วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > On Globalization > ผู้หญิงชนพื้นเมืองอเมริกันถูกข่มขืนและไม่ได้รับความเป็นธรรม

ผู้หญิงชนพื้นเมืองอเมริกันถูกข่มขืนและไม่ได้รับความเป็นธรรม

 
 
Column: Women in Wonderland
 
กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน หมายถึงกลุ่มคนพื้นเมืองในประเทศอเมริกาที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกามาก่อนที่คนยุโรปจะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่จะหมายถึงชนเผ่าอินเดียนแดง ซึ่งส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Native American หรือ American Indian ก่อนหน้านี้มีการใช้คำว่า Red Indian ในการพูดถึงชนพื้นเมือง และต่อมายกเลิกใช้คำนี้ไป เพราะ Red Indian ดูเป็นคำที่ไม่สุภาพและแสดงถึงการแบ่งแยกชนชั้น ดังนั้นในการสัมมนานานาชาติของคนอินเดียน ที่จัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1977 คนอินเดียนจึงมีมติที่ประชุมร่วมกันว่าจะใช้คำว่า American Indian หรือ Native American ในการกล่าวถึงกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศอเมริกา
 
กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันจะอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มและอาศัยอยู่ในเขตสงวนอินเดียนแดง เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1876 รัฐบาลอเมริกาประกาศให้ชนพื้นเมืองอเมริกันทุกคนย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเขตสงวนอินเดียน ในประเทศอเมริกามีเขตสงวนอินเดียนอยู่ประมาณ 300 เขต และในแต่ละเขตก็จะมีขนาด ภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ในบางพื้นที่คนพื้นเมืองอเมริกันไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ในปัจจุบันนี้มีชนพื้นเมืองอเมริกันบางส่วนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองที่ไม่ใช่พื้นที่เขตสงวน เพื่อเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เหมือนกับคนอเมริกันทั่วไป
 
ตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ ในอเมริกาถึง 3 เท่า และเนื่องจากคนพื้นเมืองอเมริกันส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่รวมกันในเขตสงวนอินเดียนแดง ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เมื่อถูกลวนลามทางเพศหรือถูกข่มขืนก็จะเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้ไม่บอกใคร เพราะพวกเธอมีความเชื่อว่า เป็นความอัปยศในชีวิต 
 
1 ใน 3 ของผู้หญิงชนพื้นเมืองอเมริกัน หรือประมาณ 875,000 คน มีรายงานว่า พวกเธอเหล่านี้ครั้งหนึ่งในชีวิตถูกข่มขืน และ 2 ใน 3 ของผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะเป็นคนข้างนอก ไม่ใช่คนในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกัน
 
ปัญหาของผู้หญิงในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันไม่ได้มีแค่เรื่องนี้เท่านั้น แต่พวกเธอยังถูกหลอกให้ไปขายบริการอีกด้วย และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ 100% ของผู้หญิงที่ถูกหลอกไปขายบริการนั้น ล้วนแต่เคยถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศมาก่อนทั้งนั้น และพวกเธอก็ไม่เคยบอกเรื่องนี้กับคนในครอบครัว
 
Jodi Gillette อดีตผู้ช่วยพิเศษกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันที่ทำเนียบขาว ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องผู้หญิงในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันโดนข่มขืนหรือลวนลามทางเพศนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน และเกิดขึ้นในทุกเขตสงวนอินเดียนด้วย Gillette ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เคยมีผู้หญิงของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันประมาณ 12–15 คนเล่าให้เขาฟังว่า ในชีวิตของผู้หญิงพื้นเมืองอเมริกันจะต้องถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ไม่มีใครออกมาพูดหรือเรียกร้องให้เอาผิดกับคนที่ข่มขืนหรือลวนลามพวกเธอ เรื่องนี้ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับความทุกข์ตามลำพัง
 
ถึงแม้ว่ารัฐบาลอเมริกาจะประกาศแก้กฎหมาย Violence Against Women Act ในปี 2013 โดยให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงที่แม้ว่าจะไม่ใช่คนพื้นเมืองอเมริกันก็จะต้องขึ้นศาลของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันเมื่อกระทำความผิดต่อกลุ่มคนพื้นเมือง แต่ในกฎหมายฉบับนี้ก็ยังคงมีช่องโหว่อยู่อีกค่อนข้างมากที่ต้องแก้ไขในอนาคต เพื่อให้ผู้หญิงพื้นเมืองอเมริกันได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
 
อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้หญิงในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันต้องพบเจอคือ ปัญหาการเข้ารับบริการต่างๆ จากภาครัฐ หลังจากที่พวกเธอถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศ ปัญหาหลักที่พวกเธอจะพบเจอมีอยู่ 2 ปัญหาด้วยกัน คือ (1) เจ้าหน้าที่ของศาลและเจ้าหน้าที่ที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตมีไม่เพียงพอให้บริการ และ (2) พวกเธอไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะช่องโหว่ของกฎหมาย
 
อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า 2 ใน 3 ของผู้ใช้ความรุนแรงไม่ใช่คนพื้นเมืองอเมริกัน ทำให้คนเหล่านี้เมื่อข่มขืนผู้หญิงหรือใช้ความรุนแรงกับเด็กก็จะไม่ถูกลงโทษ เพราะไม่สามารถขึ้นศาลของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันได้ นอกจากว่าจะเป็นคดีที่ร้ายแรงมากๆ และมีการดำเนินคดีในศาลของรัฐนั้นๆ แทน
 
จนกระทั่งเมื่อปี 2013 ที่รัฐบาลมีการแก้กฎหมายโดยอนุญาตให้คนที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองสามารถขึ้นศาลของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันได้ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงกรณีของการข่มขืนด้วย แต่ไม่ใช่ในทุกเขตสงวนอินเดียนที่จะมีศาลของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและมีขนาดพื้นที่เล็กๆ ทำให้เมื่อผู้หญิงและเด็กถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศก็ไม่สามารถเอาผิดกับคนเหล่านี้ได้ ปัญหานี้ทำให้ผู้หญิงและเด็กไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศในหมู่บ้านของตัวเอง
 
หัวหน้าเผ่ากลุ่มคนพื้นเมืองในเขตสงวนอินเดียนแห่งหนึ่งได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า มีคนพื้นเมืองมากกว่า 1 ล้านคนที่ถูกข่มขืนและไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ยากจน จนไม่สามารถที่จะเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีได้ และเป็นเพราะช่องโหว่ของกฎหมายที่ไม่คุ้มครองคนพื้นเมืองอเมริกันที่ถูกทำร้ายในพื้นที่เขตสงวนอินเดียน 
 
American College ที่เมือง Irving ในรัฐเทกซัสได้ทำการศึกษาดูว่า ในกรณีที่เกิดคดีการข่มขืนขึ้นนั้น ใน 1 คดีจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและของรัฐเท่าไหร่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5,300,000 บาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้จะครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล ค่าใช้จ่ายในการรักษาร่างกายและเยียวยาจิตใจทั้งของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและคนในครอบครัว ค่าใช้จ่ายสำหรับการให้คำปรึกษาในยามฉุกเฉินและที่พักฉุกเฉินชั่วคราว การสูญเสียรายได้จากการทำงานหรือต้องออกจากงานชั่วคราวและภาครัฐจะต้องจ่ายเงินชดเชยในส่วนนี้ให้ 
 
นอกจากค่าใช้จ่ายที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตีเป็นเงินได้อีก อย่างเช่นการเยียวยาความรู้สึกของผู้ที่ถูกข่มขืน และครอบครัวของคนที่ตกเป็นเหยื่อ และในบางกรณีคนที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะเสียชีวิตจากการถูกข่มขืน หรือฆ่าตัวตายหลังจากถูกข่มขืน ซึ่งกรณีเหล่านี้ต่างต้องใช้เวลาในการเยียวยาจิตใจ และไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
 
ปัญหาเรื่องผู้หญิงและเด็กของกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันที่ถูกข่มขืนและถูกลวนลามทางเพศนั้น นับว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยทีเดียว ปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจด้วยว่า วัฒนธรรมของคนพื้นเมืองอเมริกันนั้น ผู้หญิงและเด็กที่ถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศไม่สามารถพูดเรื่องนี้กับใครได้แม้แต่คนในครอบครัว เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องอัปยศของชีวิต ทำให้เด็กวัยรุ่นหลายคนที่ถูกข่มขืน มักจะฆ่าตัวตายหลังจากถูกข่มขืน ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันมีอัตราที่สูงมาก
 
หนึ่งในทางแก้ปัญหาฆ่าตัวตายของวัยรุ่นในกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันก็คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการข่มขืนหรือการลวนลามทางเพศเหมือนทุกวันนี้ หากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาวัยรุ่นฆ่าตัวตายได้
 
การแก้ไขปัญหานี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะการจะลดจำนวนผู้ที่ถูกข่มขืนหรือถูกลวนลามทางเพศในเขตสงวนอินเดียนลง จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ที่กระทำความผิดได้รับการลงโทษในทุกกรณีเพื่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และเมื่อจำนวนผู้ที่ถูกข่มขืนลดลง จำนวนเด็กวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายก็จะน้อยลงตามไปด้วย 
 
รัฐบาลอเมริกาและตัวแทนจากกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกัน น่าจะมีโอกาสได้หารือกันถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เพราะเรื่องถูกข่มขืนหรือลวนลามทางเพศนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกด้าน รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะกลุ่มคนพื้นเมืองอเมริกันก็ถือว่าเป็นคนอเมริกันคนหนึ่งเหมือนกัน
 
 
(Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/native-dancer-1434153)