วันจันทร์, มีนาคม 31, 2025
Home > Cover Story > S&P Ice-Cream Corner 52 ปี จากวันมหาวิปโยค

S&P Ice-Cream Corner 52 ปี จากวันมหาวิปโยค

14 ตุลาคม 2516 พี่น้องตระกูลไรวาจับมือกันเปิดร้านเบเกอรี่และไอศกรีมเล็กๆ ในซอยประสานมิตร (สุขุมวิท 23) ใช้ชื่อว่า “S&P Ice-Cream Corner” แต่วันนั้นเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง “วันมหาวิปโยค” รัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรง ทำให้การเปิดร้านวันแรกสุดเงียบเหงา

อย่างไรก็ตาม ภัทรา ศิลาอ่อน หัวเรือใหญ่ของร้านเดินหน้าลุยธุรกิจฝ่าทุกมรสุมจนกิจการเติบโตต่อเนื่อง และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2532 โดยเริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 ใช้ชื่อว่า บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหุ้น SNP และชื่อแบรนด์ทางการตลาด S&P

แน่นอนว่า เอส แอนด์ พี ซินดิเคท กลายเป็นผู้เล่นระดับบิ๊กในตลาด มีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมสำเร็จรูป จัดจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ ส่งออกอาหารแช่แข็งและขนมหวานไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า (OEM)

ปัจจุบันบริษัทมี 3 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วยธุรกิจร้านอาหาร 3 โมเดลหลัก ได้แก่ ร้านอาหารและเบเกอรี่ S&P Restaurant & Bakery ให้บริการเต็มรูปแบบทั้งอาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม กาแฟบลูคัพ และสินค้าพร้อมรับประทาน ให้บริการทั้งรับประทานอาหารที่ร้าน (Eat in) ซื้อกลับบ้าน (Take away) และยังมีบริการจัดส่งถึงบ้าน (Delivery) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายอีกด้วย

ร้านเบเกอรี่ S&P Bakery Mart  ให้บริการเบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ แซนด์วิช ขนมปัง อบสดใหม่ เน้นเปิดในแหล่งชุมชน เช่น ซูเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานีบริการน้ำมัน และสถานีรถไฟฟ้า เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย

ร้าน S&P Delivery และ Take-Away (DELTA) รูปแบบ Convenient Bakery Shop มีครัวรองรับบริการจัดส่งถึงบ้าน (Delivery) และซื้อกลับบ้าน (Take away) มีอาหารพร้อมรับประทาน อาหารจานเดียว เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม โดยเน้นทำเลแหล่งชุมชน ปั๊มน้ำมัน คอมมูนิตี้มอลล์ ไฮเปอร์มาร์เกต และอาคารพาณิชย์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนั้น มีธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ บริการจัดเลี้ยงแบบครบวงจร ทั้งอาหารไทย จีน อาหารนานาชาติ และอาหารว่าง (Snack Box)

กลุ่มที่ 2 ธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิต รูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานและขนมสำเร็จรูปต่างๆ แบรนด์ S&P จัดจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ทั้งไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อ เช่น อาหารแช่แข็ง ‘S&P Quick Meal’ ไส้กรอก ‘S&P Premo’ คุกกี้และกลุ่มขนมขบเคี้ยว ‘S&P Delio’ วุ้นคาราจีแนน ‘S&P Jelio’ และขนมไหว้พระจันทร์ ‘มังกรทอง’

ขณะเดียวกัน มีบริการรับจ้างผลิตตามความต้องการของลูกค้า (OEM) เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียว ไส้กรอก คุกกี้ ขนมไหว้พระจันทร์ อาหารและขนมต่างๆ รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายอาหารแช่แข็ง และขนมหวานแบรนด์ S&P Quick Meal ไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และกัมพูชา

กลุ่มที่ 3 เป็นแบรนด์ร้านอาหารและบริการในเครือ ซึ่งทยอยแตกไลน์ตั้งแต่ปี 2533 เปิดร้านอาหารไทย PATARA ร้านแรกอยู่ใจกลางสุขุมวิท เป็นบ้านไม้สองชั้นยุค 60 ปัจจุบันยังคงเปิดเพียง 1 สาขาในประเทศไทยและขยายในต่างประเทศรวม 6 สาขา อยู่ในประเทศอังกฤษ 5 สาขา และออสเตรีย 1 สาขา

ปี 2544 เปิดร้าน PATIO เน้นอาหารแนว International Modern Cuisine รูปแบบ Bistro/Bakery/Coffee ตั้งอยู่ที่ห้างเอ็มควอเทียร์

ปี 2546 เปิด BLUECUP COFFEE ร้านกาแฟสดคุณภาพและเครื่องดื่ม ลุยตลาดร้านกาแฟระดับพรีเมียม

ปี 2555 ดึง MAISEN ร้านอาหารประเภททงคัตสึหรือหมูชุบแป้งทอดที่ดังที่สุดในโตเกียวที่มีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ปี 2508 ซึ่งได้รับการขนานนามเป็น “ทงคัตสึที่อร่อยนุ่ม จนใช้ตะเกียบตัดได้” เข้ามาประเดิมสาขาแรกในไทยที่ศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็กซ์

ปีต่อมา นำ UMENOHANA ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบไคเซกิดั้งเดิมที่มีซิกเนเจอร์เมนู คือเมนูปูและเมนูเต้าหู้หลากหลายรายการ

ปี 2566 ส่งแบรนด์ Nais Table ร้านอาหารแนว Homecooked recipes เสิร์ฟอาหาร กาแฟ และของหวาน ทั้งช่วง Brunch และ Dinner อยู่ในสุขุมวิทซอย 26 มีเอกลักษณ์สำคัญนำเสนอสูตรอาหารจากคุณเกษสุดา ไรวา ภายใต้แนวคิดอาหารรสมือคุณแม่

ล่าสุด  เปิด MOTOï Bangkok ร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อดังของเชฟ MOTOI Maeda ซึ่งเปิดสาขาแรกในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มานำเสนอให้ลูกค้าคนไทยได้ลิ้มรสการผสมผสานระหว่างอาหารฝรั่งเศสกับความประณีตแบบญี่ปุ่น และร้านอาหารทะเล Grand Seaside ณ ชายทะเลปลายแหลมฟาน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

บริษัทยังเจาะธุรกิจบริการอาหารในโรงพยาบาลและสถานศึกษารูปแบบแคนทีน หรือรับจ้างเหมาทำอาหารและบริการให้กลุ่มสถาบันต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม และสถานศึกษา โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัทพรอพเพอร์ตี้ แคร์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบริษัทโอซีเอส ประเทศอังกฤษ ภายใต้แบรนด์ “ฟู้ดเฮ้าส์ (Foodhouse)”

ปี 2567 บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 6,139 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้จากร้านในประเทศลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิตที่เพิ่มขึ้น 6% และกลุ่มร้านอาหารในต่างประเทศ เติบโต 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนกำไรสุทธิมีมูลค่า 427ล้านบาท ลดลง 12% สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการซื้อกลับบ้านลดลง เพราะทราฟฟิกลูกค้าในห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เกตลดลง รวมถึงปัญหาค่าเช่าเพิ่มขึ้น การลงทุนรีโนเวตสาขาเดิมและการขยายสาขาใหม่

สำหรับปี 2568 บริษัทวางกลยุทธ์เน้นการออกแบบสินค้าให้น่าดึงดูด เพิ่มขนาดบรรจุภัณฑ์ที่กระตุ้นการซื้อง่ายขึ้น ทำโปรโมชั่นชุดเซตต่าง ๆ และเพิ่มจุดขาย Fresh Bake เพื่อเพิ่มความสดใหม่ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ลูกค้ามากขึ้น.

 

Photo Credit: ภาพจากเว็บไซต์ snpfood