PLUS ซึ่งเป็นแอพฯ บริการธนาคารบนสมาร์ทโฟนสำหรับลูกค้ารายย่อยเวอร์ชั่นใหม่ โดยในเวอร์ชั่นนี้ ได้พัฒนาการใช้งาน (feature) ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และรวดเร็วขึ้น เช่น สามารถโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคาร แต่ใช้เบอร์มือถือหรือรายชื่อในมือถือได้เลย หรือการจ่ายบิลต่างๆ ด้วยการสแกนบาร์โค้ดจากบิลแล้วกดจ่ายเท่านี้ โดยหลักฐานธุรกรรมจะอยู่ในรูปแบบ e-Slip ซึ่งเป็นรูปภาพที่จะถูกจัดเก็บลงเครื่องโดยอัตโนมัติ เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ กลางปีที่แล้ว KBANK เปิดตัว “ดิจิตอล โฮมโลน” (Digital Home Loan) ซึ่งเป็นแนวคิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ประกอบด้วย K-Home Loan Online และ K-Home Loan on Mobile ซึ่งช่วยให้ลูกค้ารู้ผลการอนุมัติสินเชื่อบ้าน KBANK ได้ด้วยตัวเอง 
 
สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี (SMEs) เมื่อต้นปีที่แล้ว KBANK ก็ได้ออกนวัตกรรมที่มีชื่อว่า “K-Merchant on Mobile” ซึ่งเป็นแอพฯ ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้กลายเป็นจุดรับชำระเงินหรือเครื่องรูดบัตรเครดิตได้ทุกที่ที่มีสัญญาณโทรศัพท์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและพันธมิตรหรือร้านค้าสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ  
 
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของแอพฯ ที่ KBANK ทยอยนำเสนอออกมาในช่วงนี้ ซึ่งธีรนันท์ย้ำว่า KBANK ตั้งใจจะพัฒนาสู่บริการแบบ “Full Digital Banking” และรักษาความเป็น “ผู้นำ” บนถนนสายนี้ โดยในช่วง 2-3 ปีนี้ ธนาคารจะโฟกัสเรื่อง “Mobile Banking” มากเป็นพิเศษ
 
“เรากำหนดแนวทางการพัฒนาดิจิตอลแบงกิ้งเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับบริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ ให้ง่ายและเบ็ดเสร็จในเครื่องเดียว ซึ่งมือถือจะเป็นช่องทางการใช้บริการที่ได้รับความนิยมในอนาคตอย่างแน่นอน” 
 
ธีรนันท์ระบุว่า ปัจจุบัน KBANK มีฐานลูกค้าที่เปิดบัญชีราว 12 ล้านราย ในจำนวนนี้มีลูกค้าที่ใช้บริการดิจิตอลแบงกิ้งราว 6 ล้านราย โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีฐานลูกค้าดิจิตอลแบงกิ้งเพิ่มเป็น 8 ล้านราย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ธนาคารมีจำนวนธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิตอลแบงกิ้งสูงถึง 420 ล้านรายการ/ปี เป็นเงินหมุนเวียนกว่า 2 ล้านล้านบาท
 
“ความแตกต่างในการให้บริการดิจิตอลแบงกิ้งระหว่าง KBANK กับคู่แข่ง คือการส่งมอบบริการได้จริง และการที่กรรมการผู้จัดการลงมาดูเอง นี่เท่ากับตอกย้ำด้วยว่าดิจิตอลแบงกิ้งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด”
 
ทั้งนี้ ก่อนที่ “บัณฑูร ล่ำซำ” จะแต่งตั้งธีรนันท์ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการ คู่กับ “ปรีดี ดาวฉาย” เขาเคยเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารที่อยู่ในการปรับโครงสร้างการบริหารของเครือกสิกรที่แบ่งเป็น 4 ภูมิ (Domain) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การปฏิบัติการ (ภูมิด้านโครงสร้างพื้นฐาน) 
 
อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแล “โครงการ K-Transformation” ซึ่งเป็นการยกเครื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ KBANK ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาพการทำงานและการให้บริการของ KBANK เพื่อนำไปสู่บริการด้านการเงินที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้น โดยเฉพาะในบริการดิจิตอลแบงกิ้ง 
 
แม้การมีเอ็มดีเป็นผู้ชำนาญในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จะถือเป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้ KBANK เป็น “ผู้นำ” บนแพลตฟอร์มดิจิตอลแบงกิ้งอยู่ในเวลานี้ แต่การรักษาความเป็นผู้นำคงไม่ง่ายนัก เพราะเชื่อว่า ไม่มี “คู่แข่ง” รายใดที่จะยอมเสียโอกาสบนถนนสายนี้แน่นอน!