วันเสาร์, พฤษภาคม 10, 2025
Home > Cover Story > สรินทิพย์ สถิตย์เสถียร เร่งสปีดดัน Amaze Super App

สรินทิพย์ สถิตย์เสถียร เร่งสปีดดัน Amaze Super App

สรินทิพย์ สถิตย์เสถียร หรือ ดร.แก้ว กรรมการผู้จัดการ Amaze Super App แอปชอปปิ้งใหม่ในเครือซีพี ภายใต้บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด กำลังเร่งสปีดกลยุทธ์ผลักดันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น หลังเพิ่งเผยโฉมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ดร.แก้ว กล่าวว่า เข้ามาลุยโปรเจกต์ Amaze Super App ตั้งแต่การวาง Business strategy ไปจนถึงการจัดการ Operation process โดยอาศัยประสบการณ์กว่า 20 ปี จากวงการค้าปลีกและ Omnichannel จากหลายบริษัทระดับประเทศ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ด้าน Reliability and Quality Engineering

ก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่ง Chief Omnichannel and Customer Experience Officer บริษัทเซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่นประเทศเวียดนาม

เคยร่วมงานกับ Tesco Lotus ในตำแหน่ง Format and Operation Development Director พัฒนาและปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ Tesco Lotus ทั้ง Hypermarket, Supermarket และ Mini- Supermarket รวมถึงการฟอร์มทีมใหม่ Business strategy และ Data analysis เพื่อยกระดับยอดขายอย่างยั่งยืน พัฒนา Omnichannel อย่างเต็มรูปแบบ และยังเคยร่วมงานกับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ตำแหน่ง Vice President, New Business and Innovations ลุยภารกิจพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และขยายตลาดในระดับภูมิภาค

สำหรับ Amaze Super App บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด ตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี (Tech Enabler) ปฏิวัติการใช้พอยต์และพลิกโฉมการชอปของคนไทย โดยเฉพาะ Pain Point เรื่องพอยต์หมดอายุอย่างน่าเสียดาย โดยลูกค้าสามารถใช้ อเมซ ซูเปอร์แอป รวบรวมพอยต์จาก ALL POINT, My Lotus’s, Makro PRO POINT, True Point รวมถึงพอยต์จากบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็น KrungSri, FirstChoice, POINTX, UOB, BBL, GSB และ KBank ไว้ในกระเป๋าพอยต์ที่เดียว ไม่ต้องกังวลปัญหาพอยต์กระจัดกระจายหรือหมดอายุ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทยในยุคดิจิทัล

เช่น ผู้ใช้สามารถรวมพอยต์มาเป็นอเมซพอยท์ ซื้อสินค้าที่ร้าน 7-Eleven และ Lotus’s พร้อมบริการจัดส่งรวดเร็วภายใน 1-3 ชั่วโมง ส่งตรงจากสาขาใกล้บ้าน และใช้ชอปสินค้าแบรนด์ดังพร้อมรับประกันของแท้ 100% จากอเมซมอลล์ (Amaze Mall) ที่มีให้เลือกมากกว่า 500 ร้านค้า

อเมซ ซูเปอร์แอป ยังพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล ทั้งการยืนยันตัวตนที่รัดกุม และการเชื่อมต่อระบบกับพาร์ตเนอร์ชั้นนำ โดยมีนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานสากลและ พ... คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

แน่นอนว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็น 1 ใน 8 ธุรกิจเสาหลักของเครือซีพีประกอบด้วยธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารธุรกิจค้าปลีกธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ธุรกิจการเงินและการธนาคาร

ที่สำคัญ เป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสการเติบโตของทุกๆ กลุ่ม ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 6.34 แสนล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.94 แสนล้านบาท ในปี 2567 เติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และคาดว่าปี 2568 จะเติบโตถึง 7.5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เคยย้ำกับสื่อว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งเศรษฐกิจ การค้าขาย และการใช้ชีวิตของผู้คน แต่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ หากปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวิถีชีวิตแบบ New Normal ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางหลัก หรือ Mainstream ในการทำธุรกิจและอนาคตของโลกยุค 4.0

ที่ผ่านมา แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ มีประสบการณ์บริหาร “WeMall” ห้างสรรพสินค้าออนไลน์สินค้าแบรนด์เนมระดับพรีเมียม ร้านค้าออนไลน์ Weloveshopping ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าหลากหลาย และ Chilindo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งบริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด เข้าซื้อหุ้น 100% มูลค่ากว่า 558 ล้านบาทจาก Chilindo ฮ่องกงเพื่ออัปเกรดแบรนด์อีคอมเมิร์ซของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยล้วนเป็นแพลตฟอร์มของธุรกิจข้ามชาติทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน หากดูอันดับการแข่งขันด้านดิจิทัลในเวทีโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 เป็นประเทศที่มีการเติบโตด้านดิจิทัลสูงมาก มีการบริโภคข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตสูงมากและการเติบโตด้าน Mobile Consumption สูงถึง 60% สูงกว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ดังนั้น การมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยจะได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งเรื่อง Big Data ที่จะไม่ไหลออกไปต่างประเทศหมด ยังเป็นเรื่องความปลอดภัย หรือ Cyber Security ในประเทศด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง เครือซีพียังมี TrueMoney Wallet กระเป๋าเงินอีกใบที่วันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้บริโภคมากกว่า 30 ล้านคนเพราะสามารถใช้จ่ายแทนเงินสดได้ทุกอย่างแค่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องเดียว

จริงๆ แล้ว แรกเริ่มเดิมที กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น ตั้ง แอสเซนด์ มันนี่ เป็น Business Venture ก่อนแยกออกมาเป็นหนึ่งธุรกิจในแอสเซนด์ กรุ๊ป ภายใต้เครือซีพี เพราะเห็นโอกาสการทำ Digital Payment ในยุคที่ตัวเลือกการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลยังมีน้อยมากและจุดบริการของธนาคารไม่ทั่วถึง โดยพัฒนา Digital Payment Platform ผ่านมือถือ สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายและไม่ต้องสัมผัสเงินสด (Cashless Payment) บนแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet

ปี 2559 เครือซีพีประกาศเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนกับ Ant Financial Services Group บริษัทในกลุ่มอาลีบาบา ประเทศจีน เจ้าของ Alipay แพลตฟอร์มชำระเงินผ่านมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก มียอดผู้ใช้งานกว่า 1.3 พันล้านราย และร้านค้ากว่า 80 ล้านราย  ส่งผลให้แอสเซนด์ มันนี่ เพิ่มพาร์ตเนอร์เข้ามาอยู่ในเครือข่าย ร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์กว่า 2 แสนจุด

ล่าสุด กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่ คือ 1 ใน 3 ผู้ได้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) Virtual Bank โดยอีก 2 ราย ได้แก่ กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ กับกลุ่มธนาคารกรุงไทย ซึ่งร่วมกับเอไอเอสและพีทีที กรุ๊ป (PTT) ผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า จะประกาศชื่อผู้ที่ได้ไลเซนส์อย่างเป็นทางการภายในกลางปี 2568 นี้

การรุกก้าวของซีพี ทั้ง Amaze Super App และ Virtual Bank จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างยิ่ง.