เรื่องแปลกแต่จริงเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้ง เวลาที่มีโอกาสได้ให้การต้อนรับอาคันตุกะจากเมืองไทยที่ไปเยี่ยมเยือนครอบครัวเรา ก็คือนอกจาก Sushi จะเป็นอาหารที่ทุกคนนึกถึงและขอโอกาสไปลิ้มลองลำดับต้นๆ ในฐานะเป็นสินค้าพื้นเมืองของญี่ปุ่นแล้ว อาหารยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งก็เห็นจะเป็น Ramen ที่ทุกคณะต้องขอให้พาไปลิ้มชิมรส
ที่บอกว่าแปลกก็เพราะโดยส่วนตัวมีความสงสัยอยู่เสมอว่าทำไมพี่น้องผองเพื่อนจึงโปรดปราน Ramen ในญี่ปุ่นกันนัก และคิดนึกเอาเองว่าพวกเขาน่าจะเบื่อระอากับบะหมี่และก๋วยเตี๋ยวที่มีอยู่อย่างดาษดื่นตามทุกหัวถนนในเมืองไทยกันแล้ว
อีกทั้ง Ramen ก็ไม่น่าจะเป็นตัวแทนของอาหารในเชิงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่ชัดเจน ซึ่งพวกเขากำลังเสาะแสวงหามากนักและออกจะเป็นภาพสะท้อนอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนกันเสียมากกว่า
การเคลื่อนตัวของ Ramen จากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นยังเป็นที่ถกเถียงไม่น้อยว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ขณะที่ชื่อเรียก Ramen ก็ดำเนินไปท่ามกลางสมมุติฐานมากมายว่าแผลงหรือเพี้ยนเสียงมาจากคำเรียกขานชนิดใดแบบไหนกันแน่
ซึ่งสมมุติฐานทั้งหมดก็พยายามอธิบายว่าทำไม Ramen จึงถูกเรียกว่า Ramen ทั้งในฐานะที่เป็นคำบอกคุณลักษณะของเส้น วิธีการปรุง หรือแม้กระทั่งอากัปกิริยาในการปรุงเลยทีเดียว
แต่ชื่อเรียกที่ดูจะจริงจังกว่าของ Ramen เกิดขึ้นในช่วงต้นของ Meiji นี่เอง โดยชื่อเรียก Ramen ในสมัยนั้นบ่งบอกที่มาของ Ramen ไว้อย่างชัดเจนว่า Shina soba หรือ Chuka soba ซึ่งหมายถึงก๋วยเตี๋ยวจีน อย่างตรงไปตรงมา
ความนิยมของ Ramen ในช่วงเวลาดังกล่าวดำเนินไปอย่างจำกัด ก็เพราะ Ramen เป็นอาหารที่พบได้เฉพาะในภัตตาคารและร้านอาหารจีนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารขึ้นเหลากันเลยก็ว่าได้
แต่เมื่อมาถึงสมัย Showa สถานะของการเป็นอาหารขึ้นห้างของ Ramen ก็กลับกลายมาสู่การเป็นอาหารข้างถนนและอาหารจานหลักของผู้มีรายได้น้อยไปโดยปริยาย เมื่อพ่อค้าชาวจีนนำ Ramen มาหาบเร่จำหน่ายให้กับคนงาน พร้อมกับการใช้แตรเป็นสัญญาณเรียกลูกค้า
ฟังดูแล้ว นึกเห็นภาพร้านขายบะหมี่เกี๊ยวบนรถซาเล้ง ที่วิ่งเข้าออกตามหมู่บ้านและไซต์งานก่อสร้างในเมืองไทยในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมาแล้วบ้างไหม
จุดหักเหที่ทำให้เกิดความแพร่หลายของ Ramen ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับความหลากหลายในวิธีการปรุง และการทำให้เป็นส่วนหนึ่งในเมนูอาหารญี่ปุ่น เกิดขึ้นอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง
เพราะเมื่อไพร่พลจำนวนเรือนล้านของญี่ปุ่นเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ พร้อมกับพบว่าพวกเขาในฐานะผู้แพ้สงครามแทบจะไม่เหลืออะไร ความพยายามที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะพ่อค้า Ramen จึงเกิดขึ้น
ทหารผ่านศึกเหล่านี้ในด้านหนึ่งก็คือผู้ที่ผ่านสมรภูมิในจีนและคุ้นเคยกับ Ramen และอาหารจีนมาไม่น้อย ซึ่งพวกเขากลายเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรม Ramen ให้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย
ความลื่นไหลของวัฒนธรรม Ramen ในสังคมญี่ปุ่นดำเนินไปไกลถึงขั้นที่มีการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ Ramen (Ramen Museum) ที่เมือง Yokohama ในปี 1994 และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว (tourist attraction) ที่สำคัญส่วนหนึ่งของ Yokohama ซึ่งถือเป็นประหนึ่งเมืองหลวงของบรรดา Chinatown ทั้งปวงของญี่ปุ่นอีกด้วย
ขณะที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงต่างประเมินสถานะและความเป็นไปของ Ramen ผ่านข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจสังคมอย่างจริงจัง ในฐานะที่เป็นทั้ง Cultural Icon และจักรกลในทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของวัฒนธรรม Ramen เกิดขึ้นเมื่อ Momofuku Ando นักธุรกิจครึ่งไต้หวัน-ญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งบริษัท Nissin Foods คิดค้นบะหมี่ปรุงสำเร็จรูปหรือ instant noodles ในปี 1958 ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ตามการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่น เพราะเพียงเติมน้ำร้อนก็สามารถลิ้มลองรสชาติของบะหมี่ได้แล้ว
ขณะเดียวกันสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้ยังกลายเป็นสินค้าที่มีนัยความหมายในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งถูกส่งออกและกระจายตัวแผ่ซ่านไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก และพัฒนาต่อยอดจากที่บรรจุในซอง มาสู่การบรรจุในถ้วยแบบ cup noodles รวมถึงการเป็นอาหารทดลองสำหรับนักบินอวกาศอีกด้วย
นอกจากนี้ ในห้วงยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บะหมี่สำเร็จรูป ยังได้ผันสถานะสู่การเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะเทียบชั้นกับดัชนี McDonald’s ได้อย่างสบาย
แต่สำหรับช่วงหลังปีใหม่ใกล้ๆ ตรุษจีนเช่นนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงไม่ต้องพึ่งพาดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจพวกนี้หรอกจริงไหมคะ แต่ถ้าจะหา Ramen ชามอร่อยมาเสริมอรรถรสในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ก็คงไม่ถือเป็นเรื่องผิดกติกาหรอกจริงไหม เพราะไม่เคยมีผู้ใดกำหนดไว้
และขอกล่าวคำว่า “ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ” คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีนะคะ