วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > แรงงาน ความเสี่ยงอนาคต

แรงงาน ความเสี่ยงอนาคต

บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด บริษัทในเครือของ บมจ.ทียูเอฟมีแรงงานพม่า เขมร จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ จากพนักงานทั้งหมด ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (TUM) ก่อตั้งเมื่อปี 2520 ในจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋องและอาหารแมวบรรจุกระป๋อง เป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ทียูเอฟ ทำหน้าที่ส่งออกสินค้า 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 2 เปอร์เซ็นต์จำหน่ายในประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของการผลิตบริษัทมีพนักงานเพียง 120 คน แต่ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 8,000 คน ซึ่งเติบโตไปตามการขยายธุรกิจของกลุ่มทียูเอฟที่มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะรายได้เติบโตปีละ 40 เปอร์เซ็นต์

หากมองในมุมการเจริญเติบโตของธุรกิจจะเห็นว่าค่อนข้าง ดี แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่กลุ่มทียูเอฟกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้คือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และแรงงานต่างชาติ ค่าแรงขั้นต่ำกำลังส่งผลกระทบให้ต้นทุนการบริหารงานขยับตัวสูงขึ้น ในขณะที่แรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในโรงงานส่วนใหญ่จะมาจากประเทศพม่าและกัมพูชา

อย่างเช่นบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีพนักงานพม่าและกัมพูชาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2,400 คน จากพนักงานทั้งหมด 8,000 คน

บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาฯ เป็นโรงงานที่สะท้อนให้เห็นการใช้แรงงานต่างชาติของกลุ่มทียูเอฟได้อย่างชัดเจน เพราะในความเป็นจริงแล้วทั้งกลุ่มมีโรงงานกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง ที่เป็นโรงงานปลาทูน่า โรงงานกุ้งแช่แข็ง เป็นต้น

แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรม อาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานค่อนข้างมาก เนื่องจากเครื่องจักรไม่สามารถทำงานตั้งแต่ผลิตและจำหน่าย ได้อย่างครบวงจร อย่างเช่นปลาทูน่าที่มีขนาดไม่เท่ากัน หากใช้เครื่องจักรแยกชิ้นส่วนปลา อาจทำให้เกิดความสูญเสียระหว่างการผลิตได้ ดังนั้นการใช้ทักษะจากแรงงานจึงมีความจำเป็น

ความกดดันของกลุ่มทียูเอฟ ด้านแรงงานในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานพม่า การมาเยือนของอองซาน ซูจี ผู้นำพม่าได้ปราศรัย กับคนพม่าในมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งแรงงานของพม่ามากที่สุดในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2555 เพื่อเรียกร้องให้คนพม่ากลับไปพัฒนาประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้า นับเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการไทยต้องยิ่งปรับตัวอย่างมาก ไม่เฉพาะธุรกิจในกลุ่มทียูเอฟเท่านั้น

แรงกดดันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีก 3 ปีหลังจากกลุ่มอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) ร่วมมือกันชัดเจนในปี 2558 (2015) เพราะแรงงานจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการแข่งขันแย่งชิงกันหนักมากขึ้นใน 10 ประเทศ

บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาฯ ไม่ได้ขาดแคลนพนักงานระดับ แรงงานเท่านั้น แต่ยังขาดวิศวกรในโรงงาน จึงทำให้ผู้บริหารเริ่มออกไปรับสมัครงานพนักงานในประเทศฟิลิปปินส์ โดยอาศัยจังหวะความร่วมมือของเออีซีที่เปิดโอกาสให้วิศวกรหนึ่งในอาชีพที่อนุญาตให้สามารถย้ายไปทำงานในกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้

ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าส่วนหนึ่ง นอกจากนี้บริษัทยังได้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม มาพัฒนาบุคลากรภายใต้โครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริม การเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร” รวมถึงการสร้างผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ดี การสร้างคุณภาพบุคลากรและรับพนักงานระดับวิศวกรเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้อง ไปกับธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มทียูเอฟในยุโรป สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคอื่นๆ แต่ในมุมของแรงงานอย่างแท้จริง บริษัทฯ ยังไม่ได้รับมือล่วงหน้ามากนัก จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่ากลุ่มทียูเอฟ จะตัดสินใจสร้างโรงงานใน 10 ประเทศของเออีซีอย่างไร เพราะค่าแรงที่ต่ำกว่า เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ค่าแรงในประเทศอินโดนีเซียยังต่ำกว่าแรงงานในประเทศไทยถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันในประเทศอาเซียนกลุ่มทียูเอฟมีโรงงาน อยู่แล้ว 3 ประเทศ คือประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและจะมากขึ้นในอนาคต กลุ่มทียูเอฟย่อมตระหนักชัดเจนเป็นอย่างดีในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทฯ จะเลือกหนทางใดแก้ไขเท่านั้น