การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เป็นโมเดลสำคัญของ “Thailand 4.0” มีจุดประสงค์ที่จะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งไทยตกอยู่ในภาวะนี้เป็นเวลานาน หลายประเทศมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมเป็นองค์ความรู้สำคัญ เมื่อเห็นว่านี่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาส่วนใหญ่ล้วนแต่ประสบความสำเร็จกับแนวทางนี้
ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มใช้นโยบายนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เห็นได้ชัดว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะผลักดันนโยบายนี้ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านคณะรัฐบาลไปแล้วก็ตาม
เช่นเดียวกับ นาโนเทค อีกหนึ่งหน่วยงานที่ยังคงยึดแบบแผนนี้และดำเนินงานด้วยกลยุทธ์นี้อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้นักวิจัยคนสำคัญอย่าง ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ที่เพิ่งมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ตั้งแต่กลางปี 2567 ทว่า นับตั้งแต่ปี 2568-2571 น่าจะเป็นช่วงพิสูจน์ฝีมือของ ดร.อุรชา ว่าจะนำพาองค์กรที่มีงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฟันเฟืองสำคัญก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร
“21 ปีที่ผ่าน นาโนเทคมีการเติบโตอย่างมั่นคง มีกำลังคนที่ทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ รวมถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง และเรามีคนในสายงานที่จะเป็นกำลังเสริมในด้านต่างๆ ผลงานของนาโนเทคที่ผ่านมาเราส่งต่อไปยังผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เสื้อนาโน มุ้งนาโน เครื่องผลิตน้ำพลังแสงอาทิตย์ ไข่ออกแบบได้ นี่เป็นนวัตกรรมยุคแรกของนาโนเทค ที่มีการต่อยอดให้กับภาคเอกชน รวมถึงเชิงสาธารณประโยชน์โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน
จนถึงปัจจุบันเรายังคงมุ่งมั่นทำงานไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เราจะรุกให้มากขึ้นตามแนวคิด Innovate, Collaborate and Grow ที่จะให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัย คือ นวัตกรรม, ความร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา นาโนเทคทำงานวิจัยมามากมาย เรามีนวัตกรรมที่เป็นของดี และอยากให้คนได้เห็นได้ใช้
ปีนี้ นาโนเทคจะเริ่มดำเนินการผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า 4Strategic Focus (SF) หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยในปีแรกที่เราจะนำร่อง 4 เรื่อง ได้แก่ 1. สารสกัดสมุนไพร 2. ชุดตรวจสุขภาวะ 3. เกษตรและอาหาร และ 4. น้ำและสิ่งแวดล้อม” ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ อธิบาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์ดังกล่าว โดยเฉพาะนวัตกรรมนำร่องจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างไร รวมถึงการผลักดันไปสู่การเป็นธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร ดร.อุรชา อธิบายเสริมว่า SF สารสกัดสมุนไพร เราจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้านสุขภาพและความงาม โดยในปี 2568 เราจะพลิกโฉมนวัตกรรมสารสกัดกระชายดำ สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 3 บริษัท ส่งมอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทยสู่ผู้ผลิตเครื่องสำอาง เวชสำอาง สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางสู่สากล
SF ชุดตรวจสุขภาวะ นาโนเทคมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมชุดตรวจเร็ว ให้พร้อมขยายผล โดยจะนำร่องด้วย “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” ที่อยู่ระหว่างผลักดันเข้าสู่ระบบร้านยาของรัฐ โดย สปสช. และสภาเภสัชกรรม ส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการคัดกรองสุขภาพของคนไทยอย่างเท่าเทียม ปูทางสู่ชุดตรวจทางการแพทย์อื่นๆ ต่อไป
SF เกษตรและอาหาร ใช้นาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น “ไข่สุขภาพหรือไข่โอเมก้า-3” เป็นนวัตกรรมยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้านการเกษตร นาโนเทคให้ความสำคัญกับเกษตรกรต้นน้ำในการเพาะปลูกมีการพัฒนาสารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
SF น้ำและสิ่งแวดล้อม ต่อยอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีกับสหสาขาวิชา ในปี 2568 นี้ น้ำสะอาดเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนาโนเทค ทางนาโนเทคมีทีมวิจัยพัฒนาระบบกรองน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับชุมชนโดยขยายผลงานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการคุณภาพน้ำดังกล่าวสู่ผู้ใช้ประโยชน์หลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น ลำปาง ขอนแก่น อุดรธานี และได้นำระบบกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยีไปบรรเทาความลำบากของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย
ยังมีเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก
ผอ.ศูนย์นาโนเทคโนโลยี ได้ประกาศเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว ที่จะผลักดันให้เกิดการใช้นวัตกรรมรวมถึงงานวิจัยในภาคเอกชน ชุมชน
“ในระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ นาโนเทคจะมุ่งเน้นกระบวนการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชนด้วยแนวคิด Innovation Solution ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมนาโนเทคให้มากที่สุด สิ่งที่จะได้เห็นในปีนี้คือ การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กระชายดำและบัวบก ต่อมาคือ การจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัป 2 บริษัท ในด้านสมุนไพรและการแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ สุดท้ายปลายทางคือ เราคาดหวังที่จะเพิ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หน่วยงานหรือชุมชนที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ โดยเราตั้งเป้าว่า จะเพิ่ม 5% จากผู้ที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ในปี 2567 จำนวน 2,580 ราย 67 หน่วยงาน/บริษัท
ส่วนแผนระยะยาวคือ 4 ปีจากนี้ ผลงานด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม จะต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์มากกว่า 50 บริษัท/หน่วยงาน และชุมชน สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาท นี่จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งจะล้อไปกับนโยบายของภาครัฐในระยะกลาง ระยะยาว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ บริการทางการแพทย์ และการพัฒนาโครงสร้างเพื่อขยายโอกาสโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม”
ความสำคัญของนาโนเทคโนโลยีถูกใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องสำอาง ซึ่งแบรนด์เครื่องสำอางมีการใช้อานุภาคนาโนเทคโนโลยีในเครื่องสำอางมาตั้งแต่ปี 1980 เช่น แบรนด์ลอรีอัล, คลาแรงส์ และนาโนเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเครื่องสำอางเติบโตอย่างต่อเนื่องคิดเป็นสัดส่วน 5-7% จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงิน 500-600 ล้านบาท
แม้ว่าไทยจะมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม งานวิจัย ทว่า ผลงานวิจัยในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลุ่มสุขภาพและความงาม ดร.อุรชา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ประเทศไทยมีนักวิจัยและมูลค่าของการลงทุนทางด้านวิจัยยังน้อยอยู่ มีงบในการส่งเสริมด้านงานวิจัยแค่ 0.1% ของ GDP ของประเทศซึ่งถือว่าน้อยมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา มีงบถึง 2% ของ GDP ประเทศเหล่านี้ลงทุนในงานวิจัยเยอะมาก เราจึงต้องผลักดันให้มากขึ้น นี่ถือเป็นที่มา ที่ทำให้นาโนเทค ปวารณาตัวเองว่า เราจะไม่อยู่นิ่งๆ เงียบๆ แต่ในบ้าน แต่จะทำอย่างไรให้เราเปิดตัวออกมา ให้เอกชน ภาคอุตสาหกรรมหรือชุมชนเห็นเรา แล้ว walk in มาคุยกับเราหรือเราออกไปคุยกับเขา เพื่อให้เราเอางานวิจัยมาใช้ประโยชน์
“งานวิจัยของเราจะก้าวหน้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะผลักดันให้เราทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับต่างประเทศเมื่อไหร่ ที่ผ่านมานาโนเทคไม่ได้ทำงานวิจัยอยู่ที่เดียว แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ร่วมทำงานวิจัยด้วย เช่น แม่ฟ้าหลวง ธรรมศาสตร์ นเรศวร”
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 2.64 แสนล้านบาท และปี 2567 ถูกคาดการณ์ว่าตลาดนี้จะเติบโตจนมีมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยว่า เซกเมนต์ที่มีการเติบโตมากที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ สัดส่วน 44% แฮร์แคร์ 16.7% บอดี้แคร์ 13.7% ออรัลแคร์ 12.3% เครื่องสำอาง 9.3% สินค้าสำหรับผู้ชาย 7.5% และน้ำหอม 4.3%
แต่ผลิตภัณฑ์ในตลาดส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศและครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าแบรนด์จากไทย ดร.อุรชา มองว่า ผู้ประกอบการไทยในตลาดนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้ไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะงานวิจัยและนวัตกรรมจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษา ผู้ประกอบการหลายรายจึงใช้วิธีการซื้อมาจากต่างประเทศแล้วเอามาผสม ซึ่งนี่จะทำให้การแข่งขันในเชิง marketing เป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันผู้ใช้มีความรู้ ต้องการข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีงานวิจัยอะไรรับรอง ถ้าผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับนวัตกรรม นี่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักและแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศได้
“ไม่ใช่เฉพาะบริษัทหรือโรงงานใหญ่ๆ ที่เราเข้าไปช่วย บริษัทเล็กๆ เราก็เข้าไปช่วยเยอะมาก ที่ผ่านมาบริษัทเล็กๆ เราเข้าไปทำงานกับบริษัทเหล่านี้หลายแบบ บางครั้งเขามีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แต่อยากให้เราวิเคราะห์ทดสอบให้ อย่างที่บอกเรามีเครื่องมือที่จะสามารถช่วยวิเคราะห์ได้ เช่น เรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร มีสารสำคัญเยอะเปล่า เป็นต้น หรือบางคนยังไม่มีผลิตภัณฑ์อยากจะซื้อIPจากเรา เราก็รับคุย เราก็ยินดีเอาทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิบัตรทางปัญญา ที่มีให้ดูแล้วก็เลือกได้ เหมือนว่าชอปปิ้งได้ อันนี้คือวิธีการแก้ปัญหาของเรา ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการใช้งานวิจัยของเรา แทนที่จะซื้อจากต่างประเทศ”
นี่เป็นแนวทางที่จะนำงานวิจัยลงจากหิ้ง เมื่อนาโนเทคโนโลยี เตรียมตั้งทีม Marketing Communication เพื่อสื่อสารระหว่างนาโนเทคกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ รองรับการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันผลงานวิจัยจะยังไม่เพียงพอต่อการตอบสนองการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ ดร.อุรชา มองว่า “แม้ผลงานวิจัยยังมีน้อย แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันนักวิจัยไทยตื่นตัวมากขึ้น แหล่งทุนปัจจุบันมีหลายแห่งที่จะช่วยให้ภาคเอกชน เช่น รัฐออกให้ 70% เอกชน 30% ผลงานเอกชนสามารถนำไปใช้ได้ ให้ลิขสิทธิ์กับเอกชน จดสิทธิบัตรได้ ยังมีอีกหลายวิธี อยากให้ผู้ประกอบการเข้ามาคุยกับเรา ซึ่งเราตั้งเป้าให้ประเทศไทยเติบโตด้วยธุรกิจนวัตกรรม”
คงต้องดูกันว่า เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ดีมากน้อยเพียงใด เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะดึงงานวิจัยลงจากหิ้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน.