วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > Life > นิทรรศการฟรีดา กาห์โล และดิเอโก ริเบรา

นิทรรศการฟรีดา กาห์โล และดิเอโก ริเบรา

นักแสดงสาวเม็กซิกันที่รู้จักคือซัลมา อาเยค (Salma Hayek) รู้จักเพราะเธอแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด สาวร่างเล็กที่อวบอัด ใบหน้าคมเข้ม พูดภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่งๆ ชาวฝรั่งเศสรู้จักเธอดีเพราะเธอเป็นภรรยาของฟรองซัวส์อองรี ปิโนลต์ (François-Henri Pinault) ประธานกลุ่ม PPR ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Kering ทำธุรกิจสินค้าหรู

 

สาวเม็กซิกันอีกคนหนึ่งที่ฝรั่งเศสรู้จักดีคือ มาเรีย เฟลิกซ์ (Maria Felix) เพราะเธอเป็นนักแสดงเช่นกัน ข้ามน้ำข้ามทะเลมาสั่งทำเครื่องประดับที่ห้างการ์ทีเอร์ (Cartier) เป็นสร้อยคอจระเข้สองตัวเกาะเกี่ยวกัน และสร้อยงูที่พันรอบลำคอ นับเป็นสาวที่มีรสนิยม “ดุ”

 

ครั้งหนึ่งเห็นซัลมา อาเยคแสดงเป็นสาวที่มีคิ้วติดกัน มีหนวดนิดหน่อย นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นชื่อฟรีดา กาห์โล (Frida Kahlo) จิตรกรชาวเม็กซิกัน

 

บ้านของน้องสะใภ้ในอัลซาส (Alsace) มีภาพเขียนผู้หญิงคนหนึ่ง นั่นก็เป็นครั้งแรกที่รู้จักชื่อดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera)

 

และแล้วในฤดูใบไม้ร่วง 2013 เห็นนิทรรศการ Frida Kahlo et Diego Rivera, l’art en fusion ที่พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี (Musée de l’Orangerie) จึงได้ทราบว่าทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน

 

ฟรีดา กาห์โลเกิดในปี 1907 ที่เม็กซิโก แม่มีเชื้อสายสเปนและชนพื้นเมือง ส่วนพ่อเป็นยิวเยอรมัน ที่ชอบเขียนรูปสีน้ำ พออายุ 6 ขวบเป็นโปลิโอ เธออยากเป็นหมอทั้งๆ ที่ชอบศิลปะ แต่แล้วเมื่ออายุ 18 ปี เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ เธอได้รับบาดเจ็บสาหัส เชิงกรานแตก ขาขวาหักหลายท่อน เท้าขวาแตกละเอียด ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นหนึ่งปีจึงพบว่ากระดูกสันหลังแตก เธอได้รับการผ่าตัดหลายครั้งและต้องเข้าเฝือกนอนอยู่กับที่เป็นเวลา 9 เดือน ช่วงเวลาที่นอนเฉยๆ อยู่บนเตียงทำให้เริ่มเขียนรูป เริ่มจากเขียนรูปตนเอง โดยติดกระจกส่องหน้า

 

ในปี 1928 ฟรีดา กาห์โลสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เธอสนใจปัญหาผู้หญิงในสังคมเม็กซิโก และแล้วเธอได้พบกับดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera) ซึ่งเป็นจิตรกรเขียนภาพฝาผนังชื่อดังของเม็กซิโก ขณะนั้นเธอยังเป็นนักเรียนอยู่ ส่วนเขารับจ้างมาเขียนภาพฝาผนังที่ห้องประชุมของโรงเรียนเธอ อีกกระแสหนึ่งบอกว่าเขาและเธอพบกันที่บ้านของทีนา โมดอตตี (Tina Modotti) ซึ่งเป็นช่างภาพและเป็นเพื่อนของฟรีดา กาห์โล แล้วเกิดต้องตาต้องใจกัน จนแต่งงานกันในปีต่อมาโดยดิเอโก ริเบราอายุมากกว่าฟรีดา กาห์โล 21 ปี

 

ดิเอโก ริเบรารับงานเขียนภาพฝาผนังให้ San Francisco Stock Exchange และ California School of Fine Arts ทั้งสองจึงเดินทางไปซานฟรานซิสโกในปี 1930 ผลจากอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ฟรีดา กาห์โลแท้งหลายครั้ง เธอไม่ชอบสหรัฐอเมริกาและชาวอเมริกัน ทั้งสองเดินทางกลับเม็กซิโกในปี 1933 ตั้งรกรากที่เมืองซาน อันเกล (San Angel) แล้วเธอต้องเข้าโรงพยาบาลอีก ต่อมาอีก 2 ปีเธอพบว่าดิเอโก ริเบราแอบมีสัมพันธ์กับน้องสาวของเธอ เธอออกจากบ้านด้วยหัวใจสลายไปอยู่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง หญิงแกร่งมาดมั่นจึงมีสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกันหลายคน และเดินทางไปนิวยอร์กก่อนที่จะกลับบ้านเมื่อดิเอโก ริเบราเลิกกับน้องสาวของเธอ

 

ในปี 1937 เม็กซิโกให้ลี้ภัยทางการเมืองแก่เลออน ทร็อตสกี (Leon Trosky) และภรรยา ทั้งสองพำนักที่บ้านของฟรีดา กาห์โลและดิเอโก ริเบรา และแล้วทร็อตสกีกับฟรีดา กาห์โลก็แอบมีสัมพันธ์กัน เธอเขียนภาพของตนเองและอุทิศให้กับเลออน ทร็อตสกี

 

แกเลอรีของจูเลียง เลวี (Julien Levy) ในนิวยอร์กจัดนิทรรศการภาพเขียนของฟรีดา กาห์โล 25 ภาพ และขายผลงานได้ครึ่งหนึ่ง และระหว่างที่อยู่นิวยอร์ก เธอก็ไปมีสัมพันธ์กับช่างภาพชื่อนิโคลาส เมอเรย์ (Nickolas Muray) เธอเดินทางไปปารีสเพื่อโปรโมตเม็กซิโกซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกเป็นผู้จัด จึงได้รู้จักกับจิตรกรอย่างปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) วาสซิลี คันดินสกี (Vassili Kandinsky) อีฟส์ ตองกี (Yves Tanguy)

 

ชีวิตคู่ที่เข้มข้นด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยต่างฝ่ายต่างนิยมรักเสรี ฟรีดา กาห์โลและดิเอโก ริเบราจึงหย่ากันในเดือนธันวาคม 1938 เธอมีปัญหาที่กระดูกสันหลังอีก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในซานฟรานซิสโก บังเอิญให้ดิเอโก ริเบราอยู่ที่เมืองนี้ด้วย เขาจึงขอเธอแต่งงานอีกครั้งหนึ่ง

 

ในบั้นปลายชีวิตฟรีดา กาห์โล สอนหนังสือที่ Académie des Beaux-Arts ของเม็กซิโก แต่เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ นักเรียนจึงมาเรียนที่บ้าน เธอเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้งและต้องสวมเกราะเหล็กและขาที่มีปัญหาก็ถูกตัด เธอเสียชีวิตในปี 1954 หลังจากที่ได้เห็นนิทรรศการภาพเขียนของเธอในปี 1953

 

ดิเอโก ริเบราเกิดในปี 1886 เขาจบการศึกษาจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ของเมืองซานการ์โลส (San Carlos) ได้รับทุนการศึกษาไปแมดริด แล้วต่อไปยังปารีส ได้พบปะสังสรรค์กับอาร์ทิสต์ในยุคนั้นที่มงต์ปาร์นาส (Montparnasse) และประทับใจในกระแส cubisme เขาแต่งงานกับแองเจลินา เบลอฟ (Angelina Beloff) เมื่อกลับมาเม็กซิโก เขาแสดงผลงานที่ประทับใจผู้คน ภรรยาประธานาธิบดีซื้อไว้ 6 ภาพและรัฐซื้ออีก 7 ภาพ ดิเอโก ริเบรามีสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกหลายคนและมีลูกกับหญิงเหล่านี้โดยที่เขาไม่ยอมรับเป็นพ่อ ผลงานของเขานำไปแสดงที่ Modern Galleryในนิวยอร์กร่วมกับปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) วินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) และปอล เซซานน์ (Paul Cézanne)

 

ดิเอโก ริเบราได้รับทุนไปศึกษาการเขียนภาพเฟรสโก (fresco) และหย่ากับแองเจลินา เบลอฟในปี 1921 รัฐบาลเม็กซิโกให้เขาเขียนภาพฝาผนังเป็นเรื่องราวของการปฏิวัติและสงครามกลางเมือง และเมื่อได้พบกับฟรีดา กาห์โล เขาจึงขอเธอแต่งงาน

 

ดิเอโก ริเบราเป็นอาร์ทิสต์เพื่อชีวิต เขาสนับสนุนการต่อสู้ในสังคม สะท้อนภาพชีวิตของกรรมกร เขาต้องการให้ประเทศบ้านเกิดปราศจากอิทธิพลของอเมริกา และคงวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ครั้งหนึ่งเนลสัน ร็อกกี้เฟลเลอร์ (Nelson Rockefeller) ขอให้เขาเขียนภาพฝาผนังให้ Edio City Music Hall ที่นิวยอร์ก เขาสะท้อนภาพทุนนิยมเป็นทรราช และเปลี่ยนภาพกรรมกรเป็นใบหน้าของเลนิน ผู้ว่าจ้างขอให้ลบทิ้งเสีย แต่เขาไม่ยอม ผลก็คือภาพนี้ถูกทำลายทิ้งในภายหลัง

 

นิทรรศการ Frida Kahlo, Diego Rivera, l’art en fusion นำภาพเขียนที่เป็นสมบัติของโดโลเรส โอลเมโด (Dolores Olmedo) มาแสดง เธอเป็นนักธุรกิจที่เคยมีสัมพันธ์กับดิเอโก ริเบรา และซื้อรูปของเขานับร้อยรูป และรูปของฟรีดา กาห์โล 20 รูป รวมทั้งภาพที่ขอยืมจากที่ต่างๆ

 

ภาพเขียนที่นำมาแสดงสะท้อนความรักความผูกพันที่ทั้งสองมีต่อประเทศบ้านเกิด หากผลงานของฟรีดา กาห์โลกลับตรึงตาผู้ชมได้มากกว่า ภาพ autoportrait ของเธอสะท้อนความทุกข์ทรมานจากการป่วย ความเจ็บปวดจากการที่สามีไม่สัตย์ซื่อ ความทุกข์จากการแท้งลูกและไม่สามารถมีลูก หรือแม้แต่ความคิดอยากฆ่าตัวตาย ออกจะเป็นนิทรรศการที่ดูแล้วรันทดไปกับชะตาชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อฟรีดา กาห์โล