วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > The Global Link > China Inside-Out > ป๋อ ซีไหล

ป๋อ ซีไหล

 

ก่อนที่การถ่ายโอนอำนาจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษ ของกลุ่มผู้นำจีนจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 เรื่อยไปจนถึงปี 2556 ไม่มีข่าวใดสั่นสะเทือน เสถียรภาพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากไปกว่าชะตากรรมของชายที่มีชื่อว่า “ป๋อ ซีไหล”

 

ข่าวคราวเกี่ยวกับ ป๋อ ซีไหลกลายเป็นประเด็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอย่างครึกโครมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เมื่อรองนายกเทศมนตรี นครฉงชิ่ง และมือขวาของป๋อ นาม “หวัง ลี่จวิน” พยายามหลบหนีเข้าไปในสถานกงสุลอเมริกันที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนที่อยู่ติดกับฉงชิ่ง ก่อนป๋อจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ของฉงชิ่งยกกำลังไปปิดล้อมสถานกงสุลอเมริกันเพื่อให้ส่งตัวหวัง ลี่จวินออกมา

 

ในความเป็นจริง สื่อมวลชน ประชาชนและคนทั่วไป ไม่มีใครทราบ “ข้อเท็จจริง” ว่าหวัง ลี่จวินเข้าไปทำอะไรในสถานกงสุลอเมริกัน มีข่าวหลุดออกมาว่าหวังขอลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักกับป๋อ ซีไหล ผู้เป็นนาย ทว่า แกรี ล็อก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่งได้ตอบปฏิเสธคำขอลี้ภัยของหวังโดยอ้างถึงการตัดสินใจของทำเนียบขาว อย่างไรก็ตาม หลังการต่อรอง เอกอัครราชทูตอเมริกันได้ประสานไปยัง รัฐบาลกลางจีนเพื่อแก้ปัญหา โดยในที่สุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลที่ปักกิ่ง 8 คน ก็บินมารับตัวหวังกลับไปยังกรุงปักกิ่ง

 

ร่ำลือกันว่า หวังในฐานะมือขวาของป๋อ ซีไหล กุมความลับต่างๆ ของป๋อและครอบครัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไว้มากมาย ไม่ว่าจะข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ปัญหาการใช้อิทธิพลมืดเพื่อปราบปรามกลุ่มมาเฟียในนครฉงชิ่ง รวมถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของครอบครัว ดังนั้นเมื่อหวังแตกหักกับป๋อ ข้อมูลและความลับของป๋อต่างๆ จึงถูกส่งต่อไปยังรัฐบาลกลางจีน และอีกส่วนหนึ่งทางรัฐบาลอเมริกัน ได้เก็บหลักฐานเอาไว้

 

การตัดสินใจหักหลังเจ้านายครั้งนี้ของหวัง ไม่เพียงทำให้อนาคตของตัวเขา และป๋อ ซีไหลล่มจมไปเพียงสองคน แต่ยังส่งผลกระทบเป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่เข้ากระทบพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กุมอำนาจในการปกครองมหาอำนาจแห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ทั้งยังส่งผลสะเทือนไปถึงการถ่ายโอนอำนาจจากผู้นำรุ่นที่ 4  ไปยังผู้นำรุ่นที่ 5 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ด้วย

 

แน่นอนว่า ป๋อ ซีไหลย่อมมิใช่สมาชิกในกลุ่มชนชั้นนำของจีนธรรมดาๆ ที่ไม่มีหัวนอนปลาย เท้า เขาเกิดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) ณ กรุงปักกิ่ง เป็นบุตรคนที่ 4 (บุตรชายคนที่ 2) จากทั้งหมด 7 คนของ “ป๋อ อีปอ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน และหนึ่งในผู้นำระดับอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถูกตั้งฉายาให้ว่าเป็นสมาชิกในกลุ่มแปดเซียน (Eight Immortals) โดยผู้นำในกลุ่ม “แปดเซียน” นี้ถูกกวาดล้างในยุคของการปฏิวัติวัฒนธรรมในข้อหาสนับสนุนการค้าขายกับตะวันตก และการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ปี 2509 (ค.ศ.1966) ในช่วงต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวของป๋อ อีปอต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ โดยทั้งครอบครัวถูกจำขังยาวนานถึง 5 ปี และถูกส่งไปใช้แรงงานในค่ายแรงงานต่ออีก 5 ปี  ในช่วงนั้นป๋อ อีปอ ถูกทรมานต่างๆ นานา ส่วนหู หมิง มารดาของป๋อ ซีไหล ซึ่งเคยเป็นเลขานุการของป๋อ อีปอ ก็ทำอัตวินิบาตกรรม (ขณะที่ข้อมูลบาง ส่วนระบุว่าถูกทุบตีจนเสียชีวิตระหว่างการถูกจับกุม)

 

กระทั่งหลังจากที่เหมา เจ๋อตงเสียชีวิตและการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง เติ้ง เสี่ยวผิงจึงคืนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้กับป๋อ อีปอ ส่วนบุตร ชายป๋อ ซีไหลก็เข้าทำงานเป็นกรรมกรของโรงงานโลหะแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ก่อนเข้าเรียนต่อในระดับ อุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และจบการศึกษาในปี 2522 (ค.ศ.1979) โดยป๋อ ซีไหลจบการศึกษาระดับปริญญาตรีประวัติศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์โลกจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และปริญญาโทจากบัณฑิตสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน

 

ในส่วนชีวิตคู่ของป๋อ ซีไหล แต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 2519 (ค.ศ.1976) โดยแต่งกับหลี่ ตานอี่ว์ บุตรสาวของหลี่ เสี่ยว์เฟิง อดีตเลขา ธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิว นิสต์ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสหายร่วมรบของบิดา โดยทั้งคู่มีบุตรชายหนึ่งคนนาม ป๋อ วั่งจือ (ในเวลาต่อมาเปลี่ยนแซ่ตามมารดาเป็นหลี่ วั่งจือ)

 

หลังการปฏิวัติ วัฒนธรรมระหว่างที่ป๋อ ซีไหลเล่าเรียนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขามีโอกาสได้รู้จักกับหญิงสาวคณะนิติศาสตร์ หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้มนาม “กู่ ไคไหล” บุตรสาวของนายพลกู่ จิ่งเซิง และมีศักดิ์เป็นญาติห่างๆ กับภรรยา กระนั้นหนุ่มสาวทั้งคู่ซึ่งต่างก็เป็นบุตรหลานของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลับ ไม่แคร์สายตาครอบครัวและสังคม กลับไปมาหาสู่กันจนกระทั่งบิดาของป๋อ ซีไหลทนไม่ไหวยินยอมให้บุตรชายเลิกกับภรรยาซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนรัก และไปแต่งงานใหม่กับกู่ ไคไหล ในปี 2529 (ค.ศ.1986)[1]

 

หากไม่คำนึงถึงว่าเป็นการแต่งงานครั้งที่สอง ถ้าเปรียบไปคู่ของป๋อ ซีไหล กับกู่ ไคไหล ก็สมกันราวกับ “กิ่งทองใบหยก” เพราะฝ่ายชายกอปรด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา รูปร่างที่สูงใหญ่ถึง 186 เซนติเมตร ทั้งยังเป็นบุตรชายของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ได้รับการศึกษาขั้นสูง และกำลังมีอนาคตที่สดใสในฐานะเลือดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนฝ่ายหญิงก็หน้าตาสะสวย เป็นบุตรี ของนายพลในพรรคฯ จบการศึกษาจากสถาบันชั้นยอดของประเทศ ทั้งมีหน้าที่การงานอย่างดีในฐานะทนายชั้นแนวหน้าของจีน ในเวลาต่อมาเธอได้เปิดสำนักงาน ทนายความของตัวเองขึ้นมาในชื่อ สำนักงานกฎหมายไคไหล

 

ยิ่งกว่านั้นทั้งคู่ได้ให้กำเนิดบุตรชายหัวแก้วหัวแหวน นาม “ป๋อ กวากวา” เขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูเยี่ยงบุตรหลานชนชั้นนำของโลก เพราะถูกส่งไปเรียน ที่อังกฤษตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนฮาร์โรว์ โรงเรียนประจำเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงนับร้อยๆ ปีของอังกฤษ ซึ่งมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงอย่างวินสตัน เชอร์ชิล, บัณฑิต เนรู รวมไปถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของไทยด้วย ก่อนที่ “ป๋อน้อย” จะไปเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และ เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และในระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยการปกครอง จอห์น เอฟ เคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ในด้านหน้าที่การงาน ป๋อ ซีไหลเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคม 2523 (ค.ศ.1980) และเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไปถึงระดับนายกเทศมนตรีเมืองต้าเหลียน เมืองท่าสำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน,เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองต้าเหลียน, รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลเหลียวหนิง, ผู้ว่าการมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งโดยสรุปรวมแล้วป๋อทำงานคลุกคลีอยู่ในพื้นที่มณฑล เหลียวหนิงและเมืองต้าเหลียนยาวนานถึง 17 ปี และฝากผลงานชิ้นโบแดงไว้ไม่น้อย

 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ชื่อป๋อ ซีไหล ก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในหมู่นักการทูต พ่อค้าวาณิช สื่อมวลชน  เมื่อเขาถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนในรัฐบาลของเวิน เจียเป่า ก่อนที่ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 ในปี 2550 (ค.ศ.2007) เขาจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการกรมการเมือง พร้อมกันนั้นต้องรับภาระหนัก ในตำแหน่งเลขาธิการ พรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครฉงชิ่ง 1 ใน 4 มหานครขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางกับภารกิจ ในการปราบปรามเหล่ามาเฟียขาใหญ่ที่รวมหัวกับนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่ รัฐ ในการทุจริคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง

 

   ด้วยพื้นเพของครอบครัว บารมีของบิดา ชื่อเสียงส่วนตัว และผลงานการทำงานอันโดดเด่นของป๋อ ซีไหลในช่วงหลาย สิบปีที่ผ่านมา หากไม่เกิดเหตุการณ์ “หวัง ลี่จวินหนี เข้าสถานกงสุลอเมริกัน” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ทุกคนต่างคาดหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า ป๋อน่าจะได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการ เมือง หรืออีกนัยหนึ่งคือ คณะผู้บริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้กำหนดทิศทางของประเทศจีนในช่วงสิบปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแบเบอร์

 

ทว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ระหว่างการ ประชุม 2 สภา หรือการประชุมสภาผู้แทนประชาชน แห่งชาติจีน และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนกลับมีคำสั่งฟ้าผ่าจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุถึงการปลดป๋อ ซีไหล จากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนครฉงชิ่ง และต่อมา 10 เมษายน 2555 ก็มีคำสั่งถอดเขาออกจากตำแหน่งสมาชิกในคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมกับที่สำนักข่าวซินหัวได้ยืนยันข่าวการดำเนินคดีกับกู่ ไคไหล ภรรยาของ ป๋อ ซีไหล ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าพัวพันกับการฆาตกรรมอำพรางนักธุรกิจอังกฤษที่ชื่อนีล เฮย์วูด ซึ่งเชื่อว่ารู้เห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ในครอบครัวของป๋อ ซีไหล และกู่ ไคไหล (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในฉงชิ่ง) อันเป็น เครื่องยืนยันว่าอนาคตทางการเมืองของชายที่ชื่อ ป๋อ ซีไหลได้สิ้นสุดลงแล้ว[2]

 

หลังคำสั่งปลดป๋อทั้งชิ้นแรกและชิ้นที่สองแพร่กระจายออกไป ก่อให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นบทวิเคราะห์นับร้อยๆ ชิ้น เกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์ จีนก่อนถึงวาระการถ่ายโอนอำนาจในช่วงปลายปีนี้ จนถึง ขั้นปล่อยข่าวปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจในกรุงปักกิ่ง โดยอ้างว่าเกิดจากนายทหารระดับสูงในกองทัพปลดแอก ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจคำสั่งปลดป๋อ ซีไหล

 

ก่อนคำสั่งปลดป๋อ ซีไหลออกจากการเป็นสมาชิก ของโปลิตบูโร ตัวผมมีโอกาสได้สนทนากับปัญญาชนชาวปักกิ่งวัย 50 กว่าปีผู้หนึ่ง เธอเล่าฟังว่า แม้ป๋อ ซีไหล จะเป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์สาธารณะ และมีผลงานโดด เด่นเพียงไร แต่นโยบายและการกระทำหลายๆ ประการ ของเขาก็สร้างความอึดอัดคับข้องใจให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่นับรวมชนชั้นนำในพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต่างก็จับตามองความเคลื่อนไหวของป๋ออย่างใกล้ชิด

 

“การใช้อำนาจรัฐและวิธีการแบบมาเฟียปราบมาเฟียในฉงชิ่ง เหมือนกับมาเฟียใหญ่จัดการมาเฟียเล็ก รวมไปถึงการรณรงค์ฟื้นฟูวัฒนธรรมแดงในฉงชิ่ง ซึ่งทำให้ผู้คนหวนนึกไปถึงบรรยากาศเลวร้ายในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ บอกได้เลยว่าแม้แต่คนฉงชิ่งบางส่วนก็ยังรับไม่ได้กับเรื่องนี้” เธอบอกกับผม

 

ขณะเดียวกันมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองจีนระดับกูรูท่านหนึ่งก็ชี้ให้ผมเห็นว่า ความพ่ายแพ้ของป๋อ ซีไหล เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นถึงการอ่อนกำลังลงของฝ่ายอนุรักษนิยม การกระชับอำนาจของฝ่ายเสรีนิยม ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ของอนาคตประเทศจีน

 

กล่าวคือชัยชนะของฝ่ายเสรีนิยมในพรรคคอม มิวนิสต์จีนที่กำลังจะได้ตัวแทนคนใหม่ในช่วงปลายปีนี้ คือ “สี จิ้นผิง” และ “หลี่ เค่อเฉียง” จะขับเคลื่อนประเทศจีนไปบนเส้นทางของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ เส้นทางสู่อนาคตที่คณะผู้นำจีนชุดนี้ได้ “เลือกแล้ว” โดยมิอาจถอยหลังกลับ

 

หมายเหตุ:

[1] ข้อมูลหลายแหล่งระบุรายละเอียดการพบรักกันของป๋อ ซีไหล และกู่ ไคไหล ไม่ตรงกัน มีบางส่วนระบุว่า ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในปี 2527 (ค.ศ.1984) ที่มณฑลเหลียวหนิง ขณะที่แหล่งข้อมูลจากจีนอีกส่วนกลับระบุว่า ป๋อ ซีไหล กับกู่ ไคไหลรู้จักกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งกู่ ไคไหลยังเป็นญาติห่างๆ กับภรรยาเก่า หลี่ ตานอี่ว์

[2] China ejects Bo from elite ranks, wife suspected of murder, Reuters, 10 Apr 2012.