วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
Home > Cover Story > เจาะเทรนด์ 6 เจเนอเรชัน โจทย์การตลาดยุค Beta Baby

เจาะเทรนด์ 6 เจเนอเรชัน โจทย์การตลาดยุค Beta Baby

ปี 2025 หรือปี 2568 เริ่มต้นเจเนอเรชันใหม่ “เบตา” (Generation Beta) กลุ่มประชากรที่เติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุด ทั้งเทคโนโลยี วิถีชีวิต การปรับตัวต่อปัญหาระดับโลก ซึ่งเชิงวิชาการหลายสำนักเชื่อว่า คนรุ่นนี้จะเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

เจเนอเรชันเบตาจะประกอบด้วยเด็กที่เกิดระหว่างปี 2568-2582 และภายในปี 2578 จะมีจำนวนประชากรคิดเป็น 16% ของประชากรโลก โดยทารกที่เกิดในปี 2568 มีโอกาสที่มีอายุถึง 76 ปี ในปี 2644 หรือปี ค.ศ. 2101 จะได้ใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 22

เด็กเจนเบตาจะได้สัมผัสกับโลก AI และระบบอัตโนมัติ (Automation) ผสานเข้ากับชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าเรียนในโรงเรียน

รายงาน เจาะเทรนด์โลก โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ TCDC  ในหมวด Generation Focus ระบุว่า Beta มาจากการตั้งชื่อตามลำดับอักษรกรีก หลังจาก 0-alpha มาถึง B-beta หรือจากเจนอัลฟามาถึงเจนเบตา มีความแตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะวิธีโต้ตอบกับเทคโนโลยี เป็นกลุ่ม AI First ให้ความสำคัญกับ AI  เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นเครื่องมือกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตการเรียนรู้ การเล่น และการทำงานและเต็มไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะเกิดมาพร้อมเครื่องมือและแนวทางการจัดการกับความซับซ้อนของโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

คุณลักษณะเฉพาะของเจนนี้จะเข้ามากำหนดมาตรฐานใหม่ในการใช้เทคโนโลยี ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทัศนคติที่ไม่แบ่งแยก การศึกษารูปแบบใหม่ รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีและยืนยาวมากขึ้น โดยจะเป็นกลุ่มที่มี Digital Literacy มากขึ้น ตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการเข้าถึงโลกออนไลน์ เนื่องจากผู้ปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มคนเจน X และ Y เข้าใจความเสี่ยงของ Digital Footprint อย่างดี จึงปกป้องลูกในเจนเบตาอย่างเต็มที่

ก่อนหน้านี้โลกกำหนดเจเนอเรชัน แบ่งกลุ่มประชากรตามหลักประชากรศาสตร์ (Demography) ตามช่วงปีเกิด 5 Gen คือ Gen B, Gen X, Gen Y, Gen Z และ Gen Alpha ซึ่งแต่ละรุ่นมีข้อดีและลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน เริ่มจากGen B (Baby Boom Generation) กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489-2507 (ปี ค.ศ. 1946-1964) เกิดมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง

ที่เรียกว่าเจนบี เพราะระหว่างสงครามบรรดาผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อสงครามสงบลงจึงกลับมาแต่งงานแล้วรีบมีลูกกันขนานใหญ่ ชนิด Baby Boom พ่อแม่ของคนเจนนี้ประสบความลำบากยากแค้นมาตลอดชีวิต จากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2472 และเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

คนเจนบีเติบโตขึ้นมาด้วยการรับรู้ความยากลำบากของพ่อแม่ จึงเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา เน้นผลงาน แม้ต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ ทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ทุ่มเทกับการทำงานและองค์กรมาก ให้ความสำคัญกับครอบครัวรองลงมาจากงาน

ข้อดี Gen B เป็นยุคสิ้นสุดสงคราม คนเจนนี้มีชีวิตเพื่อการทำงาน สุขุม รอบคอบ ประหยัดอดออม สู้งาน เคารพกฎเกณฑ์ อดทนสูง มีประสบการณ์สูง มีความสามารถด้านการเข้าสังคม จงรักภักดีต่อนายจ้าง ให้ความสำคัญกับผลงาน ยินดีทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่เปลี่ยนงานบ่อย เคร่งครัดในจารีตประเพณี

เจนต่อมา Gen X กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 (ค.ศ.1965-1979) เป็นลูกหลานของพวกเจนบี ซึ่งช่วง พ.ศ. 2508-2522 เป็นช่วงสันติภาพ ความมั่งคั่งขยายไปทั่วโลก และยุคแนวความคิดคุมกำเนิด จำนวนการเกิดของเด็กช่วงนี้จึงลดลงมากและเห็นการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ ซึ่งเด็กพวกนี้ไม่เห็นด้วยและมีลักษณะพฤติกรรมชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work-life Balance)

ข้อดีเป็นรุ่นที่มีความเข้มแข็งและปรับตัวได้ง่าย มีความคิดเป็นระบบ และมีความรับผิดชอบสูงในการทำงาน มีประสบการณ์และความรู้ในองค์กรมากกว่ารุ่นอื่น เหมาะที่จะเป็นผู้นำและสามารถให้คำปรึกษาแก่รุ่นอื่นได้

เจนที่ 3 Gen Y หรือ Millennials เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2540 (ค.ศ.1980-1997) เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที เป็นลูกของกลุ่มเจนเอ็กซ์ เป็นวัยเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ไม่ชอบเงื่อนไข ต้องการความชัดเจนในการทำงานระหว่างสิ่งที่มีผลต่อตัวเองกับหน่วยงาน มีความสามารถในการทำงานด้านการติดต่อสื่อสาร สามารถทำงานหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน

ข้อดีเป็นรุ่นที่เก่งด้านเทคโนโลยีและการใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นทีมงานที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี มักมีความสามารถในการทำงานแบบแฟลกซิเบิล ต้องการการตอบรับและการพัฒนา

Gen Z คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541-2565 (ค.ศ.1998-2024) เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ และเรียนรู้ได้เร็ว เพราะพ่อแม่ Gen Y ใช้สิ่งเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน

สิ่งหนึ่งที่เด็กรุ่น Gen Z แตกต่างจากรุ่นอื่น คือ เด็กรุ่นนี้เห็นภาพพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานทั้งคู่ ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่อาจมีพ่อทำงานคนเดียว หลายคนจึงได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่  เป็นรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง มุมมองที่หลากหลายและเรียนรู้ได้รวดเร็ว

เจนที่ 5 Gen Alpha หรือ Gen A เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2566  ช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เกิดในสภาพแวดล้อมใหม่ การติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

TCDC ระบุว่า ปี 2567 ประชากรกลุ่มอัลฟามีจำนวน 2.2 พันล้านคน เป็นเจนที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์และภายในปี ค.ศ. 2030 เจนอัลฟารุ่นแรกจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือมีอายุ 20 ปี ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดย 65% จะทำงานในตำแหน่งที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีเพียง 50% ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพราะหันไปทำงานสายอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงในสายงาน ซึ่งไม่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี

อาชีพที่คนวัยนี้ชื่นชอบอยู่ในกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะโตมากับสื่อดิจิทัลและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมากมาย อาชีพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเจนอัลฟา คือ ติ๊กต็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์

แต่อีกมุมหนึ่ง เจนอัลฟายังถูกนิยามว่า เป็นเจเนอเรชันแห่งการถดถอย (The Regression Generation) จากอัตราการอ่านออกเขียนได้ที่ลดลง โดยในปี ค.ศ. 2023 มีเพียง 28% ของเด็กอายุ 8-18 ปีเท่านั้น ที่อ่านหนังสือทุกวัน แบรนด์และครอบครัวจึงจำเป็นที่ต้องร่วมสร้างแหล่งข้อมูลการอ่านเพื่อช่วยลดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่เจนอัลฟามีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ยุคเจนล่าสุด “เบตา” จะเป็นเจนแรกที่มีจำนวนน้อยสุดในโลก โดยคาดการณ์อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีแค่ 16% ของประชากรโลก เพราะหลายประเทศบนโลกกำลังเผชิญปัญหาคนเกิดไม่ทันคนตาย คนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกจะอยู่แบบไม่มีลูกทำให้อัตราการเกิดของประชากรต่ำลงในเกือบทุกประเทศบนโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทวิจัยการตลาด “อิปซอสส์” เปิดเผยรายงาน Ipsos Global Trends 2024 ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 50,000 คนใน 50 ประเทศ โดยเป็นคนไทย อายุ 20-74 ปี จำนวน 1,000 คน ระบุว่า จากกลุ่มคนเจนต่างๆ วิวัฒนาการของผู้บริโภคไทยมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ สนใจความสุขของตัวเองมากขึ้นและ 72% ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทยเลือกใช้ชีวิตแบบ “ให้มีความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน” สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 66%

คนไทยยังเน้นภาพลักษณ์ของตัวเองทั้งบนโลกความจริงและออนไลน์ โดย 65% ชอบซื้อสินค้าหรือประสบการณ์ที่จะทำให้ดูดีในรูปที่โพสต์ออนไลน์ และยินดีจ่ายเงินเพื่อให้ตัวอวทาร์ (avatar) ในโลกเสมือนมีภาพลักษณ์ที่ดี

ที่สำคัญ ช่วงรอยต่อเข้าสู่ยุค AI เต็มรูปแบบ Security หรือความปลอดภัยของข้อมูลยังเป็นความกังวลใหญ่  โดย 81% ของคนไทยยังคงมีความกังวลการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวที่บริษัทต่างๆ เก็บรวบรวมจากโลกออนไลน์ พบว่า กลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ กังวลสูงสุด ในอัตรา 87% ตามด้วย Gen X อยู่ที่ 84%  Millennials 77% และ Gen Z 81%

แน่นอนว่า ทั้งหมดเป็นโจทย์ของนักการตลาดที่จะต้องเข้าถึงกลุ่มคนทุกเจน ไม่เว้นแม้กระทั่ง “Beta Baby” ลูกหลานของคนเจน X และ Y ด้วย.